พื้นที่นอกเขตชลประทาน 11 จังหวัด 1.5 แสนไร่ เสี่ยงขาดน้ำ เตือนเกษตรกรงดปลูกพืช

สทนช. ชี้พื้นที่นอกเขตชลประทาน 11 จังหวัด 1.5 แสนไร่ เสี่ยงขาดน้ำ เตือนเกษตรกรงดปลูกพืช

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า สถานภาพอากาศ พบปรากฏการณ์เอลนิโญ กำลังอ่อน จะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงเดือน เม.ย. 62 และเข้าสู่สภาวะเป็นกลาง ซึ่งประเมินสภาพอากาศใกล้เคียงปี 2550 ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศและฝน เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อน โดยชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูแล้ง

พร้อมจัดทำข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ แบ่งเป็น การอุปโภค บริโภค ในเขตพื้นที่ให้บริการของการประปา โดยในส่วนการประปานครหลวงมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอด ปี’62 ขณะที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ต้องหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มเพื่อสำรองในฤดูแล้ง เพื่อเตรียมมาตรการรองรับ โดยอาจจะมีการขุดน้ำ การต่อท่อลำเลียงน้ำ เป็นต้น

ส่วนภาคการเกษตร พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร นอกเขตชลประทาน จำนวน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ได้แก่
ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีสะเกษ
ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี
ซึ่งจากติดตามสถานการณ์ พบว่า เกษตรกรได้เข้าร่วมมาตรการเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น จำนวน 61,942 ไร่ ซึ่งสถานการณ์น้ำมีเพียงพอสำหรับการปลูกพืชตามมาตรการ

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ล่าสุดพบว่า การเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ทั้งประเทศ รวมพื้นที่ 10.46 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 มากกว่าพื้นที่แผน จำนวน 34 จังหวัด รวมพื้นที่ 1.21 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.09 ล้านไร่ และนอกเขต 0.12 ล้านไร่

ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีแผนการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 รวมพื้นที่ 7.18 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 5.30 ล้านไร่ และนอกเขต 1.88 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 รวมพื้นที่ 7.37 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 5.85 ล้านไร่ และนอกเขต 1.52 ล้านไร่

ปัจจุบัน มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 มากกว่าแผน รวมพื้นที่ 0.55 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ปลูกเกิน 1.21 ล้านไร่ดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้วางมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า และคาดว่า จะสามารถจัดสรรน้ำให้ผลผลิตไม่ได้รับผลกระทบได้ อย่างไรก็ตาม สทนช. จะประสานขอความร่วมมือไปยังจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ใช้กลไกกำกับ ควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเกษตรให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และเร่งทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำต่อเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

สทนช. ได้บูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2561/62 อาทิ แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่องโดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ในเขตชลประทานและลำน้ำสายหลักตลอดจนพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบและเตรียมการป้องกัน

อีกทั้งมีการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ พื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ตลอดจนสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ตามคำร้องขอและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562 รวมถึงมาตรการเผชิญเหตุ ให้หน่วยงานพิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอันดับแรก และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบรรเทาความรุนแรง

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์