ภัยแล้งวิกฤต 13 เขื่อน ขนาดกลาง ไม่มีน้ำใช้แล้ว ภาคอีสานหนักสุด

ภัยแล้งวิกฤต 13 เขื่อน ขนาดกลาง ไม่มีน้ำใช้แล้ว ภาคอีสานหนักสุด – สทนช. คุยประปาหาน้ำสำรองกินใช้

ภัยแล้งวิกฤต 13 เขื่อน ไม่มีน้ำ – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) พบว่า ขณะนี้มีสาขาที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 และการแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวัง จำนวน 9 สาขา ได้แก่ 1. สุวรรณภูมิ (เกษตรวิสัย) จ.ร้อยเอ็ด 2. พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม 3. แม่ขะจาน (วังเหนือ) จ.เชียงราย 4. ฝาง (แม่อาย) จ.เชียงใหม่ 5. หนองบัวลำภู (นากลาง, ศรีบุญเรือง) จ.หนองบัวลำภู 6. พิมาย (เมืองคง) จ.นครราชสีมา 7. บุรีรัมย์ 8. เกาะพะงัน กำลังประเมินอาจต้องใช้น้ำสำรองและทำน้ำจืด และ 9. ลาดยาว จ.นครสวรรค์

ปัจจุบัน สาขาต่างๆ ยังสามารถส่งน้ำได้ตามปกติ ยกเว้นสาขาสุวรรณภูมิ (จ.ร้อยเอ็ด) เริ่มมีการขาดแคลนน้ำแล้ว แต่ได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยการสูบทยอยน้ำจากลำห้วยเตาที่อยู่ใกล้เคียงมายังจุดสูบน้ำดิบลำน้ำเสียวใหญ่ ซึ่งมีระดับน้ำ 0.8 เมตร และจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา (ช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 05.00-10.00 น. และช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น)

สำหรับเขื่อนที่วิกฤตมีน้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวนมาก แต่ในเขื่อนขนาดกลาง มี 13 เขื่อน ที่ไม่เหลือน้ำใช้แล้ว โดยเฉพาะในภาคอีสาน ได้แก่ 1. อ่างเก็บน้ำห้วยทรายสว่าง จ.สกลนคร มีความจุ 1.1 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำ 0.1 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7.1% ของความจุอ่าง 2. อ่างเก็บน้ำห้วยหินแตก จ.สกลนคร มีความจุ 1.5 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในอ่าง 0.2 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10.0% ของความจุอ่าง 3. อ่างเก็บน้ำห้วยนาบ่อ จ.สกลนคร ความจุอ่าง 2.2 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ไม่มีน้ำเหลือในอ่างแล้ว

4. อ่างเก็บน้ำน้ำซับคำโรงสี จ.สกลนคร มีความจุอ่าง 2.0 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำเหลือ 0.5 ล้าน ลบ.ม. หรือ 24.3% 5. อ่างเก็บน้ำหนองสำโรง จ.อุดรธานี มีความจุอ่าง 4.3 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำ 0.3 ล้าน ลบ.ม. หรือ 6.1% 6. อ่างเก็บน้ำห้วยจานใต้ จ.ร้อยเอ็ด มีความจุอ่าง 5.8 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในอ่าง 0.2 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3.1% ของความจุอ่าง 7. อ่างเก็บน้ำหนองผือ จ.ร้อยเอ็ด มีความจุอ่าง 4.2 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในอ่าง 0.8 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19.1% ของความจุอ่าง 8. อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย จ.บุรีรัมย์ มีความจุ 13.6 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในอ่าง 0.7 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5.5% ของความจุ

9. อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จ.บุรีรัมย์ ความจุอ่าง 26.0 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในเขื่อน 1.3 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5.0% ของความจุอ่าง 10. อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ จ.บุรีรัมย์ มีความจุอ่าง 1.3 ล้าน ลบ.ม. เหลือน้ำในอ่าง 0.1 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7.6% ของความจุอ่าง 11. อ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ จ.นครราชสีมา ความจุอ่าง 9.5 ล้านลบ.ม. เหลือน้ำ 0.1 ล้านลบ.ม. หรือ 1.1% ของความจุ, และเขื่อนในภาคตะวันออก มีอีก 1 เขื่อนที่ไม่มีน้ำใช้แล้วคือ 13. อ่างเก็บน้ำคลองบอน จ. จันทบุรี ความจุ 2.5 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้เหลือน้ำเพียง 1.2% ของความจุอ่าง

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างทั้งหมดทั่วประเทศมีจำนวน 412 อ่าง มีจำนวน 89 อ่าง ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมการรับมือวิกฤตภัยแล้งและความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูกรณีมีการปรับแผนการจัดสรรน้ำ ขอให้แจ้ง สทนช. ล่วงหน้า พร้อมประเมินปริมาณน้ำต้นทุนช่วงต้นฤดูฝน ปี 2562 ใหม่ ให้สอดคล้องกับการปรับแผน

โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบและเตรียมมาตรการรองรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามที่ สทนช. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ชี้เป้าพร้อมทั้งได้จัดทำข้อมูลแหล่งน้ำต้นทุนที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนรับมือและแก้ไขปัญหา

สำหรับผลการเจาะบ่อบาดาลเพื่อช่วยเหลือภัยแล้ง ปี 2562 มีเป้าหมาย 1,894 บ่อ ดำเนินการเจาะแล้ว 530 บ่อ หรือ 28% ของแผน โดยตามแผนเจาะบ่อบาดาล แบ่งเป็นเจาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 737 บ่อ เจาะแล้ว 226 บ่อ หรือ 31%ของเป้าหมาย แผนเจาะบ่อบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค 338 บ่อ เจาะบ่อแล้ว 124 บ่อ หรือ 36% และแผนด้านการเกษตร จำนวน 399 บ่อ เจาะแล้วเสร็จ 102 บ่อ หรือเจาะแล้วเสร็จ 25%

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์