ตราด เปิดตัวชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 5 เส้นทาง : เสน่ห์ภูมิปัญญา อาหารพื้นถิ่น

“เส้นทาง สุดทางบูรพา” เป็น 1 ใน 5 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนบนฝั่ง ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตราด ดำเนินการภายใต้แนวคิดนโยบายภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดตราด เป็นการสร้างและการกระจายรายได้สู่พื้นที่ท่องเที่ยวบนฝั่งจังหวัดตราด จากความนิยมของนักท่องเที่ยวที่มุ่งสู่เกาะต่างๆ 

คุณไพโรจน์ โสภาพร พัฒนาการจังหวัดตราด กล่าวว่า หลังการเตรียมพร้อมทั้ง 5 เส้นทางแล้ว ถึงขั้นตอนกิจกรรมทดสอบเส้นทาง (Press Tour) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเตรียมประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน เพี่อเพิ่มและกระจายรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมกับคณะเดินทางสำรวจ ทดสอบ เส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดตราด : เส้นทางที่ 5 “สุดทางบูรพา” เมื่อกลางเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา

คุณพีระวัฒน์ วังรัตน์กุล

ส่วนใหญ่หมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีจะมีความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยว เพราะจังหวัดตราดเป็น 1 ใน 10 เมืองรอง ได้รับการพัฒนาส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวจากหน่วยงานต่างๆ มาบ้างแล้ว และที่สำคัญชุมชนมีศักยภาพทางธรรมชาติ มีความเข้มแข็ง มีอัตลักษณ์ของตัวเองที่เป็นเสน่ห์น่าสนใจ การเข้ามาพัฒนาของสำนักงานพัฒนาชุมชนจึงเสมือนเป็นการต่อยอด ทำให้หมู่บ้านมีความโดดเด่นและมีความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างเช่น เส้นทาง “สุดทางบูรพา” ที่จะนำเสนอต่อไปนี้

คณะเดินทางนำทริปโดย คุณไพโรจน์ ผู้ร่วมเดินทาง คุณประเสริฐ ลือชาธนานน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด คุณณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง บริษัท ประชารัฐสามัคคีตราด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) รวมทั้งสื่อมวลชน ทริปสุดทางบูรพานี้เป็นเส้นทางเชื่อม 2 อำเภอ คือ เขาสมิง และแหลมงอบ เริ่มต้นกันที่ใจกลางเมืองตราด สัมผัสวิถีชุมชนรักษ์คลองบางพระ ชุมชนย่านตลาดเก่าแห่งแรกของจังหวัดตราด ชมอดีตและเช็กอินผ่านภาพวาดตามถนนสายศิลปะ (Street Art)

ปัจจุบัน บ้านเรือนได้ปรับเปลี่ยนเป็นเกสต์เฮาส์รองรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ต้องการบรรยากาศเงียบสงบ และห่างไปเพียง 2 กิโลเมตร ได้ชมพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานอันสวยงามและล้ำค่าที่มีอายุเกือบ 300 ปี ของ “วัดบุปผาราม” ชื่อเดิมเรียกว่า วัดปลายคลอง จากนั้นมุ่งสู่อำเภอเขาสมิง อำเภอแหลมงอบ ที่มีความโดดเด่นแตกต่างกัน

อำเภอเขาสมิง…สัมผัส “เขาโต๊ะโม๊ะ”

เนินเขาแท่งหินมหัศจรรย์

มุ่งหน้าลัดเลาะไปถนนสายหลักสายรอง หมุดหมายคือ ชมความอลังการของแท่งหินที่แปลกตา ที่ “วัดเมืองเก่าแสนตุ่ม” หรือ “เขาโต๊ะโม๊ะ” ที่บ้านอีเร็ม หมู่ที่ 7 ตำบลประณีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด คุณพีระวัฒน์ วังรัตน์กุล นายอำเภอและคณะจัดเต็มมารอรับและจัดผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่นำชมบอกเล่าเรื่องราว ที่มาของวัดเขาโต๊ะโม๊ะว่า ชื่อเขาโต๊ะโม๊ะ ตามตำนานภาษาชอง แปลว่า ภูเขา เนินสูง เชื่อว่าเป็นที่ฝังสมบัติล้ำค่าและเอาแท่งหินมาเรียงไว้เป็นแนวตั้งเป็นสัญลักษณ์

ต่อมา ปี 2519 กรมศิลปากร มาสำรวจบอกว่า เป็นซากโบราณสถานเก่าแก่ไม่ทราบว่าสมัยใด ซึ่งสอดคล้องกับการพบหลักฐาน เครื่องมือ เครื่องใช้ประเภทหิน ท่อนไม้กลายเป็นหิน พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ลูกปัด หินสี ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เครื่องบดยา ไม้แกะสลัก แสดงว่าพื้นที่นี้มนุษย์เคยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน ต่อมา ปี 2532 คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มาสำรวจสันนิษฐานว่า เกิดจากเปลือกโลกเย็นตัวเร็ว หินบะซอลต์ที่เย็นตัวได้ดันตัวส่งผลให้เกิดรอยแตกหินในแนวตั้งเป็นลักษณะเป็นแท่งเหลี่ยม ปัจจุบันยังคงมองเห็นแท่งหินตั้งแต่สี่เหลี่ยมไปถึง 9 เหลี่ยม วางในแนวตั้งสูงเป็นเนินเขา และบริเวณเนินโดยรอบยังมีแท่งหินกระจัดจายอยู่ทั่วไป

คุณไพโรจน์ โสภาพร

จากนั้นแวะเช็กอินต่อที่ ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ หมู่ที่ 6 บ้านมุมสงบ ตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง ที่นี่เก็บภาพเท่ๆ ไว้แล้ว พลาดไม่ได้กับช็อปตลาดผลผลิตจากเกษตรกรในชุมชนขายตรงกับนักท่องเที่ยว ผักผลไม้สดๆ ปลอดสารพิษ บางอย่างเป็นของใหม่ เช่น มะนาวคาร์เวียร์ และผลไม้แปรรูปทุเรียน มังคุด กล้วย ส่งตลาดต่างประเทศจากโรงงานวิสาหกิจชุมชนทวีทรัพย์ (บ้านมุมสงบ) ดูพัฒนาการของชุมชนที่สรรหาของพื้นบ้านอร่อยๆ และของใหม่แปลกๆ มาขายที่ตลาดประชารัฐทางผ่านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่ย้ำว่าต้องแจ้งมาล่วงหน้า เพราะชุมชนมีอาชีพหลักทำสวน

เสน่ห์ของตลาดนี้คือ ของดี ราคาถูก ผักสด คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา ถุงละ 10 บาท มะพร้าวอ่อนน้ำหวานหอม ลูกละ 20 บาท เห็ดฟาง กิโลกรัมละ 100 บาท ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น สเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง น้ำมันมะพร้าว น้ำสมุนไพร น้ำลูกสำรอง และผลไม้ ทุเรียน มังคุด กล้วยแปรรูปและไอศกรีมทุเรียน 100% รสชาติเป็นที่ติดใจ จำหน่ายโดยตรงถึงผู้บริโภคในราคาจับต้องได้ แถมด้วยอัธยาศัยไมตรีรอยยิ้มพ่อค้าแม่ค้าเป็นที่ประทับใจ

บ้านสลัก…แหล่งอาหารทะเล ขนมพื้นบ้านแสนอนร่อย

อิ่มอกอิ่มใจกันแล้วพาไปอิ่มท้อง คณะเดินทางต่อไป บ้านสลัก หมู่ที่ 3 ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของประวัติศาสตร์ แหล่งอาหารทะเล และขนมพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์ รสชาติอร่อยรอท้าทายนักท่องเที่ยวขาลุย เริ่มต้นการต้อนรับน่ารักๆ จากขบวนกลองยาวของเด็กๆ พร้อมเลือกซื้อสินค้าของดี ของอร่อยประจำชุมชนที่คัดเลือกมาวางขายในตลาดประชารัฐหมู่บ้านสลัก เช่น กุ้งแห้ง ขนมจีนน้ำยา ขนมมัดใต้ และน้ำผึ้งป่าแท้ 100% ที่ขายราคาขวดละ 300 บาท จากนั้นเดินทางไปวัดสลักสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชา คือ “ศาลพระเจ้าตากสิน” บริเวณวัดมีโบสถ์สวยงาม ภายในมีพระพุทธรูปศิลปะเก่าแก่ รอยพระพุทธบาท

คุณสาคร ซื่อเสมอ ประธานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านสลัก เล่าว่า บริเวณที่สร้างวัดสลักเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าตากมารวบรวมไพร่พลที่จังหวัดตราดเมื่อเดินทัพพาไพร่พลกลับไปตีกรุงศรีอยุธยาคืนทางเรือ ได้เข้ามาหลบมรสุมที่บริเวณคลองสลักและโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้น 3 องค์ เพื่อนำอัฐิทหารมาฝังไว้ ต่อมาชาวบ้านเห็นว่าบริเวณนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินเคยเสด็จมาพัก มีโบสถ์เก่าที่มีอายุกว่า 100 ปี ปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ จึงสร้างวัดสลักและสร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ เมื่อประมาณ 200 กว่าปี

จุดเช็กอิน

องค์เจดีย์ 3 องค์ ยังคงอยู่ ส่วนวิหารศาลพระเจ้าตากสร้างเสร็จ ปี 2557-2558 จากนั้นเดินข้ามเขื่อนที่กั้นน้ำเค็ม-น้ำจืด ที่ทำแลนด์มาร์กไว้อย่างสวยงาม ให้เป็นจุดเช็กอินของนักท่องเที่ยว ลงแพรับประทานอาหารกลางวัน ใช้เรือลากจูงชมทัศนียภาพแม่น้ำเวฬุ เส้นแบ่งเขตแดนจันทบุรี-ตราด มองเห็นชาวบ้านทำแพเลี้ยงหอยตะโกรม และหอยนางรมอยู่ลิบๆ

ไฮไลต์อาหารและขนมพื้นถิ่นที่บ้านสลัก คุณสาคร ซื่อเสมอ ประธานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี พาคณะมาจัดเต็ม เช่น แกงปลาอุก แกงเลียงหัวปลี ปลากระบอกไข่ทอด ปูม้าต้ม จิ้มน้ำพริกเกลือสูตรบ้านๆ น้ำพริกตาเถรกับผักสด สุดๆ ของความอร่อยกับหอยนางรมและหอยตะโกรมราดน้ำพริกเกลือ คุณสาคร นำหอยตะโกรมแกะสดๆ ราดโซดาให้เนื้อเด้งดึ๋ง เหนียว ราดด้วยน้ำพริกเกลือแนมด้วยหอมเจียว ยอดกระถิน รับประทานพอดีคำ รสชาติเฉียบจริงๆ พร้อมเผยเคล็ดลับว่า ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน รับประทานหอยนางรม หอยตะโกรม อร่อยที่สุด เพราะเนื้ออวบ หวาน ไม่มีไข่ จากนั้นเมนูขนมพื้นบ้าน มีสากกะเบือรุน (ขนมกะลอจี๊) ที่แป้งเหนียวหนึบหวานหอมด้วยกลิ่นงา ขนมหม้อแกง สับปะรดกวน เล่นเอาแพรับน้ำหนักโหลดแบบน่าใจหาย โชคดีที่ขากลับให้รถมารับไม่ต้องนั่งแพย้อนกลับขึ้นไป

อ่าวตาลคู่ย้อนอดีตแหล่งท่องเที่ยวชาวตราด  

สุดทางบูรพา อำเภอแหลมงอบ

สุดทางบูรพาที่ “บ้านอ่าวตาลคู่” หมู่ที่ 1 ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ สุดทางบูรพา อ่าวตาลคู่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแห่งแรกๆ ของจังหวัดตราด มาประมาณ 50-60 ปี ปัจจุบัน ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะอยู่บนฝั่งเดินทางสะดวก ห่างจากอำเภอแหลมงอบเพียง 16 กิโลเมตร เงียบสงบ น้ำทะเลใส มีชายหาดเล่นน้ำได้ทิวทัศน์มองเห็นเกาะช้างอยู่ด้านหลัง และชมความงามจากดวงอาทิตย์ตกด้านเกาะช้าง ที่นี่ร้านอาหารบริการอาหารทะเลสดๆ ชาวจังหวัดตราดนิยมมาพักผ่อน

คุณสุรพล จิตนาวสาร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 เล่าว่า ที่บ้านอ่าวตาลคู่เที่ยวชมวิถีชาวประมงพื้นบ้าน ชมแหล่งรับซื้ออาหารทะเลสดๆ จากเรือของชาวประมง มีบริการเรือประมงให้เช่าไปตกปลา ไฮไลต์ใหม่ล่าสุดถ้าใครต้องการชมทัศนียภาพหาดอ่าวตาลคู่จากทะเลมาชายหาด สามารถเช่าเรือประมงให้แล่นออกไปด้านหน้าอ่าวตาล จะเห็นหาดทรายสีแดงทอดยาว ประมาณ 500 เมตร สวยงามมาก ใกล้ๆ กันมีเกาะลิง ที่สามารถเดินข้ามจากหาดอ่าวตาลคู่มาได้ในช่วงฤดูฝนที่น้ำลง

ณประเสริฐ ลือชาธนานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด

“ที่นี่มีท่าเรือชาวประมงพื้นบ้านในคลอง เรือประมงเหล่านี้จะออกทะเลนำปลามาขายที่ท่าเรือสดๆ ดังนั้น อาหารทะเลที่อ่าวตาลคู่จะสดและราคาถูก ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวในวันหยุด เทศกาล บางคนที่มาไม่ทันเรือเฟอร์รี่ข้ามไปเที่ยวเกาะช้างอาจจะมาแวะพักค้างก่อน-หลังไปเที่ยวเกาะ รีสอร์ตที่พักมีบริการ 30-40 ห้อง เป็นของชาวบ้าน ราคา 500-1,000 บาท ต่อคืน” ผู้ใหญ่บ้านสุรพล กล่าว

ปิดทริปสุดทางบูรพา เก็บภาพอันสวยงามของดวงอาทิตย์ที่ค่อยหายไปที่อ่าวตาลคู่ โดยมีเกาะช้างเป็นฉากหลัง เป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืม…เส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี คือ อีกก้าวหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน …นึกถึงการท่องเที่ยว เลือกท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัติวิถี @ตราด…