นอนร้อยหวันหนึ่งคืน สดชื่นไปร้อยวัน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างหนอในช่วงที่ผ่านมา เราต้องเจอกับเรื่องราวของฝุ่นที่คลุมเมือง เรื่องราวของหน้ากากกันฝุ่นที่หาซื้อไม่ได้ กระทั่งได้เห็นนวัตกรรมกำจัดฝุ่นใหม่ๆ ทั้งพ่นจากโดรนและเครื่องบินเล็กและจากตึกสูงต่างๆ อาจมีบางคนไม่ถูกใจในการแก้ปัญหาอยู่บ้าง แต่ความสำคัญในครั้งนี้ก็ได้เห็นน้ำใจของผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่รู้สิ ไม่ว่าเหตุการณ์ในประเทศจะมีปัญหาอะไร หากเมื่อมีภัยใดๆ เราคนไทยพร้อมที่จะร่วมมือกันเสมอ

อยากทำความเข้าใจกันสักนิดสำหรับโลกในยุคใหม่ ที่เน้นผลการประกอบการและรุกรานธรรมชาติ เราเคยสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปมากมายเพื่อแลกมากับคำว่า พัฒนา และเราก็ไม่เคยนำเรื่องราวดังกล่าวมาเป็นบทเรียนอย่างแท้จริง ทุกวันนี้เหมือนเราเดินตามหลังปัญหา คอยแก้ไขเท่านั้น

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและเพื่อนๆ มีโอกาสได้เดินทางไปที่จังหวัดพัทลุง โดยได้รับเชิญให้ไปเปิดสัมมนาการปลูกมะละกอครบวงจร เพื่อสร้างรายได้ทดแทนรายได้หลักจากยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่จัดโดย อบต.ทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

มะละกอ ยังเป็นพืชชนิดใหม่ของพื้นที่ เพราะอาชีพหลักของพี่น้องเกษตรกรก็คือสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ สร้างความเข้าใจรวมถึงแนะนำการแก้ปัญหา ก็ทำให้เริ่มมองเห็นทิศทางที่ดีในอนาคตได้ไม่ยากนัก ผลไม้ 3 ชนิด ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและสร้างรายได้ให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อย ได้แก่ มะละกอ กล้วยหอม (ส่งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ) และเมล่อน

เสร็จจากสัมมนา เราเดินทางไปเยี่ยมชมตลาดนัดต้นไม้ชายคลอง อำเภอป่าพะยอม ติดป้ายตลาดต้องชมเป็นหนึ่งในสิบของประเทศ ที่จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ บรรยากาศในตลาดเล็กๆ ในพื้นที่ 2 ไร่เศษๆ มีพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนในชุมชน นำสินค้าทั้งพืชผักผลไม้ประจำถิ่น อาหารปรุงสำเร็จ อาหารแปรรูป กระทั่งสินค้าหัตถกรรม มาวางจำหน่ายให้ได้เลือกจับจ่ายใช้สอย

บุคลิกของตลาดเล็กๆ ที่เจือด้วยกลิ่นอายมิตรภาพ เสริมเน้นด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้มีผู้คนใช้เป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องไปในวันหยุด เพราะตลาดนี้จะเปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น

เสร็จจากเดินชมตลาด เรามุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่หนึ่งในเทือกเขาบรรทัด จุดนัดพบและพักผ่อนของเราในคืนนี้นั่นคือ ร้อยหวัน สถานที่แห่งนี้มากความนิยามยิ่งนัก บางคนเรียกรีสอร์ตอินดี้ บางคนเรียกโฮมสเตย์ บางคนเรียกโรงเรียนวิถีชีวิต แต่สำหรับผมเรียกว่าบ้านมิตรภาพและความรัก

พี่จู ร้อยหวัน เล่าให้ฟังว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่บรรพบุรุษร่วมอนุรักษ์ไว้จากการทำเหมือง

ต้นไม้บ้านฉันก่อกำเนิดสายน้ำไหลไปถึงบ้านเธอ ผมมองเห็นจิตวิญญาณแห่งการมีชีวิตไหวระริกอยู่กับใบไม้ สายน้ำ และเสียงกรีดปีกของเหล่าแมลงตัวน้อย เสียงเพรียกแห่งไพรปลุกความมีชีวิตชีวาให้กับคนเมืองได้ดียิ่งนัก ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางกระทั่งถึงช่วงมีกิจกรรมสัมมนา หรือพลังเฮือกสุดท้ายที่หลงเหลือจากการต่อสู้กับหมอกควันในเมืองใหญ่ พาเราเดินทางมาจนถึงที่แห่งนี้

สายน้ำไหลเอื่อยดังหนึ่งกำลังเต้นระบำ คลอเคลียผ่านก้อนหินน้อยใหญ่ที่ตั้งระเกะระกะในพื้นที่ เสียงสาดซัด ในบางช่วงที่สายน้ำไหลรวมมาตกลงสู่พื้นล่าง

เป็นดังหนึ่งน้ำตกน้อยๆ สร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าให้อย่างมากมาย ผมสูดหายใจเข้าเต็มปอด และค่อยๆ ผ่อนอย่างวางใจ กลิ่นป่า และสรรพเสียงที่อยู่รายรอบ ทำให้เราลืมเมืองใหญ่ไปชั่วขณะ ผีเสื้อหลากสีกระพือปีกขยับไกว ทางหนึ่งโบกบิน ทางหนึ่งรุมตอมดังหนึ่งมีมหกรรมอาหารบนหินก้อนนั้น

บ้านต้นไม้หลังน้อยๆ ซ่อนตัวอยู่ในผืนป่าอย่างสงบนิ่ง หน้าต่างบานน้อยเปิดรับแสง ภาพสายน้ำที่กำลังเต้นระบำผ่านคลองสายตาของนักเดินทาง อาจเป็นเพราะความเหนื่อยล้าหรืองดงามจนเกินจะห้ามใจ ทำให้คนริมหน้าต่างเผลอหลับไปอย่างสงบลึก

ในยามค่ำ แสงไฟวอมแวมที่เปิดไว้ตามทางเดิน สลับกับแสงกระพริบพราวพรายของหิ่งห้อย ดังหนึ่งดวงดาวจากเบื้องบนลดตัวลงมาออดอ้อนกับผู้คนในยามรัตติกาล อากาศเย็นโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศยี่ห้อใด อุณหภูมิ 22-23 องศา ทำให้บรรยากาศการนั่งข้างกองไฟเป็นเรื่องควรถวิลหาเป็นอย่างยิ่ง มีไก่หรือปลาสักนิดมาปิ้งย่าง คลอไปกับเรื่องราวเล่าขานจากปากของเจ้าบ้าน ก็สร้างความสุนทรีย์ได้ไม่น้อย

ผมคุยกับพี่จูหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่อยากนำมาเล่าก็คือ พี่จูกับความฝันจะสร้างโรงเรียนแห่งโอกาสในสมัยแรกๆ กำเงิน 600 บาทไว้แน่น นั่นเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวในการริเริ่ม เพื่อเป็นโรงเรียนร้อยหวันให้เด็กน้อยนักเรียนมาร่วมกิจกรรม โดยมีจิตอาสาทั้งชาวไทยและต่างชาติมาช่วยกัน

“ผมมองเห็นความเป็นไปได้ในการเปิดโลกทรรศน์ให้เด็กและคนโต เราไม่ใช่เป็นการเรียนการสอน แต่ทุกอย่างเป็นการมาเรียนรู้ร่วมกัน บางเรื่องเด็กเมืองสอนเด็กชนบท บางเรื่องเด็กชนบทสอนเด็กเมือง บางเรื่องเราสอนเด็ก แต่บางเรื่องเด็กก็อาจสอนเรา”

“อะไรเป็นจุดแข็งของที่นี่ครับพี่”

“เราเป็นโรงเรียนที่สร้างคนที่เข้าใจโลกกับชีวิต เราปลูกอาหาร เรามีแหล่งหาปลา เรามีแหล่งเก็บผัก เรามีกิจกรรมทำนา เด็กจะมีเรียนรู้ร่วมกัน ข้อเดียวที่เราตั้งเป็นกฏคือ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 ทุกคนห้ามพูดกันด้วยภาษาไทย”

“หมายถึงห้ามพูดกัน”

“เปล่าครับ เราจะให้พูดได้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ทุกคนที่มาอย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ได้พูดจริงๆ ผิดๆ ถูกๆ ไม่ว่ากัน”

“ดีจังเลยพี่ ตอนนี้ยังเปิดอยู่ไหมครับ”

“ผมจะเปิดตอนปิดเทอมครับ มาเรียนได้เลย พ่อแม่อยากมาดูก็เชิญได้ครับ”

“ค่าใช้จ่าย”

“ไม่มีครับ เราเปิดเพราะเราอยากเปิด มีจิตอาสามาช่วยงาน ใครมีข้าวก็เอามา มีไก่มีปลามีผักก็เอามา ที่นี่ทุกคนจะเสมอกัน กิน นอน กระทั่งขัดส้วมต้องทำได้เหมือนกัน”

“ถามอีกนิดพี่ ที่ร้อยหวันตอนนี้ผมเห็นต้นไม้เต็มไปหมดเลย มีปลูกอะไรไว้บ้างหนอ”

“เยอะมากครับ พ่อผมรวบรวมปลูกไม้พื้นเมืองทั้งกินได้และเป็นไม้ในป่าไม่น้อยกว่าสามร้อยชนิด ทิดโสรู้ไหม ผักที่ปลูกในป่านี้กินเองยังไงก็ไม่หมดนะ ผักกูดที่นี่อร่อยมาก และยังมีผักตาหมัดใครมาได้ชิมก็ต้องติดใจแน่นอน”

“อยากชิมครับพี่”

“ได้เลย เมนูง่ายๆ นะ ผัดผักกูด ยำผักกูด หยวกผัดเคย และเดี๋ยวได้ชิมเมี่ยงเคย”

“เห็นว่ามีของหวานทีเด็ด”

“แน่นอน ใครมาที่นี่ต้องได้ชิมลูกชกในน้ำกะทิ รับรองทีเด็ดครับ”

คืนนั้นผมนอนข้างกองไฟ ผ้าห่มผืนน้อยทำให้รู้สึกหนาวเย็น แต่กองไฟข้างๆ ก็ทำให้ผมอบอุ่นขึ้นมาได้ และในคราที่ผมหนาวหัวใจ คำพูดของพี่จูก็สร้างความอบอุ่นในหัวใจให้ผมได้ไม่น้อย หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจอยากไปพักผ่อนหรือร่วมกิจกรรมดีๆ แบบนี้ ติดต่อพี่จูได้ที่ (099) 205-2898 หรือเพจ บ้านต้นไม้ ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ ยินดีต้อนรับครับ