มะม่วงบ้านแฮด ส่งออก ผลิตนอกฤดู ทำเงินกว่า 3 ทศวรรษ

สภาพดินที่ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายหรือบางพื้นที่เป็นดินทรายในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่ ยกเว้นพื้นที่ทำนาที่ยังคงเพาะปลูกข้าว แต่กว่า 30 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านสว่างพัฒนา ตำบลหนองแซง อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่ เป็นพืชสวน และเป็นพืชที่สามารถทำนอกฤดู รวมถึงส่งออก ทำเงินให้กับชาวบ้านสว่างพัฒนาได้มาก

ต้องยกนิ้วให้กับ คุณบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ เจ้าของไร่มะม่วงสวนอุดม ที่ริเริ่มทำปลูกและผลิตนอกฤดู จนสามารถส่งเสริมและรวมกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงบ้านแฮดเพื่อการส่งออก และจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ในปี 2548

คุณบุญส่วน และ คุณอุดม แก้วไพฑูรย์

ชื่อสวนอุดม มาจาก ชื่อของคุณบุญส่วนและ คุณอุดม ภรรยา นำมารวมกัน แท้จริงแล้ว คำว่า “สวน” เป็นชื่อท้ายของคุณบุญส่วน แต่เกิดผิดพลาดตอนทำทะเบียนราษฎร์กับอำเภอ จึงเติมไม้เอกเพิ่มมาให้ ส่วนคำว่า “อุดม” คือ ชื่อภรรยาของคุณบุญส่วน เมื่อนำมารวมกันจึงตั้งเป็นชื่อไร่ “มะม่วงสวนอุดม”

คุณบุญส่วน จบเพียงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา แต่จังหวะและโอกาสทำให้เขาได้ไปศึกษาดูงานการปลูกมะม่วงแทนคุณพ่อ และเริ่มสนใจมานับตั้งแต่นั้น

หลังแต่งงานย้ายมาอยู่อำเภอบ้านแฮด การทำเกษตรที่สามารถทำได้ขณะนั้นคือ การปลูกพืชไร่ เป็นข้าวโพด มันสำปะหลัง เช่นเดียวกับชาวบ้านทั่วไป เมื่อปลูกในพื้นที่เดิมเป็นระยะเวลานาน ก็ประสบปัญหาผลผลิตลดน้อยลง เนื่องจากแร่ธาตุในดินลดน้อยลงตามการนำไปใช้ของพืชที่ปลูก ยิ่งเติมแร่ธาตุในดินมากเท่าไร การเพิ่มปัจจัยการผลิตก็สูงขึ้นตาม คุณบุญส่วนมองว่า ปัญหานี้จะไม่หมดไปแน่นอน หากยังทำการเกษตรแบบเดิมอยู่

ปี 2531 เป็นปีแรกที่ เริ่มลองผิดลองถูก นำความรู้ที่ไปศึกษาดูงานการปลูกมะม่วงในครั้งนั้นมาปรับเปลี่ยนการทำเกษตร จากพืชไร่ เป็นพืชสวน โดยเริ่มทดลองปลูกมะม่วงบนพื้นที่ 8 ไร่ ระยะห่าง 8×8 เมตร ในยุคนั้นมะม่วงมันเป็นมะม่วงที่ได้รับความนิยมเป็นกลุ่มมะม่วงมัน

นำมะม่วงแก้ว มะม่วงกะล่อน และมะม่วงป่า ปลูกเป็นต้นพันธุ์ หลังจากนั้น 1 ปี เปลี่ยนยอดมะม่วงเป็นมะม่วงเขียวเสวย ฟ้าลั่น หนองแซง แรด ทองดำ พิมเสนมัน หนังกลางวัน ขายตึก แต่สุดท้ายเมื่อผลผลิตออกในปีที่ 4 มะม่วงที่สามารถขายในท้องตลาดได้คือ มะม่วงเขียวเสวย ฟ้าลั่น หนองแซง และมะม่วงแรด

“การตลาดนำการผลิต” คุณบุญส่วน บอก

เป็นผลของการเปลี่ยนยอดมะม่วงครั้งที่ 2 ให้เป็นมะม่วงที่สามารถขายในท้องตลาดได้ และคราวนี้ นำมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 เข้ามาเปลี่ยนยอดร่วมด้วย ผลผลิตชุดแรก ขายในปี 2535 พื้นที่ 8 ไร่ เก็บผลผลิตขายครั้งแรกได้เงินเพียง 8,000 บาท ไม่มาก แต่ก็ถือว่ามาถูกทาง จึงเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 18 ไร่ และเริ่มปลูกต้นพันธุ์ใหม่ ก่อนนำมะม่วงโชคอนันต์มาเปลี่ยนยอดในปีถัดมา

เหตุที่นำมะม่วงโชคอนันต์มาเปลี่ยนยอด เพราะคุณบุญส่วนเห็นต้นมะม่วงโชคอนันต์ที่ปลูกในสำนักงานเกษตรอำเภอแห่งหนึ่ง ให้ผลผลิตในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นนอกฤดูการผลิต ด้วยความไม่รู้ จึงเข้าใจเองว่ามะม่วงสายพันธุ์นี้ให้ผลผลิตนอกฤดู จึงขอซื้อกิ่งทาบ แล้วนำมาเปลี่ยนยอด ขยายพันธุ์จาก 1 กิ่งทาบ ให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่เกือบ 30 ไร่ หลังจากขยายพื้นที่ปลูกอีกในรอบที่ 3

ทำให้เกิดความผิดพลาด เมื่อมะม่วงโชคอนันต์ให้ผลผลิตในฤดู เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ขายบ้าง แจกบ้าง ทิ้งบ้าง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้คุณบุญส่วน เริ่มศึกษาจริงจังกับการทำมะม่วงนอกฤดู และสามารถผลิตมะม่วงนอกฤดูได้สำเร็จ  เริ่มวางแผนการตลาดแต่ละปี ผลิตปีละ 4-6 รุ่น

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ก่อนห่อผล
รุ่นนี้ อีกไม่เกิน 15 วัน เก็บผลผลิตได้

สภาพดินที่เป็นดินทราย จำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้ พื้นที่สวนจึงขุดบ่อไว้เก็บน้ำหลายแห่ง รองรับน้ำฝนเมื่อถึงฤดูฝน และขุดบ่อบาดาล เพื่อสูบน้ำเก็บไว้ในสระ ก่อนจัดการระบบน้ำในสวนมะม่วงด้วยการใช้มินิสปริงเกลอร์  ปุ๋ย ให้ไปพร้อมกับระบบน้ำมินิสปริงเกลอร์

การปลูกมะม่วงจะเริ่มปลูกด้วยต้นพันธุ์ก่อน 1 ปี จากนั้นเปลี่ยนยอดสายพันธุ์มะม่วงที่ต้องการ ระหว่าง 1 ปี ปลูกปอเทืองหรือพืชตระกูลถั่วร่วมด้วย จากนั้นไถกลบ เป็นการปรับปรุงดิน

การทำมะม่วงนอกฤดู ของคุณบุญส่วน มีเทคนิค ตามนี้

เมื่อมะม่วงเริ่มติดดอก ให้เด็ดดอกทิ้งทั้งหมด รุ่นแรก เด็ดดอกทิ้งในเดือนมกราคม และรุ่นที่ 2 และ 3 เด็ดดอกทิ้ง ระยะห่าง 1 เดือน มะม่วงจะยังให้ผลผลิตดี

รุ่นที่ 4-6 ระยะห่างการเด็ดดอกทิ้ง 1 เดือนเช่นกัน แต่จำเป็นต้องใช้สารเพื่อกระตุ้นการติดดอก หลังเด็ดดอกทิ้งในทุกรุ่นประมาณ 1 เดือน มะม่วงจะเริ่มแทงช่อดอกออกมาใหม่ หลังเด็ดดอกทิ้งแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งไปในคราวเดียวกัน เมื่อมะม่วงเริ่มแตกใบอ่อน ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ราดในรุ่นที่ 4-6 ตลอดการผลิตมะม่วงนอกฤดู ให้ปุ๋ยทั้งหมด 4 ครั้ง ผลผลิตที่ได้จะเริ่มเก็บขายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลของมะม่วง

หลังจากเด็ดดอกทิ้งแล้ว ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 46-0-0 เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน หลังให้ปุ๋ยครั้งแรก 7 วัน จึงเริ่มตัดแต่งกิ่ง เมื่อมะม่วงแตกใบอ่อนให้เห็น จึงราดสารแพคโคลบิวทราโซล ในกลุ่มที่ทำนอกฤดูรุ่นที่ 4-6 หลังจากราดสารแพคโคลบิวทราโซล 7 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 13-13-24

หลังการให้ปุ๋ยทางดินครั้งที่ 2 แล้ว จึงเริ่มให้ปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 จำนวน 3-4 ครั้ง เพื่อให้มะม่วงสะสมอาหาร หลังการราดสารแล้ว 45-60 วัน ใช้สารไทโอยูเรีย ร่วมกับสารโพแทสเซียมไนเตรต และสาหร่าย ช่วยในการดึงดอก 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5 วัน จากนั้นมะม่วงจะแทงช่อดอก ให้ดูแลรักษาช่อดอกตามปกติ พบแมลงก็ทำลาย ฝนตกก็ฉีดยาป้องกันเชื้อรา ตามสถานการณ์การระบาดของโรค

หลังจากมะม่วงติดผลเล็กขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ ต้องระวังเรื่องแมลงเข้าทำลายผล โดยเฉพาะเพลี้ยไฟ ช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เพื่อขยายขนาดผลและช่วยทุกส่วนของมะม่วง

การติดผลของมะม่วง จำเป็นต้องตัดแต่งผลให้เหลือช่อละ 1-3 ผล ขึ้นกับการติดผลในภาพรวมว่าติดมากเท่าไร และเริ่มห่อผลเมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่ หรือขนาดความกว้างของผล 4-5 เซนติเมตร ความยาวของผล 7-9 เซนติเมตร  หลังห่อผล 10 วัน ใส่ปุ๋ยเพิ่มความหวาน สูตร 13-13-21 และ 0-0-60 หลังห่อผล 45-50 วัน สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้

จากมะม่วงกลุ่มมะม่วงมันในปีเริ่มต้น ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเป็นมะม่วงตามความต้องการของตลาด ทำให้พื้นที่ปลูกมะม่วงขยับไปตามสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ และปัจจุบันเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมากที่สุด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงบ้านแฮดเพื่อการส่งออก มีสมาชิก 65 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วง 1,554 ไร่ เน้นการส่งออกเป็นหลัก มีบริษัทส่งออกเข้ามารับซื้อ 7 ราย ส่วนมะม่วงตกเกรดส่งออก มีพ่อค้าแม่ค้า 4 รายเข้ามารับซื้อเพื่อขายในประเทศเช่นกันราคามะม่วงหน้าสวนที่ขายออกไปสูงสุดในปี 2559 ราคากิโลกรัมละ 140 บาทในแต่ละปี ผลผลิตมะม่วงส่งออกไม่ต่ำกว่า 200 ตัน และยังคงผลิตมะม่วงในฤดูประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ทุกปี

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกทั้งหมดเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ประมาณ 1,200 ไร่ มะม่วงโชคอนันต์ 200 ไร่ มะม่วงเขียวเสวย 80 ไร่ พื้นที่ที่เหลือปลูกมะม่วงสายพันธุ์อื่นไว้หลายสายพันธุ์ และบางส่วนเป็นต้นตอ ไว้สำหรับเปลี่ยนยอดมะม่วงให้ได้ตามความต้องการของตลาด

แนวความรู้เรื่องการทำมะม่วงนอกฤดูส่งออก คุณบุญส่วนไม่หวงสูตร พร้อมให้ความรู้กับผู้สนใจ แวะไปดูความสำเร็จได้ที่ หมู่ที่ 4 บ้านสว่างพัฒนา ตำบลหนองแซง อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น หรือโทรศัพท์พูดคุยกับคุณบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ ได้ที่ (089) 623-4020