เปิดแผน ‘สทนช.-กรมชลฯ’ รับมือ ‘แล้ง’ หนักสุด รอบ 30 ปี แย่กว่านี้ผ่านมาแล้ว…น้ำพอแน่?

จากสภาพอากาศของประเทศที่เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ในหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงน้ำใช้สำหรับอุปโภค-บริโภคแล้ว นอกจากนี้ยังมีบางหน่วยงานกังวลว่า หน้าแล้งใน ปี 2562 นี้ จะหนักกว่าทุกปี ซึ่งจากข้อกังวลดังกล่าวทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่มออกมาให้ข้อมูล เตรียมพร้อมสำหรับการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศแล้ว

⦁ สทนช. ยันแล้งนี้ไม่วิกฤต

ประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปีนี้ประเทศไทยจะแล้งหนักสุดในรอบ 30 ปี จากปรากฏการณ์เอลนิโญ จะรับมือไหวหรือไม่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ให้คำตอบว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญจะยังคงอิทธิพลต่อเนื่อง แต่เป็นเอลนิโญกำลังอ่อน และจะเข้าสู่สภาวะเป็นกลางช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2562 คาดว่าจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ 10-20% เฉพาะเดือนเมษายน 2562 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 10% และคาดว่าปริมาณฝนจะกลับมามีค่าใกล้เคียงกับสภาวะปกติในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มฤดูเพาะปลูกในปีนี้ได้หลังจากผ่านช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว

“ยืนยันว่า ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศจะมีเพียงพอตลอดฤดูแล้งและต่อเนื่องฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้อย่างแน่นอน ส่วนการควบคุมการใช้น้ำจะมีเฉพาะภาคเกษตรที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 (เกินแผน) ทั้งนี้ เพื่อให้ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและอื่นๆ รวมถึงการช่วยเหลือพืชต่อเนื่องตลอดฤดูแล้ง ปี 2561/62 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีไปจนถึงกลางฤดูฝน ปี 2562 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย แจ้งจังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด เพื่อควบคุมการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 และการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด”

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำทุกภาคของประเทศ นายสมเกียรติ กล่าวว่า โดยรวมมีปริมาณน้ำน้อยถึงปกติ แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ อัตราการไหลผ่าน 300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อัตราการไหลผ่าน 80 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แม่น้ำชี อ.เมือง จ.ชัยภูมิ อัตราการไหลผ่าน 0.00 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แม่น้ำมูล อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อัตราการไหลผ่าน 0.69 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แม่น้ำแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี อัตราการไหลผ่าน 98 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แนวโน้มลดลง ส่วนแม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณ จ.เชียงราย จ.นครพนม ถึง จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 9.02 เมตร (ลดลง 0.10 ม.), 8.94 เมตร (ทรงตัว) และ 11.15 เมตร (ทรงตัว) ตามลำดับ

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2562 มีปริมาณน้ำ 47,006 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 66% ปริมาณน้ำใช้การ 23,464 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 50% อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 2,891 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 56% ปริมาณน้ำใช้การ 2,464 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 48%

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของความจุ ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ขนาดกลาง 45 แห่ง อ่างเก็บน้ำระหว่าง 50-80% ของความจุ ขนาดใหญ่ 15 แห่ง ขนาดกลาง 164 แห่ง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำระหว่าง 30-50% ของปริมาณน้ำใช้การ ขนาดใหญ่ 14 แห่ง ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ภูมิพล ป่าสักชลสิทธิ์ น้ำอูน จุฬาภรณ์ ลำปาว ลำพระเพลิง มูลบน ลำแชะ ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ ขนาดกลาง 113 แห่ง

อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง ได้แก่ แม่มอก 27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ได้แก่ อุบลรัตน์ 94 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 5% สิรินธร 121 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 11% ลำนางรอง 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 29% ห้วยหลวง 37 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 28%

ภาคกลาง 2 แห่ง ได้แก่ ทับเสลา 23ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 16% และกระเสียว 26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 10% ขนาดกลาง 90 แห่ง คือ ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ71 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 1 แห่ง

⦁ กางแผนรับมือแล้ง ปี’62

นายสมเกียรติ ระบุว่า ตอนนี้ได้ตรวจพบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3 กิจกรรม ประกอบด้วยด้านอุปโภค บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ด้านการอุปโภค-บริโภค แยกเป็นในเขตพื้นที่ให้บริการของการประปา (กปภ.) คาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงใน 9 จังหวัด แบ่งเป็น 10 สาขา

ซึ่งคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้มอบหมายให้ กปภ.จัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำต้นทุน ปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 17 จังหวัด กว่า 20 สาขา ประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ภาคกลาง 3 จังหวัด

ทั้งนี้ ได้มีมาตรการรองรับในแต่ละหน่วยสาขาบริการเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งขอให้ กปภ. ตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมไปที่แหล่งท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ ของประเทศ ซึ่งทาง กปภ. จะยืนยันข้อมูลกลับมาที่ สทนช. เพื่อจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ส่วนการจัดการนอกเขตพื้นที่ให้บริการของ กปภ. คาดการณ์ว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 20 จังหวัด คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนงานขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง 11 จังหวัด คงเหลือ 9 จังหวัด ที่ไม่มีบ่อน้ำบาดาล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทยลงสำรวจพื้นที่เสี่ยง 9 จังหวัด ผลปรากฏว่ามีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตพื้นที่บริการ กปภ. จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วยภาคเหนือ 2 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด 5 อำเภอ ภาคกลาง 2 จังหวัด

ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นด้วยการจัดหาแหล่งน้ำใกล้เคียงในระยะ 50 เมตร ซึ่งทาง สทนช. ได้จัดทำข้อมูลแหล่งน้ำต้นทุน ส่งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ ได้รับทราบเพื่อใช้วางแผนเตรียมมาตรการรองรับต่อไป

ด้านการเกษตร คาดว่าในปีนี้มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร นอกเขตชลประทาน จำนวน 11 จังหวัด พื้นที่รวม 151,552 ไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด และภาคกลาง 1 จังหวัด ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดมาตรการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 61,942 ไร่ หรือคิดเป็น 41% ซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการปลูกพืชโดยไม่ขาดแคลน

ปัจจุบันจากการรายงานกรมส่งเสริมการเกษตร และการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกด้วยดาวเทียม โดย สทอภ. พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกเกินแผนในเขตชลประทาน 31 จังหวัด นอกเขตชลประทาน 5 จังหวัด รวม 34 จังหวัด ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในเรื่องสถานการณ์น้ำ และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม จากการประเมินความต้องการการใช้น้ำในฤดูแล้ง เดือนพฤศจิกายน 2561-เมษายน 2562 แบ่งเป็น ในเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 38 แห่ง 14 จังหวัด ใช้น้ำรวม 154 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม 77 จังหวัด ใช้น้ำรวม 923 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมโรงงานทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 102,679 แห่ง ความต้องการใช้น้ำ 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

โดยปริมาณน้ำที่ใช้เกินจากปริมาณที่จัดสรรจำนวน 166 ล้านลูกบาศก์เมตร จะใช้น้ำบาดาล โดยมีปริมาณน้ำจัดสรร 911 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้การรักษาระบบนิเวศ ประกอบด้วย การใช้น้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ปราจีนบุรี-บางปะกง และเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ แม่น้ำปิง ชี ตาปี ทะเลสาบสงขลา สถานการณ์ยังปกติ

⦁ สทนช. เตรียมแผนจัดการน้ำในอนาคต

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดมาตรการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2561/2562 และมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.แจ้งเตือนเกษตรกรงดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่องโดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน ควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

2.ติดตามเฝ้าระวังพื้นที่ในเขตชลประทานและลำน้ำสายหลักตลอดจนพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ทางจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบและเตรียมการป้องกัน

3.ลดการเลี้ยงปลากระชังและบ่อปลา ช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562

4.เฝ้าระวังการระบายน้ำเสียหรือสารปนเปื้อนที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำอย่างเข้มงวด

5.สำรวจความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วน เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งจนถึงต้นฤดูฝนปี 2562

6.เตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ พื้นที่ในเขตชลประทาน ตลอดจนสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ตามคำร้องขอและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูฝน ปี 2562

7.มาตรการเผชิญเหตุ ให้หน่วยงานพิจารณาใช้น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอันดับแรก และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบรรเทาความรุนแรง และ

8.ทบทวนแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รายสัปดาห์ และประเมินปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงต้น กลาง ต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูฝน ปี 2562 ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังอ่อนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์

ในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2557-2561) ปีที่ถือว่าปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่สุด คือ ปี 2557 ต่อเนื่องปี 2558 ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน บูรณาการทุกภาคส่วน ส่งผลให้ผ่านวิกฤตมาได้ สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ได้คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญอ่อนจะยังคงมีผลต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2562 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

คณะอนุกรรมการฯ ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนช่วงต้นฤดูฝน วันที่ 1 พฤษภาคม และกลางฤดูฝน วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 แยกเป็นกรณีน้ำน้อยและน้ำเฉลี่ย หากนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันพบว่าในปีนี้มีปริมาณน้ำใช้การรวมทั่วประเทศ อยู่ที่ 18,277 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณฝนรวมอยู่ที่ 16,908 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ในปี 2557 มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 14,032 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำฝนเพียง 9,696 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำจะพอใช้ถึงสิ้นฤดูแล้งแน่นอน

นายสมเกียรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำคราวที่ผ่านมา ท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้มอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งให้พิจารณาครอบคลุมไปถึงต้นฤดูฝนปีถัดไปนั้น

สทนช. วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ 1.อุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.สำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำต้นฤดูฝน 4.เกษตรกรรม และ 5.อุตสาหกรรม ปริมาณน้ำเพียงพอตลอดทั้งฤดูกาลและมั่นคงต่อเนื่องตลอดปี 2562 ซึ่งจะใช้แนวทางนี้เป็นกรอบในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2562/2563

⦁ กรมชลฯ เร่งขนเครื่องมือช่วยแล้ง

ฟาก นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า ยังมีพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรประมาณ 11 จังหวัด เช่น บุรีรัมย์ และขอนแก่น และเป็นพื้นที่เสี่ยงในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอีก 7 จังหวัด ซึ่งมาตรการในการแก้ปัญหาคือจะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจและประเมินพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ ว่าจะสามารถนำน้ำจากพื้นที่กรมชลประทานเข้าไปเพิ่มเติมได้หรือไม่

ทั้งนี้หากพบว่ามีพื้นที่ที่ห่างไกลไม่สามารถเติมได้ จะให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาล นอกจากนี้พื้นที่ประสบภัยแล้งถึงขั้นวิกฤตก็จะให้รถบรรทุกน้ำ นำน้ำเข้าไปส่งในพื้นที่ ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่กรมชลประทานได้ดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องน้ำบริโภคและน้ำด้านการเกษตรในช่วงภัยแล้งนี้

“คาดการณ์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ไม่รุนแรงเท่ากับ ปี 2558 แต่พบว่าเกษตรกรได้มีการเพาะปลูก พืชการเกษตรเกินแผนที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดไว้ประมาณ 230,000 ไร่ ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ และขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ควรเพาะปลูกเพิ่มเติม เพราะกังวลว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร”

นายทองเปลว กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน หากเกิดปัญหาภัยแล้งนั้น กรมชลฯ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมจัดทำแผนร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด

ซึ่งได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไว้ประจำในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ รวมกว่า 4,850 หน่วย ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า แผนการทำงานแบบเชิงบูรณาการของภาครัฐในครั้งนี้ จะมีน้ำพอใช้ในหน้าแล้งตามที่คาดไว้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ดีประชาชนต้องตระหนักในเรื่องของการใช้น้ำ โดยการงดการทำนาครั้งที่ 2-3 ในช่วงฤดูแล้ง ไม่กักตุนน้ำไว้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ควรฟังคำแนะนำของรัฐ เพื่อช่วยกันให้ประเทศของเราผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้