เอ็มเทค สวทช. ผนึก คพ. ขยายผล ‘การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว’ ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน-SDGs

ทุกภาคส่วนแสดงความตั้งใจ การดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและประการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(วันที่ 11 มีนาคม 2562)  ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ลงนามความร่วมมือ กับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCA) ของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และคาดการณ์ผลจากการดำเนินงานส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรของคู่ค้าภาคี และสนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทย ภายในงานสัมมนา “ภาคเอกชนกับการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมสัมมนา

นิทรรศการตัวอย่างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร. จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจากการดำเนินงานการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Public Procurement (GPP) ที่กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานมาตั้งแต่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2551-2554) จนถึงปัจุบันเข้าสู่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 3 (ปี พ.ศ. 2560-2564) ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้นิยาม GPP ไว้ว่า เป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐผนวกเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการค้นหาและเลือกผลลัพธ์หรือทางออกที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุดผ่านการพิจารณาวัฏจักรของสินค้าตลอดวัฏจักร

“ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอ็มเทค สวทช. ได้นำองค์ความรู้ เทคนิคและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้สนับสนุนการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต ที่สามารถใช้ในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคาดการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ได้ โดยเอ็มเทค ได้สั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านดังกล่าวมานานนับสิบปี อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ดูแล จัดทำ และให้บริการฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย (National Life Cycle Inventory Database) มาตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น เอ็มเทค สวทช. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่มีจะสามารถช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่กรมควบคุมมลพิษดำเนินการได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 12 (สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน) ข้อ 12.7 (ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาคสาธารณะที่ยั่งยืน ตามนโยบายและการให้ลำดับความสำคัญของประเทศ) และข้อ 12.6 (สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ นำแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนมาใช้ และบูรณาการพัฒนาในกระบวนการรายงานรวมทั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก)” ดร. จุลเทพ กล่าว

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในครั้งนี้ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย โดยจะสนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน ผ่านแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่ง แวดล้อม ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 สำหรับให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระ และภาคเอกชน ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นแล้วกรมควบคุมมลพิษได้จัดสัมมนาเรื่อง “ภาคเอกชนกับการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” โดยได้ขยายกลุ่มเป้าหมายการดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างไปยังภาคเอกชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ภาคเอกชนมีการแจ้งผลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในองค์กร ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ภาคการผลิต ผู้ประกอบการ มีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นฐานการผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการบริโภค และผลิตที่ยั่งยืน Sustainable Consumption and Production : SCP (SDG 12) การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

@คาดภายในปี’64 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ ร้อยละ10 ประหยัดงบฯ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ และ เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมมือกันในการประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการคาดการณ์ผลที่ได้รับจากการดําเนินการตามแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่แผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้าง ระยะที่ 1 ของแผนส่งเสริมฯ ปี 2551-2554 มีสินค้าที่นํามาคํานวณก๊าซเรือนกระจก 12 รายการ ส่งเสริมเฉพาะหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง 170 หน่วยงาน จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 25,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถประหยัดงบประมาณ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมประมาณ 200 ล้านบาท สําหรับ ระยะที่ 2 ของแผนส่งเสริมฯ ปี 2556-2559 มีรายการ สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 17 รายการ และได้เริ่มมีการขยายผลการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย และ อปท. ขนาดใหญ่ ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างฯ จากการคาดการณ์หากทุกหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างครบในรายการสินค้าทั้งหมด จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 11.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถประหยัดงบประมาณ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ประมาณ 25,000 ล้านบาท

สําหรับ ระยะที่ 3 ของแผนส่งเสริมฯ 2560-2564 มีรายการสินค้าและบริการ 30 รายการ และขยายการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ อปท. และเอกชน ร่วมจัดซื้อจัดจ้าง หากทุกหน่วยงานร่วมจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครบ คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นจาก ระยะที่ 2 อย่างน้อย ร้อยละ 5-10 และจะสามารถประหยัดงบประมาณในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท