เกษตรกรเลี้ยงปลามืออาชีพ เผยสูตร “อาหารปลาลดต้นทุน” ได้ 60 เปอร์เซ็นต์!

พูดถึงปลาที่เลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจ แน่นอนทุกคนจะต้องนึกถึง ปลาดุก ปลาช่อน และปลาหมอ วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านจะพาไปรู้ลึกถึงวิถีการเลี้ยงปลา และการลดต้นทุนในการเลี้ยงปลา ถอดประสบการณ์จากเกษตรกรที่พลิกผันหันมาเลี้ยงปลาจนเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง

คุณอุดม ขนุนก้อน เกษตรกรเลี้ยงปลาคนเก่ง จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นบทเรียนครั้งสำคัญ เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบและส้รางความเสียหายต่อพื้นที่ทำมาหากิน ทำให้ต้องเร่งฟื้นฟูในการทำการเกษตร จากเดิมที่มีการทำนาเพียงอย่างเดียว หันมาปรับเปลี่ยนทำการเกษตรในเชิงทฤษฎีใหม่ ผสมผสาน คือมีการปลูกข้าว ปลูกผัก หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงปลาเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็มีการเลี้ยงปลาเชิงเศรษฐกิจมากกว่า เช่น ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาดุก ถือว่าเป็นปลาที่ซื้อขายตามท้องตลาดได้ง่าย อีกทั้งยังมีระยะเวลาในการเลี้ยงที่ไม่นาน จึงไม่แปลกที่เกษตรกรจะหันมาสร้างอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงปลา

คุณอุดม บอกว่า ในการเตรียมพื้นที่เลี้ยงปลานั้นอาจจะมีพื้นที่ที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ของแต่ละคน สำหรับพื้นที่ในการเลี้ยงปลาส่วนใหญ่จะไม่เกิน 3 ไร่ ต่อบ่อ เพราะถ้าใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมากกว่านั้น อาจจะต้องมีการลงทุนที่สูงขึ้น ซึ่งในแต่ละบ่อก็จะอยู่ที่ความถนัดของเกษตรกร เกษตรกรคนไหนที่อยากจะเลี้ยงปลาแต่ไม่ค่อยมีเวลามาดูแล ก็แนะนำอยากให้เลี้ยงปลาดุก เพราะปลาดุกเป็นปลาที่กินง่าย โตไว จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่รักในการเลี้ยงปลาเชิงเศรษฐกิจ

คุณอุดม ขนุนก้อน เจ้าของ

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการเลี้ยงปลา

สำหรับการเลี้ยงปลาในแต่ละครั้งนั้น แน่นอนจะต้องมีการศึกษาล่วงหน้าก่อน เพราะปลาแต่ละชนิดมีการเลี้ยง และการเจริญเติบโตที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อหวังผลตอบแทนที่เป็นผลกำไรและสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริม ถ้าอยากรู้ว่าปลาชนิดไหนดูแลอย่างไรนั้น ก็ต้องเริ่มจากการศึกษาพื้นที่สภาพของแหล่งน้ำ เพราะค่าของน้ำแต่ละพื้นที่มีความบริสุทธิ์ที่ต่างกัน ถ้ามีแหล่งน้ำที่สะอาดก็สามารถเลี้ยงปลาอะไรก็ได้ แต่ถ้ามีน้ำที่มีปัญหาบ่อยๆ ก็อาจจะต้องเลี้ยงปลาที่มีความอดทนต่อน้ำสูง อย่างเช่น ปลาดุก เพราะเป็นปลาที่ทนกับน้ำได้สูง ไม่ว่าแหล่งน้ำนั้นจะมีสิ่งเจือปนก็ตาม จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับการเลี้ยงปลาดุก

ยังมีปลาที่ไม่สามารถทนกับปัญหาน้ำได้ เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน

นอกจากนี้ เรื่องอาหารการกินก็เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ควรคำนึง โดยการให้อาหารในระยะแรก 1 เดือน ของการเติบโต ปลาส่วนใหญ่มีความต้องการแร่ธาตุสูง จึงจำเป็นที่จะต้องให้อาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ซึ่งหลังจากผ่านระยะแรกไป ก็หันกลับมาดูความเหมาะสมของผู้เลี้ยง ถ้าให้อาหารสำเร็จรูป ก็ควรให้ วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าเป็นอาหารแปรรูปก็ควรที่จะให้ วันละ 1 ครั้ง สำหรับอายุของปลาที่จะนำไปขายนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ทั้งปัจจัยเรื่องของอาหารเป็นส่วนหนึ่งที่จะกำหนดการเติบโตของปลาได้เช่นกัน ปลากินอาหารที่เจ้าของแปรรูปเองก็จะมีอายุเต็มที่ 8-9 เดือน ส่วนปลาที่กินอาหารสำเร็จรูปก็จะโตสมบูรณ์เต็มที่ 5-6 เดือน จึงจะนำไปขายได้

ปลาที่เลี้ยงในบ่อ

ลดต้นทุนอย่างไร ให้ได้กำไรมากที่สุด

ที่มาของธาตุอาหารปลา เกษตรกรสามารถเปรียบเทียบดูความเหมาะสมของตัวเองที่จะจัดหาแหล่งอาหารของปลา ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึง เพราะถ้าในระยะเวลา 5-6 เดือน ในการเลี้ยงปลาที่จะต้องพึ่งหวังจากการซื้ออาหารสำเร็จรูป ถือเป็นการลงทุนที่สูง เพราะฉะนั้นก็ต้องหาแหล่งอาหารที่สามารถลดต้นทุนได้ ซึ่งปลาในแต่ละชนิดกินอาหารที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง ปลาดุก กินอาหารได้ทุกอย่าง เช่น ปลายข้าว รำข้าว เศษอาหาร รวมทั้งอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้ก็ยังมีปลาที่ไม่สามารถกินอาหารที่เหมือนกับปลาดุก เช่น ปลาหมอ ปลาช่อน ที่จะต้องกินอาหารที่มีโปรตีนสูง

การนำข้าวเปลือกที่ได้มาจากการทำนามาแปรรูปไปเป็นอาหารปลา เพียงเท่านี้ก็สามารถลดต้นทุนได้ ดีกว่าไปซื้ออาหารสำเร็จรูป เพราะอาหารสำเร็จมีต้นทุนที่สูง

อาหารปลาสำเร็จรูป

อาหารที่ได้จากการแปรรูปเองนั้น มีอัตราเสี่ยงที่ทำให้ปลาโตช้าด้วยธาตุอาหารที่ไม่เพียงพอและยังทำให้น้ำในบ่อเสียเร็วกว่าปกติ เพราะเป็นอาหารที่เจือจางละลายกับน้ำ แต่ข้อดีคือ ต้นทุนต่ำ ซึ่งจะแตกต่างกับอาหารสำเร็จรูปที่สามารถควบคุมการโตได้ มีต้นทุนที่สูง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปต่างก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่ อยู่ที่ว่าใครจะนำข้อเสียเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น น้ำที่เสียไปก็สามารถทดแทนด้วยการนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรได้

คุณอุดม บอกวิธีลดต้นทุน โดยการแปรรูปอาหารเอง ใช้ซี่โครงไก่ 30 กิโลกรัม ขนมปัง 10 กิโลกรัม      รำละเอียด 5  กิโลกรัม เกลือแกง 5 กิโลกรัม ปลายข้าว 5 กิโลกรัม นำทุกอย่างมาบดรวมกันให้ปลากิน

เดือนแรก ควรให้อาหารเม็ดตามปกติ

เดือนที่ 2-4 ให้อาหารที่ผสมเอง

เดือนที่ 5 ให้อาหารเม็ดและอาหารบดสลับกันแต่ละวัน พร้อมกับจับปลาขายได้

สูตรนี้สามารถลดต้นทุนได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเลี้ยงปลาเชิงเศษรฐกิจก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงปลาต้องศึกษาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ลดต้นทุนในการเลี้ยงปลาให้ได้มากที่สุด และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ดี ถึงแม้เศรษฐกิจจะค่อยๆ ขยายตัว แต่ผลกำไรที่ได้มาถือว่าเป็นตัวเลขไม่น้อยเลยทีเดียว

อาหารปลาแปรรูป

คุณอุดม บอกว่า การขายปลาเชิงเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นกันที่ตลาดที่มีขนาดใหญ่ หรือตลาดส่งออก ซึ่งเงื่อนไขของการซื้อขายนั้นก็จะขึ้นอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ เพราะในช่วงเศรษฐกิจดี พ่อค้าก็จะเข้ามารับซื้อโดยตรง และเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง เกษตรกรก็จะต้องนำไปส่งขายด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงปานกลาง ถือว่ายังเป็นที่น่าพอใจสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงปลา

สำหรับเกษตรกรที่อยากจะเลี้ยงปลา สิ่งที่ควรคำนึงเป็นลำดับแรกนั้นก็คือ ต้นทุน ซึ่งจำเป็นต้องคำนวณ เนื่องจากว่าการทำอาชีพนี้ต้องทำให้เป็นขั้นเป็นตอน จากจุดเล็กๆ แล้วค่อยๆ ก้าวเข้าไปสู่ตลาดขนาดกลาง เมื่อถึงช่วงนั้นสังคมจะยอมรับทำให้เป็นที่รู้จักของเกษตรกรที่มีใจรักชอบการเลี้ยงปลา

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณอุดม ขนุนก้อน บ้านเลขที่ 11/2 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 086-568-0195

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354