“อิ่มสุข” แบรนด์ผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรเพื่อสุขภาพ จากกลุ่มแม่บ้าน “แม่สุริน” ขุนยวม แม่ฮ่องสอน

การทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นมีปัจจัยความพร้อมทางสภาพพื้นที่และทรัพยากรไม่เหมือนกัน จึงทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่างกัน แต่นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาเนื่องจากชาวบ้านทุกหมู่บ้านต่างอาศัยภูมิปัญญาตกทอดนำมาปรับเข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่เพื่อใช้ประโยชน์จากเกษตรกรรมเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในครัวเรือนได้อย่างสมบูรณ์ 

ถั่วลายเสือและขนมงา ของว่างที่อร่อย ปลอดภัย และดูแลสุขภาพ

ขณะที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารและการเกษตรกรรมมีส่วนสำคัญทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพทางด้านการตลาดและจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรมด้วยการแปรรูป ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงเป้า

อย่างชาวบ้านหมู่ที่ 3 บ้านแม่สุริน ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้พร้อมใจกันจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของค่าใช้จ่ายครัวเรือน รวมทั้งยังฝึกฝนสร้างทักษะเพื่อให้นำผลผลิตทางเกษตรกรรมในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมเพื่อสุขภาพ ดึงเทคโนโลยีการสื่อสารมาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แล้วชักชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน

คุณเพ็ญพิกา เตือนชวัลย์ หรือ คุณเพ็ญ ประธานกลุ่มแม่บ้านวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรทางเลือกบ้านแม่สุริน กล่าวว่า “แม่สุริน” มาจากชื่อลำน้ำที่ไหลผ่านที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านยึดอาชีพทำนาแต่ไม่มาก ส่วนมากทำเกษตรกรรมแบบปลูกพืชไร่ ข้าวที่ปลูกมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าวพื้นเมืองที่มีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า

ผลิตภัณฑ์ข้าวอิ่มสุข ไม่เพียงช่วยทำให้อิ่มท้องแล้วยังปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

เมื่อช่วงปลายปี 2544 เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ทำให้เกิดความเสียทั้งทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากราชการแต่ก็ยังไม่พอเพียง จึงเกิดความคิดที่จะช่วยกันหารายได้พิเศษขึ้นเพื่อไว้เป็นทุน เลยจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านออมทรัพย์ขึ้น โดยให้สมาชิกนำเงินมารวมกันในทุกเดือน แล้วนำเงินก้อนนี้ให้สมาชิกกู้แบบเสียดอกเบี้ยต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนหมู่บ้าน

ขณะเดียวกัน ยังมองว่าในช่วงเวลาว่างจากงานเกษตรกรรม ควรหางานทำเป็นรายได้เสริมเข้ามา โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแนะนำและถ่ายทอดความรู้งานประดิษฐ์และแปรรูปต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถนอมอาหารจากวัตถุดิบทางการเกษตรในพื้นที่หลายชนิด อย่างข้าว หน่อไม้ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แต่ระยะแรกสินค้ายังใหม่จึงมีข้อจำกัดทางการตลาด จึงต้องใช้วิธีขายกันในชุมชน หรือแลกเปลี่ยนกันไปก่อน

“จนเมื่อเกิดการจัดเป็นตลาดนัดชุมชนขึ้นจึงเริ่มนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทางกลุ่มผลิตขึ้นออกไปวางขายนำผลผลิตทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่ปลูกแนวอินทรีย์มาสร้างมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นอาหารและขนม เน้นความสะอาด ปลอดภัย แล้วบรรจุใส่แพ็กเกจสวยหรู แบรนด์ “อิ่มสุข”

ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ตราอิ่มสุข ที่ผลิตจากงานเกษตรกรรมต่างๆ ของชาวบ้าน

ผลิตภัณฑ์แบรนด์อิ่มสุขชนิดแรกๆ ที่ทำออกขาย อย่างกล้วยฉาบ ผลิตจากกล้วยที่สมาชิกปลูกในชุมชนเป็นกล้วยอินทรีย์ที่ปลูกแบบธรรมชาติ ผลิตถุงเล็กขายราคาถุงละ 20 บาท ถุงใหญ่ 35 บาท (3 ถุง 100 บาท) แล้วยังได้ผลิตเป็นถุงไซต์จิ๋วราคาถุงละ 5 บาท ไว้ขายให้กับลูกหลานตัวเล็กๆ ในชุมชนที่มีเงินค่าขนมสามารถซื้อรับประทานได้

นอกจากนั้น ยังผลิตข้าวแต๋นปั้นผสมกับงา เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวธัญพืชที่ผลิตจากข้าวเหนียว งา กะทิ น้ำอ้อย และเกลือป่นเล็กน้อย มีรสหวานหอม และปลอดภัยต่อสุขภาพ ข้าวแต๋นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนทำขึ้นตามประเพณีอยู่แล้ว

“ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนมีกิจกรรมอื่นเข้ามาเสริมแล้วยังมีรายได้สำหรับไว้ใช้ในครอบครัวแทนการอยู่กับบ้านเฉยๆ นับเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านอีกหลายครอบครัวหันมาสนใจทำกิจกรรมกลุ่มอย่างจริงจังมากขึ้น และปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 50 กว่าคน”

ชักชวนให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสวิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน

คุณเพ็ญชี้ว่า การที่ลูกค้าให้ความสนใจผลิตภัณฑ์อิ่มสุขมากขึ้นเป็นเพราะสินค้าเหล่านั้นผลิตจากงานเกษตรกรรมที่ชาวบ้านปลูกและดูแล ตลอดจนผ่านกระบวนการและขั้นตอนผลิตอย่างมีคุณภาพ ปลอดสารเคมี แล้วหารับประทานไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่ดูแลสุขภาพ จึงนับเป็นจุดเด่นของอิ่มสุข

จากเหตุผลนี้จึงนำไปสู่การคัดสรรสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อต่อยอดด้วยการผลิตขนมงาขึ้นมา เป็นขนมงาเข้มข้นที่ใช้ปริมาณงามากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นสินค้าที่เหมาะกับด้านสุขภาพมาก แล้วยังเอาใจกลุ่มลูกค้าแนวออร์แกนิกต่อด้วยการผลิตถั่วลายเสือที่โดดเด่นเพราะปลูกที่แม่ฮ่องสอนทำให้มีรสหวานจากธรรมชาติ ไม่มีความมัน จึงไม่สามารถสกัดน้ำมันออกมาได้ เป็นสินค้าที่เหมาะกับสุขภาพเช่นเดียวกัน

โรงสีของกลุ่ม

คุณเพ็ญยังเผยถึงกรรมวิธีผลิตถั่วลายเสือว่า หลังจากกะเทาะเปลือก ตากแห้งหลายแดดแล้วนำมาคั่วกับเกลือด้วยอัตราส่วนถั่ว 5 ถ้วยตวง ต่อเกลือป่น 3 ถ้วยตวง ให้คั่วไฟอ่อนสัก 30 นาที จากนั้นนำไปร่อนเพื่อให้เกลือหลุดออก แล้วนำไปผึ่งลมเล็กน้อยพออุ่นแล้วนำไปแพ็กเพื่อให้ถั่วลายเสือมีความกรอบ พร้อมกับรสเค็ม มัน ผสมกัน โดยกำหนดราคาขายถั่วลายเสือ 3 ถุง 100 บาท หรือแบบกระปุกราคา 50 บาท

อีกชนิดของถั่วที่ปลูกเป็นรายได้แล้วนำมาแปรรูปคือ ถั่วหัวช้าง มีลักษณะคล้ายถั่วลิสง ถั่วชนิดนี้ชาวม้งบนดอยนิยมปลูกเพราะสภาพอากาศที่เอื้อให้สามารถปลูกได้อย่างมีคุณภาพ คุณเพ็ญชี้ว่า งาคั่วเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพและผู้สูงอายุมาก สำหรับในกลุ่มวัยรุ่นนิยมรับประทานประเภทขนม

ไม่เพียงผลิตสินค้าแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรที่ชาวบ้านในพื้นที่ปลูก แต่พวกเขายังเพาะพันธุ์พืชแบบคุณภาพไว้ขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์งาและถั่ว อย่างพันธุ์งาขายกิโลกรัมละ 90 บาท พันธุ์ถั่วขายกิโลกรัมละ 50 บาท

การยอมรับให้เป็นกลุ่มต้นแบบของการออมทรัพย์

ประธานกลุ่มบอกว่า ชาวบ้านมีพื้นที่ปลูกข้าวไม่มาก ปลูกไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือนมากกว่า ข้าวที่ปลูก ได้แก่ ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมะลิหอม ข้าวมะลิแดง ข้าวเหนียวก่ำ (ข้าวลืมผัว) คุณเพ็ญบอกว่า ถ้าสมาชิกปลูกข้าวเมื่อได้ผลผลิตแล้วทางกลุ่มจะรับซื้อไว้ แต่ให้ฝากเก็บไว้ในยุ้งของชาวบ้านรายนั้นก่อน เพราะกลุ่มไม่มีสถานที่เก็บ ทั้งนี้ สามารถสีข้าวขายได้เอง

“จากนั้นจะนำมาคัดแยกว่าเป็นข้าวประเภทใด ปริมาณเท่าไร เพื่อนำไปตรวจสอบกับสต๊อกว่ามีข้าวอะไรที่ต้องผลิตเพิ่มเติมทดแทน หรือมีลูกค้าสั่งข้าวอะไรมาเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหลือเกินความจำเป็นเนื่องจากข้าวมีอายุการเก็บรักษา ดังนั้น ถ้าเหลือเก็บไว้นานจะมีปัญหาหมดอายุ ข้าวที่แพ็กใส่ถุงมีน้ำหนักถุงกิโลกรัม ได้แก่ ข้าวกล้อง ราคาขาย 90 บาท ราคานี้จะแพ็กใส่กล่องสวยหรูเหมาะกับการซื้อไปมอบในวาระต่างๆ แต่ถ้าไม่มีกล่องขายแพ็กธรรมดาราคา 60-70 บาท”

คุณเพ็ญ บอกว่า การผลิตสินค้าต่างๆ เป็นหน้าที่ของฝ่ายการตลาดที่จะวางแผนกำหนดว่าสินค้าควรจะผลิตช่วงใด จำนวนเท่าไร เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม โดยสมาชิกจะปลูกทุกอย่าง เมื่อเก็บผลผลิตจะนำมาขายให้กับกลุ่ม

สำหรับสินค้าในกลุ่มสมุนไพรและสุขภาพอย่างที่ผลิตขมิ้นผงขนาดบรรจุ 250 ซีซี ขายราคาขวดละ 30 บาท ลูกค้านิยมซื้อไปใส่ลูกประคบ รวมถึงทางกลุ่มยังนำไปใช้สำหรับประคบให้ลูกค้าเวลานวดด้วย น้ำผึ้งขวดแก้วขายในราคา 100, 150 และ 200 บาท

แบรนด์อิ่มสุข เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

ไม่เพียงเท่านั้น ทางกลุ่มนี้ยังเอาใจลูกค้าที่นิยมงานหัตถกรรมพื้นบ้านต่างๆ ด้วยการผลิตของใช้จากเครื่องจักสานซึ่งเป็นผลงานของผู้สูงอายุในชุมชนโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้เฒ่าผู้แก่มีความชำนาญเฉพาะด้านที่เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ แต่ถ้าหากงานหัตถกรรมที่มีเทคนิคสมัยใหม่ หรือมีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าเดิมก็จะช่วยให้ทางภาคราชการส่งวิทยากรมาแนะนำให้แก่ผู้สูงอายุเหล่านั้น

งานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผลิตขายส่วนมากได้แก่ตะกร้าสาน กระบุง กระเป๋า กระจาด ฯลฯ ซึ่งงานบางประเภทเป็นความชำนาญของผู้สูงอายุที่อยู่ที่ราบ และงานบางอย่างเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวชนเผ่าที่สูง ทั้งนี้ งานหัตถกรรมทุกชนิดทางกลุ่มยินดีรับซื้อเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในทุกพื้นที่ แล้วทางกลุ่มยังมีสินค้าแปรรูปจากผ้ามาเย็บตกแต่งเป็นของใช้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเล็ก-ใหญ่ หรือพวงกุญแจ

ประธานกลุ่มยังเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์บางอย่างต้องปรับปรุงให้ทันสมัยกับยุคเวลาที่เปลี่ยนไป ถ้าขายแบบเดิมๆ อยู่ ลูกค้าก็จะไม่ซื้อ หรือขายได้น้อยลง ดังนั้น จึงต้องสร้างมูลค่าให้กับสินค้าบางอย่างด้วยการปรับไปผลิตเป็นชนิดน้ำพร้อมดื่มบ้าง หรือขนมขบเคี้ยวเอาใจเด็กและวัยรุ่นบ้าง ทั้งนี้ เพื่อต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรทางเลือกบ้านแม่สุริน เลขที่ 15/1 บ้านแม่สุริน หมู่ที่ 3 ตำบลขุนยวม อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ (095) 634-8178