แปลงใหญ่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก เห็นผล ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มราคาขาย กว่า 20%

การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งผลการดำเนินการนั้นสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ภาคตะวันออก หนึ่งในแหล่งการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ผล เป็นหนึ่งพื้นที่ส่งเสริมที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังดำเนินการตามโครงการอย่างต่อเนื่อง โดย คุณสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานในโครงการแปลงใหญ่พื้นที่ภาคตะวันออกว่า เป็นการปรับวิธีการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยลดต้นทุนการผลิตลง สามารถใช้เครื่องมือเครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิตได้ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น รวมถึงมีการจัดการการผลิตอย่างมืออาชีพ สามารถเข้าถึงการตลาด และมีอำนาจต่อรองทางการตลาดสูงขึ้น

คุณสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

เกษตรแปลงใหญ่ ช่วยเพิ่มมูลค่าถึง 22,000 ล้านบาท

โดยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ทำการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันรวมการผลิตเป็นแปลงใหญ่โดยที่เจ้าของแปลงทุกแปลงยังคงเป็นเจ้าของและผู้ผลิตในแปลงนั้นๆ อยู่ พร้อมจัดให้มีผู้มาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่โครงการในเบื้องต้น พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เน้นการจัดการข้อมูลพื้นที่ การเชื่อมโยง IT smart phone ฯลฯ ภายใต้การมีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) เป็นต้น

“การส่งเสริมแปลงใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นการพัฒนาที่เชื่อมโยงระหว่างการผลิตกับการตลาด แปลงใหญ่หลายๆ แปลง ทางกรมพยายามเชื่อมโยงกับโมเดิร์นเทรด จัดโครงการให้ผู้ประกอบการที่รับซื้อผลผลิตเดินทางมาดูแปลงปลูกตั้งแต่เริ่มต้นของฤดูกาล ซึ่งจะได้เห็นถึงกระบวนการในการควบคุมคุณภาพ ราคาขายก็จะสูงขึ้น อย่างมังคุดที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่จะขายโดยแยกออกเป็นเกรด ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่ขายแบบคละกันไปในราคาเดียวทั้งหมด เมื่อมาคัดเกรดราคาขายก็จะต่างกัน เช่น เกรดพรีเมี่ยมขายราคาหนึ่ง ที่ตกเกรดก็ขายอีกราคาหนึ่ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้”

“อย่างเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการประเมินแปลงใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งหมด 4,200 แปลง พื้นที่เกือบ 5 ล้านไร่ ในเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการ พบว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่เกษตร มีเงินเหลือจากการลดต้นทุน และเงินที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาผลผลิตและได้คุณภาพ ประมวลแล้วอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรอย่างเห็นได้ชัดเจน” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

Advertisement

สำนักงานส่งเสริมฯ ที่ 3 ชี้เห็นผล ให้ประโยชน์กับเกษตรกรเพียบ

ด้าน คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคตะวันออกมีแปลงใหญ่มากถึง 400 กว่าแปลง ปัจจุบันส่วนใหญ่ได้มีการถ่ายโอนภารกิจผู้จัดการแปลงจากเจ้าหน้าเกษตรอำเภอเป็นเกษตรกรเอง โดยในปี 2559 มีการถ่ายโอนประมาณ 30 แปลง สำหรับปี 2562 ได้มีการอบรมเกษตรกรที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการแปลงแล้วส่วนหนึ่งและกำลังดำเนินการอยู่

Advertisement
คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

“พื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และสระแก้ว ในตอนนี้ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ไปร่วมกับเกษตรกรแปลงใหญ่พัฒนากระบวนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพด้านการผลิต เพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของแปลงใหญ่ให้มากขึ้น ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร คือ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าของผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสามารถลดต้นทุนได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เพิ่มผลผลิตและมีคุณภาพได้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญได้เน้นตลาดนำการผลิตมีการจับคู่กับภาคเอกชน สหกรณ์ ร้านค้า บริษัทต่างๆ ส่วนคุณภาพจะเน้นให้ได้มาตรฐานอย่างน้อยก็ GAP ถ้าเป็นพืชอาหาร หรือไปสู่เกษตรอินทรีย์”

“ทั้งนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีสินค้าที่มีคุณภาพมีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค โดยได้นำนโยบายของ คุณกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบริหารจัดการวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่ (Mega Farm Enterprise) มาใช้เป็นแนวทาง เพื่อยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร ยึดหลักการใช้ศักยภาพทุกภาคส่วนมาสนับสนุน (ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรเจ้าของที่ดิน) เป็นกลไกในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเกษตรแปลงใหญ่” คุณชาตรี กล่าว

คุณสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ตรวจเยี่ยมโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออก

เกษตรกรสวนทุเรียนพอใจ

ส่วน คุณวัชรินทร์ นาคขำ เกษตรกรอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ในฐานะประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลปรานีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด กล่าวว่า ในพื้นที่เกษตรกรจาก 10 หมู่บ้าน ได้รวมตัวกันทำการผลิตแบบแปลงใหญ่ มีพื้นที่ 800 กว่าไร่ สมาชิก 46 ราย เป็นแปลงใหญ่ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559

“จากการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกทางจากผลของการลดต้นทุนการผลิต นับตั้งแต่การผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน การรวมกันใช้เครื่องมือทางการเกษตร ทำให้แต่ละรายไม่ต้องลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ในแปลงปลูก ไปจนถึงการต่อรองราคาขายกับผู้ซื้อ เพราะไม่มีการแย่งกันขาย จึงทำให้ได้ราคาที่ดีจากผู้ซื้อ”

คุณวัชรินทร์ นาคขำ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลปรานีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

“ตอนนี้เกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจในโครงการอย่างมาก เพราะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรรายอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ ได้เสนอขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ตอนนี้ก็ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการฝึกอบรมเกษตรกรรายใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง” คุณวัชรินทร์ กล่าว

ในปัจจุบันผลผลิตจากสวนผลไม้คุณภาพที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง โดยเฉพาะทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ที่เป็นผลไม้ยอดนิยมของทั้งตลาดภายในและต่างๆ ประเทศ ได้เริ่มออกสู่ตลาด ดังนั้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยองจึงมีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อทุเรียนให้ได้คุณภาพ โดยมีขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอนคือ

หนึ่ง ใช้วิธีการดู โดยอาศัยจากการสังเกตภายนอก โดย

– ดูที่ขั้นผลสากเป็นเม็ดทราย สีไม่เขียวใสแวว

– จากนั้นให้ดูที่ปลิง ซึ่งจะมีลักษณะบวม ยกเว้นทุเรียนขั้วหวาย ทั้งนี้ ปลิงของทุเรียน คือส่วนของข้อต่อก้าน เมื่อทุเรียนเริ่มแก่ ปลิงที่ดีจะมีลักษณะอ้วน บวม และไม่หลุดออกจากกัน มีสีน้ำตาลเข้ม ตรงรอยต่อปากปลิงจะเริ่มปริจนเป็นร่องสีขาว คล้ายกับว่ามันกำลังจะหลุดออกจากกัน แสดงว่าทุเรียนนั้นเริ่มแก่จัด และสามารถสุกได้ด้วยตัวเอง (ยกเว้นทุเรียนขั้วหวาย) ถ้าดึงเอาปลิงออก น้ำที่ไหลออกมาจากจะใส มีรสออกหวาน ไม่ข้นเหนียวเหมือนทุเรียนอ่อน

– สีเปลือก เปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีเขียวปนน้ำตาล

– ดูที่หนามของทุเรียน หนามจะต้องเป็นสีน้ำตาลไหม้ถึงจะแก่ ถ้าเกิดว่าหนามของทุเรียนยังคงสดใหม่จะแหลมคม

– จากนั้นให้ดูที่ร่องบริเวณเปลือกของทุเรียน ร่องจะต้องมีสีน้ำตาลไหม้ ถ้ามันยังเขียวจัดๆ ไม่ควรซื้อมา ควรเลือกซื้อทุเรียนที่เปลือกมีสีเขียวปนน้ำตาล

สอง ใช้วิธีการดม โดยให้ลองดมกลิ่น ทุเรียนแก่พร้อมกินนั้นจะต้องไม่มีกลิ่นหอมหรือเหม็นเขียวโดยเด็ดขาด หากมีกลิ่นเหม็นเขียวแสดงว่า ทุเรียนลูกนั้นยังอ่อนอยู่ ไม่ควรซื้อ

สาม ใช้วิธีการฟังเสียง ทำได้ด้วยการเคาะฟังเสียง ทุเรียนที่แก่แล้วเวลานำอะไรมาเคาะที่เปลือก จะได้ยินเสียงโปร่งๆ กลวงๆ เคาะแล้วมีเสียงได้ แสดงว่าทุเรียนลูกนั้นสุกแล้ว แต่ถ้าเคาะแล้วเสียงตึบๆ ทึบๆ แน่นๆ แสดงว่าทุเรียนลูกนั้นยังอ่อนอยู่ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าตอนที่ทุเรียนยังอ่อนๆเนื้อทุเรียนกับเปลือกจะเติบโตติดแนบกันมา พอเริ่มแก่ใกล้สุกเนื้อทุเรียนมีการสะสมสารอาหารมากขึ้น เนื้อจะแยกออกมาจากเปลือกเล็กน้อย เวลาเคาะหรือดีดด้วยนิ้ว จึงได้ยินเสียงโปร่งกลวงของช่องว่าง ถ้าเคาะแล้วไม่มีเสียงแสดงว่าเนื้อกับเปลือกยังติดกันอยู่ ถ้าจะให้ดีควรเคาะดูทุกพู

สี่ ใช้วิธีการบีบ โดยใช้มือบีบบริเวณหนามสองหนาม ถ้าหนามคลายตัวและเด้งกลับทันที แสดงว่าแก่แล้วแน่นอน

ผลผลิตทุเรียนคุณภาพจากโครงการ

ทั้งหมดนี้ คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคตะวันออก โดยผู้สนใจที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง เลขที่ 141 หมู่ที่ 2 ถนนสุขุมวิท ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โทรศัพท์ (038) 611-578, (038) 621-480