อดุลย์ โคลนพันธ์ “เอเย่นต์ใหญ่ข้าวอินทรีย์” ซื้อข้าวเกษตรกรแพงกว่าตลาด

เอ่ยชื่อ “อดุลย์ โคลนพันธ์” ผู้คนในแวดวงเกษตรอินทรีย์ต่างคุ้นชื่อชายวัย 40 ปีคนนี้ดี เพราะเขาคลุกคลีอยู่ในวงการข้าวอินทรีย์มากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้เจ้าตัวนั่งเก้าอี้ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ตำบลโพนเมืองน้อย อำเภอวังสะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ มีสมาชิก 98 คน และยังเป็นเจ้าของบริษัท บ้านต้นข้าวออแกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด ด้วย

ความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง และบริษัท บ้านต้นข้าวออแกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด ซึ่งรู้จักกันดีในนามกลุ่มข้าวสัจธรรมอำนาจเจริญ พูดได้ว่าหนุ่มใหญ่รายนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ แม้จะมีความรู้แค่ชั้น ม.6 แต่ฝีมือการบริหารจัดการ และวิสัยทัศน์ในการทำงานของเขาเทียบเท่าปริญญาเอกเลยทีเดียว จนทำให้ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มได้รับรางวัลมาตรฐานรับรองแหล่งผลิตพืช ประเภทข้าว หรือมาตรฐาน Q จากกรมวิชาการเกษตร และได้โอท็อป 5 ดาว ปี 2552 ประเภท ข้าวหอมมะลิไร้สารพิษ จากกรมพัฒนาชุมชน และมีออเดอร์ข้าวจากโรงแรมใหญ่และร้านอาหารที่มีชื่อเดือนละหลายสิบตัน ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น

 

คุณอดุลย์ โคลนพันธ์

ผลิตข้าวหลากชนิด

ความน่าสนใจของกลุ่มนี้อยู่ตรงที่คุณอดุลย์ เป็นเจ้าของแนวคิดทดลองปลูกข้าวแบบที่เรียกว่า “นาเลวดำถี่ นาดีดำห่าง” อีกทั้งสมาชิกในกลุ่มมีหลักปฏิบัติร่วมกันคือ ปลูกข้าวอินทรีย์ 100% โดยไม่ใช้สารเคมีเลย พร้อมกันนั้น มีสมาชิก 25 คนลดละเลิกอบายมุขทุกอย่าง 100% จนยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นชาวนาคุณธรรม

คุณอดุลย์ เล่าที่มาที่ไปของการทำอาชีพเกษตรว่า ช่วยครอบครัวทำนามาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ และเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เน้นการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ งดใช้สารเคมี พร้อมรวมกลุ่มกันทำเริ่มแรกมี 7 คน ช่วงแรกๆ ยอมรับว่าทำยากแต่ก็ผ่านมาได้ และทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าสามารถปลูกข้าวอินทรีย์ได้

นอกจากคุณอดุลย์ใช้วิธีศึกษาหาความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีโอกาสไปอบรมกับส่วนงานเกษตรต่างๆ หลายหน่วยงาน เช่น ราชธานีอโศก ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยหัดทำน้ำหมักและปุ๋ยชีวภาพ ฯลฯ จากนั้นแยกมาตั้งกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง และเมื่อ 2 ปีก่อน ได้เปิดบริษัท บ้านต้นข้าวออแกนิกส์ ฟาร์ม จำกัด เน้นการทำงานควบคู่กับกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง

ผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง มีหลากหลาย อาทิ ข้าวหอมมะลิ หอมมะลิแดง หอมนิล ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพื้นเมือง อย่างพวกข้าวเหนียวแดงและข้าวเหนียวดำ

คุณอดุลย์ บอกว่า ในปี 2560 บริษัทมีกำไรกว่า 1 แสนบาท และที่ผ่านมาได้ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ โดยซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อีก 5 กลุ่มของจังหวัดอำนาจเจริญและยโสธร ซึ่งทุกกลุ่มมีใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหลายแห่ง ทั้งของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ไอฟ่ม “IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements), มาตรฐาน มกท. และมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee Systems) ฯลฯ

คุณอดุลย์แจกแจงขั้นตอนการปลูกข้าวอินทรีย์ว่า จริงๆ แล้วทำไม่ยากเลย เริ่มจาก เตรียมแปลงก่อน โดยไถกลบฟาง ปลูกถั่วพร้าให้เป็นปุ๋ย ประมาณเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ขนขี้วัวลงแปลงแล้วใส่น้ำหมักประมาณเดือนกันยายน เพื่อเร่งผลผลิต จากนั้นหว่านกล้า ปักดำ แล้วรอเกี่ยว ถ้านาหว่านจะเตรียมแปลงคล้ายๆ กัน ใส่ปุ๋ยชีวภาพ หรือขี้วัว ขี้ไก่ มูลสัตว์ต่างๆ จะใส่ลงก่อนปักดำก่อนหว่านเมล็ดทั้งหมด ต่างกับการปลูกแบบเคมีปักดำเสร็จแล้วค่อยหว่านปุ๋ย ถ้ามันจืดก็จะหว่านปุ๋ยอีก แต่นาข้าวอินทรีย์เตรียมแปลงก่อนดำเสร็จรอเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ สมาชิกทำเหมือนกันหมด รวมเนื้อที่ประมาณ 14,000 ไร่ ซึ่งผ่านการตรวจมาตรฐานทั้งหมด โดยได้รับการส่งเสริมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจดทะเบียนแปลงใหญ่ และมีการสนับสนุนเงินกู้ให้ด้วย

 

ซื้อข้าวเกษตรกรแพงกว่าตลาด

ที่ผ่านมาการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่ง ถือว่าประสบความสำเร็จ ทำให้กลุ่มและคณะต่างๆ เข้ามาดูงานจำนวนมาก

ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งระบุด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็งและสามารถขับเคลื่อนมาได้ถึงตอนนี้ เพราะมีความตั้งใจทำงานของทั้งกรรมการและสมาชิก เพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง โดยยึดเป้าหมายชัดเจนของกลุ่ม คือปลูกข้าวอินทรีย์ที่มีมาตรฐานส่งขายให้ผู้บริโภค ขณะที่ทางสามพรานโมเดล โดย คุณอรุษ นวราช ประธานสามพรานโมเดล เป็นตัวต่อจิ๊กซอว์ให้ ทำให้กลุ่มได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

“เราชี้ประโยชน์ให้เกษตรกรได้รับรู้ว่าปลูกแบบอินทรีย์ดีอย่างไร ขณะเดียวกัน กลุ่มรับซื้อแพงกว่าตลาด 2 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็ดีขึ้น นาก็งามมาก ความต่างคือความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นทั้งเจ้าของนา เจ้าของโรงสี และเป็นผู้ประกอบการด้วย ดีที่สุดตอนนี้คือความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นแปลงที่ใช้สารเคมีฉีดพ่น เขาก็ไม่กล้าลงในแปลงตัวเอง แต่ของเราลงในแปลงตลอด มีกบ เขียด ปู ปลา หากินได้ในแปลง และปลูกผักกินเอง”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อเดินหน้าฉลุย และมีลูกค้ารายใหญ่เป็นคู่ค้าด้วยนั้น เกิดจากการบริหารจัดการ โดยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรจากสมาชิกในราคาเป็นธรรมและสูงกว่าราคาตลาด อย่างที่คุณอดุลย์แจกแจงว่า ในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรทุกราย จะบวกลบจากตลาด เช่น ปีที่ 1 จะบวกให้ 1 บาท ปีที่ 2 ขึ้นไป บวกให้ 2 บาท และปีที่ 3 ได้ 3 บาท แต่ราคาที่เพิ่มให้นี้จะตันอยู่ที่ปี 3

ขณะที่ปี 2560 ข้าวแพงขึ้น จึงใช้วิธีบวกเป็นขั้นบันไดละ 80 สตางค์ ปี 1 เพิ่ม 80 สตางค์ ปี 2 เพิ่ม 1.60 บาท และปี 3 อยู่ที่ 2.40 บาท กรณีถ้าสมาชิกบางคนไม่พอใจจะไปขายเป็นข้าวทั่วไปให้กับโรงสีเป็นราคาตลาด ตอนนี้กิโลกรัมละ 16.25 บาท ถ้ามาขายให้กับกลุ่ม ก็ตั้งไว้ตามนี้ 16.25 บวกอีก 80 สตางค์ ปี 2 บวกอีก 1.60 บาท

 

โรงแรมใหญ่เป็นลูกค้า

ในส่วนของการแบ่งกำไรให้สมาชิกนั้น คุณอดุลย์ระบุว่า ไม่มีการปันผลเป็นตัวเงิน แต่ได้นำมาพัฒนาธุรกิจต่อ อย่างเช่น 1. ทางกลุ่มหาปัจจัยการผลิตให้ได้ในราคาถูก เช่น ปุ๋ยชีวภาพ หรือมูลสัตว์ ใครไม่มีก็จัดหาให้ 2. รับซื้อข้าวราคาแพงกว่าตลาด 3.ใครขยันก็มาทำงานที่กลุ่ม จะจ้างเหมาเป็นรายวัน เช่น แพ็กข้าวลงกระสอบกิโลกรัมละ 1 บาท สีข้าวกิโลกรัมละ 50 สตางค์ ตันละ 500 บาท ใครขยันก็ทำเงินได้มาก

ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อมีลูกค้าทั้งรายใหญ่รายเล็ก เดือนหนึ่งมีออเดอร์ 15-25 ตัน โดยส่งให้โรงแรมใหญ่ๆ 15 แห่ง อาทิ โรงแรมรามา การ์เด้นส์, โรงแรมเดอะ สุโกศล, โรงแรมดุสิตธานี, โรงแรมแอทธินี ฯลฯ แต่ละเดือนโรงแรมเหล่านี้รับซื้อแห่งละ 2-3 ตัน นอกนั้นเป็นพวกร้านอาหาร อย่างเช่น ร้านซิซซ์เลอร์สั่งเดือนหนึ่ง 6-9 ตัน 60 สาขา และแม่ศรีเรือน ส่วนโรงแรมสามพรานฯ รับซื้อข้าวเปลือกแล้วนำมาสีเอง

คุณอดุลย์ บอกว่า ในแต่ละเดือนส่งข้าวขาย ประมาณ 50 ตัน เราทำในสเกลใหญ่เหมือนอุตสาหกรรมทำ มีโรงสีข้าวอยู่ 7 ที่ มีเครื่องปรับปรุงคุณภาพ 2 ที่ ใช้ตราวิสาหกิจร่วมใจรวงท้องทุ่ง แต่กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้มันก็ไม่ง่าย มีบางช่วงที่ทำให้ท้อมากคือ ช่วงที่เกษตรผลิตออกมาก แต่ทำตลาดไม่ได้ ไม่มีเงินกลับเข้ากลุ่ม ไม่มีเงินไปจ่ายค่าข้าว จึงต้องกู้เงินธนาคารมาซื้อผลผลิตไว้ แต่ตอนนี้ทำมา 3-4 ปี เกษตรกรเริ่มฝากน้ำหนักข้าวไว้ยังไม่รับเงินไป ต่างจากเมื่อก่อน

สิ่งสำคัญที่ทำให้กลุ่มสามารถส่งข้าวให้ได้ตามที่รับปากกับลูกค้านั้น คุณอดุลย์ให้ข้อมูลว่า กลุ่มมีทีมส่งเสริมการผลิต จะไม่ให้เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกปลูกได้ตามใจ ถ้าจะปลูกกินก็ปลูกตามใจชอบ ถ้าจะขายให้กับกลุ่มต้องให้โครงการกำหนด เช่น ปลูกหอมมะลิ ปี 3 ขึ้นไป ลูกค้าจะเอาออเดอร์หอมมะลิแดง มาตรฐานอียู ก็จะให้ปลูกตามนั้น ตรงนี้จะไม่มีการล้นตลาด เหมือนทางกลุ่มมาขายก่อน เช่น ที่โรงแรมก่อนปักดำจะมาคุยไว้ก่อนใครจะซื้อเท่าไร ประมาณการไว้ก่อน จะมีของไว้ขายเลยเพราะเป็นนาปี ซึ่งการขายตามออเดอร์นั้นสิ่งสำคัญคือ 1. มาตรฐานได้ 2. เครื่องจักรได้ 3. ส่งตรงเวลา ทั้งหมดต้องทำให้ได้ โดยทางกลุ่มมีรถขนส่งเอง

ประธานกลุ่มวิสาหกิจร่วมใจโนนค้อทุ่งให้ข้อมูลอีกว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธุรกิจขายข้าวของกลุ่มเติบโตประมาณปีละ 30-40% ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น แทบทุกบ้านมีรถปิกอัพไว้ใช้ มีเงินใช้หนี้ เกิดความหวงที่นาและใช้ประโยชน์จากที่นาเต็มที่ เพราะหลังจากปลูกข้าวนาปีเสร็จก็ปลูกพืชอื่นๆ เป็นรายได้เสริม อย่างพวกถั่ว ข้าวโพด แตงโม ทำให้มีรายได้เพิ่ม ซึ่งพืชบางชนิดขายได้ราคาดีกว่าข้าวเสียด้วยซ้ำ สมาชิกมีความสุขมากขึ้น รักที่นาและตั้งใจทำนา บางคนมีที่นาไม่กี่ไร่ ช่วง 2-3 ปีนี้ก็เก็บเงินไปซื้อที่นาเพิ่มขึ้น

 

ตั้งเป้าขายให้ผู้ส่งออก

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ เขาฉายภาพให้ฟังว่า ถ้าสมาชิกเพิ่ม พื้นที่เพิ่ม ข้าวเพิ่ม จะแจ้งไปยังสามพรานโมเดลให้ขยายไปทางโรงแรมอีก เช่น ที่หัวหินกับพัทยา พร้อมกันนี้สมาชิกในกลุ่มเริ่มปลูกพืชหลังนา อย่างหอม กระเทียม และอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม โดยจะเลือกปลูกพืชที่เก็บได้นาน เพราะจัดการได้ง่าย ทยอยส่งได้ ส่วนต่างประเทศตั้งเป้าจะส่งข้าวให้กับผู้ส่งออกปีละ 400 ตัน ให้กับประเทศสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์

“ปีนี้จะขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มอีก 200 รายจากที่มีอยู่เดิม และใช้ทุกมาตรฐาน GMP ออร์แกนิกไทยแลนด์ PGS EU ไอฟ่ม NOP แคนาดา ถ้าโรงแรมเขาอยากได้มาตรฐานไหนเราจะสามารถส่งข้าวให้ได้เลย แต่ราคาจะบวกลบตามค่าใช้จ่ายตามเส้นทาง ในส่วนสมาชิก 200 รายใหม่นี้อยู่ในช่วงระยะสับเปลี่ยนมาเป็นอินทรีย์ โดยมีคนเก่า 250 ราย และรวมกับเครือข่ายที่ส่งให้กับกลุ่ม 750 ราย ประมาณ 14,000 ไร่ ได้มาตรฐานทั้งหมดคืออียูไอฟ่ม”

คุณอดุลย์ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้เกษตรกรน่าจะเป็นผู้ประกอบการได้แล้ว ต้องเปลี่ยนความคิดของกลุ่ม กลุ่มไหนสามารถแปรรูปสีข้าวขายเองได้ ทางกลุ่มก็รับซื้อ โดยจะซื้อทั้งข้าวเปลือกและข้าวสารจากเกษตรกร แต่ต้องเป็นข้าวอินทรีย์เท่านั้น ขณะที่ทางกลุ่มจะดูแลเรื่องระบบรับรองให้ ถ้าเดินตามกลุ่มได้จะไม่คำว่าจน มีตลาดรองรับให้ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (085) 613-6985