ผ่าแผนรับมือวิกฤตแล้งสาหัส ประสานสิบทิศ-ลุ้นฝนพ.ค.

ผ่าแผนรับมือวิกฤตแล้งสาหัส : รายงานพิเศษเศรษฐกิจ – ช่วงฤดูแล้งจะกินเวลายาวนาน 6 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.-เม.ย. ซึ่งผ่านมาแล้ว 4 เดือนเศษ เริ่มเห็นสัญญาณความรุนแรงเกิดขึ้นในภาคอีสาน และภาคเหนือ เขื่อนหรืออ่างหลายแห่ง น้ำเริ่มแห้งขอดไม่มีน้ำใช้ อ่างกว่า 100 แห่งทั่วประเทศมีปริมาณน้ำเหลือใช้น้อยมากไม่ถึง 30% ของความจุ

ในจำนวนนี้มีอ่างขนาดใหญ่ อ่างขนาดกลาง 12 แห่งที่ไม่เหลือน้ำใช้แล้วโดยเฉพาะในภาคอีสาน

อ่างขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 35 อ่าง มีปริมาณน้ำ 46,606 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 66% ปริมาณน้ำใช้การ 23,063 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 49% ของความจุอ่างฯ ส่วนอ่างขนาดกลาง 419 แห่ง มีปริมาณน้ำ 2,856 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 51% ปริมาณน้ำใช้การหรือ 2,431 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุอ่างฯ

สำหรับอ่างขนาดกลาง 12 อ่าง ที่ไม่เหลือน้ำใช้แล้ว ในภาคอีสาน ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยทรายสว่าง สกลนคร 2.ห้วยหินแตก สกลนคร 3.ห้วยนาบ่อ สกลนคร 4.น้ำซับคำโรงสี สกลนคร 5.หนองสำโรง อุดรธานี 6.ห้วยจานใต้ ร้อยเอ็ด 7.หนองผือ ร้อยเอ็ด 8.ห้วยสวาย บุรีรัมย์ 9.ห้วยจระเข้มาก บุรีรัมย์ 10.ห้วยใหญ่ บุรีรัมย์ 11.ห้วยตะคร้อ นครราชสีมา และเขื่อนในภาคตะวันออก 1 เขื่อน อ่างเก็บน้ำคลองบอน จันทบุรี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สถานการณ์แล้ง 2562 มากกว่าปี 2561 แต่น้อยกว่าช่วงแล้งจัดเมื่อปี 2557 มีฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปี

เมื่อเทียบสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2561 และ 2562 พบว่าปริมาณน้ำลดลงจากปีก่อน คือจาก 71% ลดลงเหลือ 66% เช่นเดียวกับปริมาณน้ำใช้ จาก 38% เหลือ 33%

ที่ผ่านมามีมาตรการจัดสรรน้ำจากอ่างขนาด ใหญ่ทั้ง 35 แห่ง และทำการจัดสรรแล้วถึง 72% เป้าหมายหลักคือการรักษาปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้ทอดยาวไปจนถึงกลางเดือน พ.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝน

ยืนยันว่าทุกภาคจะไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ มีเพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หน่วยงานจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ

สําหรับอ่างที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ ภาคเหนือ 1 แห่ง แม่มอก 26 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 28% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง อุบลรัตน์ 84 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 5% สิรินธร 113 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10% ลำนางรอง 34 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 29% ห้วยหลวง 35 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 27%

ภาคกลาง 2 แห่ง ทับเสลา 23 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 16% และกระเสียว 26 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10% ขนาดกลาง 95 แห่ง ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75 แห่ง ภาคกลาง 13 แห่ง ภาคใต้ 2 แห่ง

ช่วงเวลาเดือนเศษ ก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง สทนช.และหน่วยงานน้ำทั้งหมด หารือร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ยอมรับว่ากังวลสถานการณ์เอลนิโญอ่อนๆ ส่งผลให้อากาศมีความร้อนรุนแรง ทำให้น้ำระเหยเร็วกว่าปกติ ในแต่ละวันสูญเสียน้ำจากความร้อนและระเหยกว่า 50 ล้านลบ.ม.

การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ สาขาที่มีความเสี่ยงช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 รวม 9 สาขา ได้แก่ 1.สุวรรณภูมิ (เกษตรวิสัย) ร้อยเอ็ด 2.พยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม 3.แม่ขะจาน (วังเหนือ) เชียงราย 4.ฝาง (แม่อาย) เชียงใหม่ 5.หนองบัวลำภู (นากลาง, ศรีบุญเรือง) 6.พิมาย (เมืองคง) นครราชสีมา 7.บุรีรัมย์ 8.เกาะพะงัน อาจต้องใช้น้ำสำรองและทำน้ำจืด 9.ลาดยาว นครสวรรค์

ปัจจุบันยังสามารถส่งน้ำได้ตามปกติ ยกเว้น สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด เริ่มมีการขาดแคลนน้ำแล้ว มาตรการแก้ไข โดยการสูบทยอยน้ำ จากลำห้วยเตา ที่อยู่ใกล้เคียง มายังจุดสูบน้ำดิบลำน้ำเสียวใหญ่ ระดับน้ำ 0.8 เมตร และจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาล จะกำหนดพื้นที่เพาะปลูก ตามศักยภาพของน้ำต้นทุนแล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามี 31 จังหวัด ที่ปลูกพืชมากกว่าแผนที่กำหนด ส่วนใหญ่อยู่บริเวณเหนือ จ.นครสวรรค์ ที่เกิดปัญหาการสูบน้ำไปใช้ในการเพาะปลูก เมื่อมีการระบายน้ำจากเขื่อน

กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ปัญหาด้วยการกวดขันการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานมากขึ้น พร้อมร่วมขับเคลื่อนเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ประกาศไม่สนับสนุนการปลูกพืชฤดูแล้ง ให้ปลูกพืชฤดูแล้ง ที่ใช้น้ำน้อยในพื้นที่รับน้ำจาก 4 เขื่อน ได้แก่ ทับเสลา กระเสียว ลำนางรอง และลำพระเพลิง

“มีการเพาะปลูกเกินแผนไปแล้วมากกว่า 1.1 ล้านไร่ อาจแบ่งสรรน้ำจากที่สำรองไว้ ก่อนถึงเดือนพ.ค. มาช่วยเหลือ ต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรช่วยประหยัดน้ำ และต้องอาศัยบุคลากรจากกรม ส่งเสริมการเกษตร และกรมชลประทาน ใช้ระบบควบคุมและจัดระเบียบการใช้น้ำให้มากขึ้น ไม่ปลูกเพิ่มอีก”

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สั่งการให้ประเมินผลกระทบฤดูแล้ง ที่อาจมีต่อผลผลิตด้านการเกษตร หากประเมินจากข้อมูลน้ำต้นทุน ปีนี้แล้งจะกระทบผลผลิตด้านการเกษตรน้อย หรืออาจไม่กระทบกับเป้าจีดีพีภาคเกษตร

“รัฐบาลมีแผนรับมือน้ำท่วม น้ำแล้งค่อนข้างดี จากประสบการณ์น้ำท่วมหนักปี 2554 และน้ำแล้งหนักในปี 2557-59 ดังนั้นผลผลิตข้าวปีนี้ได้รับ ผลกระทบน้อย กระทรวงเกษตรมีแผนข้าวครบวงจร มีแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในช่วงที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ มหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตร มีระบบเตือนภัย รับมือภัยแล้ง หากเกษตรกรเชื่อฟัง จะได้รับความ เสียหายน้อย ถ้าไม่เชื่อจะไม่มีน้ำสนับสนุน ก็จะเสียหาย”

กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจการทำนาปรังรอบ 2 ที่เกินกว่าแผน 1.21 ล้านไร่ แยกเป็น ในเขตชลประทานประมาณ 1 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.1 แสนไร่นั้น ทางกรมชลประทานแจ้งว่า การทำนาปรังในเขตชลประทาน สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเพียงพอ จนถึงการเก็บเกี่ยวช่วง เม.ย.

ดังนั้น เหลือเพียงพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ต้องเฝ้าระวัง 4-5 หมื่นไร่เท่านั้น ซึ่งอยู่ในอัตราที่ไม่มาก โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง กรณีที่เกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิงก็จะใช้การช่วยเหลือตามระเบียบราชการ ต่อไป

สำหรับการปลูกข้าวโพดหลังนา 9 แสนไร่ ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเกษตรกรได้ทยอยเก็บเกี่ยวไปแล้วตั้งแต่เดือน ม.ค. ส่วนที่ยังค้างอยู่ในแปลงเป็นช่วงรอเก็บเกี่ยว จึงไม่ต้องการน้ำอีก

เช่นเดียวกับกลุ่มพืชตระกูลถั่ว ที่อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวเช่นกัน โดยกลุ่มพืชอายุสั้น ไม่น่าห่วงเรื่องการขาดแคลนน้ำ เพราะเกษตรกรวางแผนเก็บเกี่ยวได้ทัน ก่อนจะเกิดภัยแล้ง มีเพียงนาปรังที่เกินแผนเท่านั้นที่ยังเสี่ยงอยู่ แต่ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไม้ยืนต้น ผลไม้ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะจะขาดน้ำไม่ได้ ได้ประสานกับกรมชลประทาน ส่งรถบรรทุกน้ำเข้าไปในพื้นที่ ในปี 2558 ที่แล้งจัด เกิดปัญหามากในพื้นที่ภาคตะวันออก การใช้รถบรรทุกน้ำถือว่าได้ผล จากนั้นเป็นต้นมา เกษตรกรได้พัฒนาแหล่งน้ำเป็นของตนเอง โดยเชื่อมอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทำให้รับน้ำได้มากขึ้น ต้องดูเป็นรายพื้นที่ไป

ด้าน นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานถึงผลกระทบ เนื่องจากภาคปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคการเกษตรอื่นๆ ในกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม กำหนดให้ต้องมีแหล่งน้ำเป็นของตนเองจึงไม่น่าห่วง

แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือเกษตรทั่วไป ซึ่งสั่งการไปยังปศุสัตว์อำเภอให้เข้าไปดูแล คาดว่าหลังจากเดือน เม.ย.เป็นต้นไป หากฝนยังไม่ตกจะเกิดปัญหากับสัตว์ใหญ่ เช่น โค กระบือ เป็นต้น อาจต้องใช้รถขนน้ำเข้าไปช่วย

หนึ่งเดือนเศษก่อนที่คาดว่าฝนจะมา รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ระดมแผนรับมือภัยแล้งเพื่อไม่ให้สถานการณ์ซ้ำรอย น้ำประปาไม่ไหล ข้าวยืนต้นตาย

แต่ทั้งหมดจะได้ผลดีต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชน

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์