วว.วิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผลผลิตด้านการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนาด้วย วทน.

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงนามบันทึกข้อตกลง “วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และผลผลิตด้านการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)” อาทิ การพัฒนาเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืช การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันเมล็ดพืชต่อผิวหนังและการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิว การศึกษาความเป็นไปได้การเพาะปลูกวานิลลาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมันมูลนิธิชัยพัฒนา ในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและ วว. ในครั้งนี้มีระยะเวลา 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการตามยุทธศาสตร์ของทั้งสองหน่วยงาน ในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรของชุมชนหรือท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพผลผลิตด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนหรือท้องถิ่น รวมทั้งร่วมกันวิจัยพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพของชุมชนและท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีโครงการวิจัยนำร่องเพื่อดำเนินงานร่วมกัน ดังนี้

การพัฒนาเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืช โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของมูลนิธิในการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์พืช/ข้าวเปลือก เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกหรือเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน มีประสิทธิภาพสูง เป็นนวัตกรรมช่วยประหยัดพลังงาน  ช่วยลดระยะเวลาในการอบเมล็ดพันธุ์

การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันเมล็ดพืชต่อผิวหนังและการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิว โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ในการศึกษาฤทธิ์ น้ำมันเมล็ดไนเจอร์ น้ำมันเมล็ดงาม้อน และน้ำมันเมล็ดมะรุม เพื่อประเมินฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษของน้ำมันจากเมล็ดพืชต่อการทำงานของเซลล์ผิวหนัง และเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิวและเวชสำอางจากน้ำมันเมล็ดพืช ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำมันเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิวและสามารถเพิ่มอัตราการผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกได้อย่างยั่งยืน

การศึกษาความเป็นไปได้การเพาะปลูกวานิลลาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน ภายใต้มูลนิธิชัยพัฒนา จะทดลองปลูกวานิลลาในพื้นที่ป่าของศูนย์วิจัยฯ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อใช้เป็นสถานที่ทดสอบและเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และสถานที่ส่งเสริมและพัฒนาไปยังเกษตรกรที่สนใจในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพาะปลูกวานิลลาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ป่าธรรมชาติบางส่วนเมื่อระบบน้ำมีความพร้อม เพื่อจำลองปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของวานิลลา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการปลูกร่วมกับร่มเงาป่าธรรมชาติสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป