มช. นำเสนอ สู่ก้าวใหม่พืชสวนไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 17 “สู่ก้าวใหม่ของพืชสวนไทย” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพจัดงาน การจัดประชุมพืชสวนแห่งชาติ เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2544 โดยสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มการดำเนินงาน มีการประชุมต่อเนื่องทุกปีและหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละภูมิภาค ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการสร้างเครือข่าย ครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนางานวิชาการทางด้านพืชสวน

การตรวจสอบคุณภาพผลผลิตเกษตร

ในงานนี้ได้จัดให้มีการนำเสนอทางวิชาการในห้องประชุมและการจัดและสาธิตแสดงผลงาน ทั้งภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ และสถาบันการศึกษา เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำเสนอ

การเปลี่ยนยอดพันธุ์อะโวกาโด…เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดเพื่อเป็นต้นตอ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คัดเลือกที่แข็งแรงสมบูรณ์ ขนาดต้นประมาณ 1 เซนติเมตร ตัดต้นตอให้สูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทำแผลต้นตอแบบผ่าฝานบวบ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ตัดกิ่งพันธุ์ดียาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ให้มีตาติด 2-5 ตา ทำแผลกิ่งเป็นรูปลิ่มยาวเท่าแผลที่ต้นตอ เสียบกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลของต้นตอ พันพลาสติกหรือพาราฟิล์มให้แน่น ประมาณ 15 วัน ตาที่ยอดพันธุ์ดีจะแทงทะลุแผ่นพาราฟิล์ม นำไปปลูกพักฟื้นในที่ร่ม อายุประมาณ 45-60 วัน ต้นพันธุ์อะโวกาโดพร้อมนำไปปลูก

การปลูกทิวลิปด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์

เสาวรสเปลี่ยนยอด…พันธุ์เสาวรสหวาน ได้มาจากการคัดเลือกจากต้นเพาะเมล็ดที่ได้จากสายพันธุ์ของประเทศไต้หวัน เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมในการรับประทานผลสด ผลสุกมีรสชาติหวาน มีกลิ่นหอม แต่การคัดเลือกจากเมล็ดอาจมีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงเกิดการทดลองเป็นการนำยอดเสาวรสที่เกิดจากการนำพันธุ์ดีมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จนได้ขนาดที่เหมาะสม นำมาเสียบยอดกับต้นตอที่เพาะให้เป็นต้นตอ ทำให้ได้ต้นเสาวรสตรงตามสายพันธุ์ที่ต้องการ ไม่มีโรครบกวน ให้ผลผลิตสูง

คัดเลือกพันธุ์ถั่วแขก…เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร ให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง สามารถปลูกพืชร่วมกันในพื้นที่ป่าได้อย่างยั่งยืน พืชผักจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะถั่วแขก เป็นพืชที่มีความหวานกรอบ รสชาติเอร็ดอร่อย นอกจากใช้บริโภคภายในครอบครัวแล้ว ตลาดยังมีความต้องการสูง จึงทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้จากการปลูกถั่วแขกเป็นประจำตลอดทั้งปี สายพันธุ์ที่ได้คือ พันธุ์ CB-59-01 พันธุ์ CB-59-02 พันธุ์ CB-59-03

การเปลี่ยนยอดพันธุ์อะโวกาโด

การออกแบบบรรจุภัณฑ์องุ่น…องุ่น เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีปัญหาเรื่องการขนส่งมาโดยตลอด เนื่องจากมีผิวที่บางมากกว่าพืชอื่น ปกติจะบรรจุด้วยถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมที่จำหน่ายทั่วไป ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านราคา คุณภาพผลผลิต การขนส่ง จึงได้มีการออกแบบให้เหมาะสม เป็นการบรรจุพวงองุ่นทั้งพวงหลังการเก็บเกี่ยว คงรูปทรงพวงองุ่นที่สวยงามในบรรจุภัณฑ์ สามารถรองรับน้ำหนักต่อชั้นในการขนส่ง ฝาปิดเปิดบรรจุภัณฑ์แน่นหนาแข็งแรง มีรูระบายอากาศตลอดทั้งบรรจุภัณฑ์ ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

แมลงอุตสาหกรรม ชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว…เป็นแมลงตระกูลเดียวกับผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กไน อาศัยอยู่ตามธรรมชาติทั่วทุกภูมิภาคของไทย เป็นแมลงผสมเกสรแก่ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผัก เกษตรกรสามารถนำรังของชันโรงไปวางไว้ในพื้นที่ของตนเอง ยังช่วยให้เกิดรายได้จากการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งของชันโรง อีกทั้งราคาสูงกว่าน้ำผึ้งด้วย ใช้บริโภคโดยตรง นำไปแปรรูปได้หลายชนิด จิ้งหรีด เป็นแมลงที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย มีวงจรชีวิตสั้น ให้ผลผลิตมาก อัตราการวางไข่สูง เป็นแมลงที่มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับไข่ไก่และนมถั่วเหลือง ปัจจุบันการเลี้ยงจิ้งหรีดได้รับความนิยมเลี้ยงกันมาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ได้มีการกำหนดมาตรฐานการจัดการเลี้ยงจิ้งหรีดให้มีความเหมาะสม และใช้วัสดุที่ปลอดภัยในการเลี้ยง นำไปแปรรูปเป็นจิ้งหรีดแช่แข็ง จิ้งหรีดผง จิ้งหรีดทอดกรอบ ใช้ผสมกับแป้งในการทำขนมต่างๆ

Advertisement
คัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืช

การตรวจสอบคุณภาพผลผลิตเกษตรแบบไม่ทำลายด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปกโทรสโกปี…เป็นเทคนิคการตรวจสอบที่ไม่ทำลายตัวอย่างที่นำมาทดสอบ โดยใช้หลักการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื่องจากโครงสร้างโมเลกุลของสารที่อยู่ในผลผลิตเกษตร สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาและแรงงาน ลดการใช้สารเคมีในการตรวจสอบ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ตรวจสอบผลผลิตเกษตรได้หลายชนิด เช่น มะม่วง ส้ม สับปะรด มะละกอ ข้าว ข้าวโพด และถั่วเหลือง

การปลูกหัวดอกทิวลิปด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์…สามารถทำได้ทั้งการปลูกเพื่อจำหน่ายและการขยายพันธุ์

Advertisement

การทำหัวเชื้อฮอร์โมน…ผลิตฮอร์โมนเพื่อเป็นการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช พืชสามารถดูดซับอาหารได้มากขึ้น

เครื่องผลิตน้ำอิเล็กโทรไลต์

เครื่องผลิตน้ำอิเล็กโทรไลต์…เป็นผลงานคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการผลิตน้ำ โดยมีระบบไฟฟ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการแยกสลายสารโดยใช้น้ำเกลือลงไปผ่านขั้วไฟฟ้าบวกและลบ เป็นเครื่องที่ได้จากการประยุกต์จากการทำวิจัยร่วมมือกันของ ผศ.ดร. กานดา หวังชัย ภาควิชาชีววิทยา และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และ ผศ. สาธิต ปิยนลินมาศ

ความร่วมมือด้านการวิจัยกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ…โครงการศูนย์บริการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2523 จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้ ดร. พิศิษฐ์ วรอุไร อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยคัดเลือกพืชพันธุ์ดี เพื่อนำไปส่งเสริมให้ราษฎรในถิ่นทุรกันดารได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากสมัยก่อนพืชพันธุ์ดีหายากมาก ต่อมาได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน จนถึงปัจจุบันนี้

งานวิจัยข้าวก่ำ มช. 107

นอกจากผลงานที่ได้นำเสนอแล้ว ยังมีผลงานศึกษาวิจัยอีกหลายแขนงสาขา เช่น การรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชดั้งเดิม การวิจัยข้าวก่ำ มช. 107 การผลิตยอดพืชสีเขียว ที่นิยม ได้แก่ ยอดถั่วลันเตา สบู่โปรตีนจากน้ำผึ้ง ฯลฯ ท่านที่สนใจผลงานศึกษาวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถติดต่อได้ที่ (084) 608-9915, (083) 570-2224

น้ำผึ้งจากชันโรง
สบู่โปรตีนไหม