กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น จับมือ ม.เกษตร เร่งยกระดับยางพารา ปาล์มน้ำมัน

กลุ่มไทยอีสเทิร์น จับมือ ม.เกษตร เดินหน้ายกระดับยางพารา ปาล์มน้ำมัน วางเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน คาดมูลค่าทะลุกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ บริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด กับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ การทําวิจัยด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ความร่วมมือครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมโดยรวม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพาราและปาล์มน้ำมัน ได้แก่ 1. ด้านองค์ความรู้ เช่น การคิดค้นหลักสูตรเพื่อสร้างบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมเกษตรด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตต่อไป 2. ด้านงานวิจัย จะร่วมกันวิจัย คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือและขยายผลสู่ระดับสากลในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัทฯ “Your Global Partner for Sustainability” (พันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกที่ยั่งยืน)

กลุ่มบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป เริ่มต้นจากครอบครัวเกษตรกร พัฒนาสู่อุตสาหกรรมเกษตรด้วยการก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม เมื่อปี 2535 เพื่อรองรับผลผลิตที่จังหวัดชลบุรี และขยายสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง ยางแท่งเกรดพิเศษ รวมถึงขยายพื้นที่เพาะปลูก ขยายสาขา ขยายกำลังการผลิต ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมี 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พลังงาน ขนส่ง และธุรกิจสำหรับร่วมทุน

โดยถือว่า กลุ่มบริษัทเป็นโรงงานยางแท่งที่ใหญ่สุดในภาคตะวันออก และเป็นกลุ่มที่ผลิตน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) ที่ใหญ่สุดในประเทศไทย โดยมีโรงงานยางในภาคตะวันออก 3 โรง โรงงานปาล์มน้ำมัน 2 โรง ในภาคอีสาน 3 โรงงาน นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท ยังดำเนินธุรกิจ logistic เพื่อสนับสนุนการขนส่ง สร้างความสะดวกให้กับเกษตรกรผู้ผลิต มีจุดรับซื้อวัตถุดิบทั้งภาคกลาง ตะวันออก อีสาน เหนือ ครบวงจร

สำหรับธุรกิจสายยางนั้น จะเน้นลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของลูกค้าในระดับ Global Brand เช่น กลุ่มผลิตยางล้อรถยนต์ บริดจ์สโตน มิชลิน Pirelli Apollo Continental Sumitomo รวมถึงกลุ่มถุงมือยาง ในส่วนสายปาล์มน้ำมัน กลุ่มบริษัทจัดส่งให้ผู้ผลิตทั้งที่เป็นกลุ่มผลิตน้ำมันปรุงอาหาร และกลุ่มผลิตน้ำมัน B100 ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระดับ Top 5 ของประเทศ ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้าของกลุ่มบริษัท เนื่องจากกลุ่มบริษัทมีการบริหารจัดการที่ดี ภายหลักใต้ธรรมาภิบาล ทำให้เกิดเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระดับโลกที่ที่ยั่งยืน นั่นหมายความว่า จะเป็นพันธมิตรที่ก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไปในอนาคต

นายเฉลิม กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทมียอดขายรวมทั้งยางพาราและสายปาล์มน้ำมันกว่า 8,000 ล้านบาท โดยเฉพาะธุรกิจยางพารา ซึ่งได้ขยายกำลังการผลิตยางแท่งจากเดิมเพิ่มขึ้นมาอีก 30% และในปีนี้มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นมาอีก 50% รวมไปถึงแผนในการขยายกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพในสายพลังงานอีกด้วย

การเติบโตของกลุ่มบริษัทแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนนั้นนอกจากจะเกิดจากการบริหารจัดการที่ครอบคลุม ทันสมัย และมีธรรมาภิบาลแล้ว สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือการสร้างเสริมบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะการจัดการที่ตรงตามสายงาน ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมการเกษตรโดยตรง รวมถึงการเดินหน้างานวิจัยและพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม

ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ แม้ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้ แต่สามารถประเมินค่าความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นได้ และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าการลงทุนภายในเขตประกอบการเพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท

“ประเทศไทยมีเศรษฐกิจรากฐานกว่า 70% เป็นอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านกายภาพ คือ ดินที่เอื้อต่อการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่มีคุณภาพดีได้ แต่เรายังตามหลังนานาชาติในเรื่องของเทคโนโลยี ความรู้ การวิจัย รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ อยู่ ทั้งที่ประเทศไทยมีดินดำ น้ำชุ่ม อากาศดี ขณะที่ต่างชาติมีเพียงเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ไม่สามารถนำดินดำน้ำชุ่มไปใช้ได้ ซึ่งเราสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสู่ดินดำน้ำชุ่มของไทยได้” นายเฉลิม กล่าว

อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์นฯ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน และพัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐานและห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของ ม.เกษตรศาสตร์ ในความร่วมมือครั้งนี้ว่า มก. ทำหน้าที่ 1. จัดทำหลักสูตรการสอนทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน 2. จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน

3. จัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม เพื่อเป็นประธานหลักสูตรทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน 4. ศึกษา วิจัย และพัฒนางานวิจัยทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมถึงจัดหานักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมมาทำงานวิจัย 5. จัดหาเครื่องมือ สถานที่ และบุคลากรให้มีความพร้อมในการรับบริการทดสอบตัวอย่าง

ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวัสดุยางและพอลิเมอร์เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม (RPM) สังกัดภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชน โดย นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ในความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า 1.ให้การสนับสนุนในการจัดทำหลักสูตรการสอนทางด้านยางพาราและปาล์มน้ำมัน 2.จัดเตรียมหัวข้อวิจัยและแนวทางการจัดการด้านทุนวิจัยสำหรับดำเนินการวิจัย 3. ให้การสนับสนุนในการส่งตัวอย่างทดสอบของหัวข้อวิจัย ทั้งนี้ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่เกิดขึ้นภายใต้บันทึกความร่วมมือข้อตกลงให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย ฝ่ายละร้อยละ 50 มีระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว