ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ในช่วงปีที่ผ่านมา “สินค้าเกษตรอินทรีย์” ติดโผสินค้าขายดีอันดับต้นๆ ของภาคเกษตรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพืชผัก ธัญพืชและผลไม้นานาชนิด ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิก) เช่น ข้าว ผักปลอดสารพิษ มังคุด ทุเรียน ลำไย ฯลฯ มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก
ยอดขายดี ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องอาหารอย่างเดียว ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ พืชสมุนไพร ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากระบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งกระแสท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism) ก็ขายดีด้วยเช่นกัน สอดคล้องกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาดูแลเอาใจใส่สุขภาพกันเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกชนิดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี คาดว่า ในปี 2562 ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% เพราะทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคเอง ต่างตื่นตัวในเรื่องสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
เลมอน ฟาร์ม
“ร้านเลมอน ฟาร์ม” เป็นองค์กรของสมาชิกและผู้บริโภคที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตในชนบทกับผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นการผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษที่ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร สร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้บริโภค ที่ยึดหลักชีวจิต แม็คโครไบโอติกส์
ที่ผ่านมา เลมอน ฟาร์ม จะจัดส่งทีมงานไปชักชวนเกษตรกรในท้องถิ่นต่างๆ ปรับตัวเข้าสู่การผลิตเกษตรอินทรีย์ ในมาตรฐาน Lemon Farm Organic PGS ทำให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากการปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ ท่ามกลางภาวะภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรเดิมและเกษตรกรหน้าใหม่มีรายได้ที่ดีบนฐานเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลาย และสร้างสินค้าเกษตรที่ไม่ทำร้ายสุขภาพและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
ในปีนี้ เลมอน ฟาร์ม พัฒนาเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ PGS ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้ Lemon Farm Organic PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างกระบวนการสุขภาพดีแก้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะการกินอาหารที่มากเกินไป โดย เลมอน ฟาร์ม และ สสส. ต้องการใช้อาหารเกษตรอินทรีย์แก้โรค NCDs พร้อมกับช่วยสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรายย่อยไปพร้อมๆ กัน
เลมอน ฟาร์ม ได้เริ่มต้นโครงการนี้ ตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ดำเนินการในอำเภออู่ทอง และอำเภอด่านช้าง ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งทองยั่งยืน มีสมาชิกเกษตรกรอินทรีย์ 31 ราย พื้นที่อินทรีย์ 247 ไร่ และกลุ่มรักษ์ด่านช้าง สมาชิก 6 ราย พื้นที่อินทรีย์ 30 ไร่
การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ Lemon Farm Organic PGS Model มีหลักการสำคัญคือ การดำเนินการส่งเสริมตลาดห่วงโซ่, การใช้ตลาดนำการผลิต, การเติมองค์ความรู้การผลิตบนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ PGS, การจัดการผลผลิต และสร้างความเข้มแข็งของระบบกลุ่ม เพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์ทำได้ยั่งยืนต่อเนื่อง โดยกลุ่มที่สำเร็จจะมีลักษณะที่สำคัญคือ การมีผู้นำที่เสียสละ และกลุ่มที่เข้มแข็งจริงจังบนวิถีเกษตรอินทรีย์และมุ่งสู่วิถียั่งยืน
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร รวมแล้วปีละกว่า 5.5 ล้านบาท และเกิดการสร้างอาหารอินทรีย์หลากหลาย ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ ขนมไทยอินทรีย์ แก่ผู้บริโภค ทั้งในเมืองและในท้องถิ่น และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงแก่เกษตรกรในด้านการเลี้ยงชีพที่มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น ลดความเสี่ยง โดยเฉพาะเกษตรกรนาข้าวที่เผชิญภาวะภัยแล้ง ซึ่งทำให้ผลิตข้าวได้ลดลงเหลือเพียง 1-2 รอบ ต่อปี จากเดิมที่เคยทำนาได้ 3 รอบ ต่อปี เมื่อเกษตรกรปรับเปลี่ยนที่นาเป็นอินทรีย์ และเปลี่ยนที่นาเป็นสวนผักผลไม้อินทรีย์ ทำให้สุขภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน มีรายได้มั่นคงและมีอาหารกิน ลดการซื้อภายนอกตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ลดหนี้ได้ ทั้งเพิ่มความเข้มแข็งของกลุ่มและชุมชน และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
สสส. และ เลมอน ฟาร์ม มีเป้าหมายขยายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในอำเภออู่ทอง อำเภอด่านช้าง ในจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพและเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรรายย่อยให้มั่นคงขึ้น ปัจจุบัน เลมอน ฟาร์ม ดำเนินการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน PGS ใน 14 กลุ่ม พื้นที่ 3,000 ไร่
กลุ่มรักษ์อินทรีย์ PGS ด่านช้าง สุพรรณบุรี
“กลุ่มด่านช้าง” เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 โดย พ่อประเสริฐ จันทร์ไกร และเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์มารวมกลุ่มกัน โดยมีผู้ประสานงานทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตและช่วยทำการตลาดให้ แต่ต่อมากลุ่มต้องยุติการทำงาน ในปี 2558 เนื่องจากประสบปัญหาถูกคนกลางเอาเปรียบด้านราคาผลผลิตและการจ่ายเงินที่ไม่โปร่งใส
ต่อมา เลมอน ฟาร์ม เริ่มเข้าไปช่วยจัดตั้งกลุ่มใหม่ด้วยกระบวนการ PGS ในปี 2558 ทำให้กลุ่มมีระบบโครงสร้างบริหารงานและกระบวนการจัดการผลผลิตผ่านกลุ่มที่เป็นธรรม ในปี 2561 กลุ่มด่านช้าง มีสมาชิกจำนวน 6 ครอบครัว เนื้อที่รวม 29.8 ไร่ เกิดรูปแบบองค์กรขนาดเล็กพึ่งพาตนเองได้ มีผู้นำกลุ่มที่เป็นธรรม สร้างผลผลิตต่อปี 18 ตัน แบ่งเป็น ผัก 16 ตัน และผลไม้ 2 ตัน
พ่อประเสริฐ เล่าว่า เดิมผมเช่าที่จากนายทุน ปลูกข้าวโพดโดยใช้สารเคมี บนพื้นที่ 60 ไร่ แต่ทำแล้วขาดทุน มีหนี้สินก้อนโต วันหนึ่งลูกชายคนเล็กมีโอกาสไปเรียนรู้การปลูกผักอินทรีย์ ก็นำความรู้กลับมาทดลองปลูกผักอินทรีย์บนที่ดิน 3 งาน เพื่อเป็นอาหารในครอบครัว ปรากฏว่าได้ผลผลิตจำนวนมาก จึงขยายพื้นที่ปลูกและหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง
ปัจจุบัน พ่อประเสริฐทำงานร่วมกับ เลมอน ฟาร์ม มา 18 ปี เป็นเกษตรกรกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มผลิตพืชผักอินทรีย์ เคยได้รับการรับรองมาตรฐาน IFOAM, Organic Thailand พ่อประเสริฐผลิตพืชอินทรีย์ในมาตรฐาน Lemon farm Organic PGS สามารถปลดหนี้สินที่มีอยู่และยังสามารถซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง
พ่อประเสริฐ ทำเกษตรอินทรีย์บนที่ดิน 10 ไร่ ปลูกผัก 30 ชนิด แบบขั้นบันไดเพื่อทำเกษตรแบบผสมผสาน สภาพดินได้รับการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทุกวันนี้ฟาร์มผักอินทรีย์ของพ่อประเสริฐมีระบบนิเวศภายในฟาร์มสมดุล สามารถผลิตพืชได้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตภายนอก ไม่ถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชจนทำให้เสียหายรุนแรง กระทั่งสั่งสมองค์ความรู้และประสบการณ์ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้เกษตรกรในชุมชนและผู้ที่สนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในฟาร์ม กลับมาสู่สมดุลธรรมชาติโดยแท้จริง
สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่
โครงการดังกล่าวของ เลมอน ฟาร์ม นอกจากสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรรายเก่าแล้ว ยังช่วยสร้างงานและอาชีพให้แก่เกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าสู่ภาคการเกษตรแบบมีอนาคต และสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดได้ เกษตรกรหลายรายสามารถชักชวนลูกชาย ลูกสาว กลับบ้านได้ เป็นกำลังสำคัญและเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ให้แก่ประเทศบนวิถีเกษตรอินทรีย์
“พี่งามตา ทองดียิ่ง” หนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ก้าวเข้าสู่โครงการเกษตรอินทรีย์กับ เลมอน ฟาร์ม เธอเรียนจบปริญญาตรี วิทยาศาสตร์เคมี หลังจากเรียนจบก็ได้ทำงานประจำในเมืองหลวงนาน 10 ปี พอถึงจุดๆ หนึ่ง เธอมีความรู้สึกว่าเบื่อกับงานที่ทำ จึงตัดสินใจกลับบ้าน โดยเริ่มต้นจากการทำแปลงเกษตรเล็กๆ ไว้บริเวณบ้านเพื่อที่จะเก็บกินเอง พอมีโอกาสได้ไปงานกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน จังหวัดสุพรรณบุรี
พี่งามตา ได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์จาก พ่อมานิตย์ แทนเพชร เกษตรกรที่กล้าหาญเปลี่ยนที่นาเป็นสวน หันมาปลูกผักอินทรีย์จนกลายเป็นกูรูนักปลูกผักของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน และได้พูดคุยกับ พ่อปัญญา ใคร่ครวญ ผู้นำกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ทุ่งทองยั่งยืน ทำให้พี่งามตาเข้าใจหลักธรรมชาติ เข้าใจต้นทุนการปลูกผักอินทรีย์อยู่ได้อย่างพอเพียง
หลังจากพี่งามตาได้พูดคุยกับ พ่อมานิตย์ และลุงปัญญาแล้ว เธอเกิดแรงบันดาลใจอยากปรับพื้นที่ของตนเอง ปรับผืนนาให้เป็นสวนผสมผสาน มีทั้งนา น้ำ มีผักและผลไม้ จำนวน 9 ไร่ แม้จะเป็นมือใหม่ที่เริ่มทำอินทรีย์ แต่เธอมั่นใจว่าระบบกลุ่มจะช่วยให้ทำได้สำเร็จ และมั่นใจว่าการทำเกษตรอินทรีย์นี่แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเธอทำแล้วมีความสุข สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคงได้
เกษตรกรรุ่นใหม่อีกราย คือ พี่ออย หรือ คุณจิราภัทร ปานสูง เธอเคยทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนมาก่อน จนถึงจุดที่เริ่มคิดถึงความไม่มั่นคงในงาน เธอจึงอยากที่จะหาอาชีพเสริมและสนใจการทำเกษตรแบบพอเพียง โดยเริ่มเรียนรู้จากสื่อต่างๆ และเริ่มทดลองปลูกผักกินเอง เธอมีโอกาสพูดคุยกับพี่งามตา ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในที่ทำงานเดียวกัน ได้แนะนำให้เธอรู้จักกับกลุ่มทุ่งทองฯ โดยได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกลุ่ม การประชุม ช่วยแพ็กผัก ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและเห็นถึงการตลาดที่ชัดเจน
พี่ออย จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำทันที โดยลงมือปลูกผักอินทรีย์บนพื้นที่เพียง 200 ตารางเมตร แต่เธอสามารถผลิตผักสลัดได้ถึง 25 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ แม้จะมีพื้นที่น้อย แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตเลย เธอโชคดีมีพ่อปัญญาและสมาชิกกลุ่มคอยเป็นพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นเกษตรกรน้องใหม่ไฟแรงที่เป็นอีกแรงหนุนสำคัญในการร่วมพัฒนากลุ่มอย่างต่อเนื่อง