ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ |
เผยแพร่ |
โรคใบด่างมันสำปะหลัง ถือเป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญของมันสำปะหลัง หากเกิดขึ้นแล้วหมายถึงการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในทวีปแอฟริกาและแถบคาบสมุทรอินเดีย
มีรายงานจากต่างประเทศแถบแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม และกัมพูชา พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำลายผลผลิตมันสำปะหลังมากถึง 88 เปอร์เซ็นต์
ในประเทศไทยไม่เคยปรากฏการเกิดโรคใบด่างมันสำปะหลังมาก่อน จากรายงานกลุ่มงานไวรัสวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ว่า โรคใบด่างมันสำปะหลังมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส ในจีนัส (genus) Begomovirus ไวรัสชนิดนี้มีรายงานว่า มีทั้งหมด 12 ชนิด โดย 10 ชนิด ก่อความเสียหาย 80-100 เปอร์เซ็นต์ ในหลายประเทศทางแอฟริกา เช่น ยูกันดา แทนซาเนีย แซมเบีย มาดากัสการ์ บูร์กินาฟาโซ มาลาวี และซิมบับเว เป็นต้น ส่วนในทวีปเอเชียพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพียง 2 ชนิด คือ อินเดียน คาสซาวา โมเซอิค ไวรัส (ICMV) ในประเทศอินเดีย และศรีลังกา คาสซาวา โมเซอิค ไวรัส (SLCMV) พบมีการระบาดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม และกัมพูชา ปรากฏความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังมากถึง 88 เปอร์เซ็นต์
คุณภูวนารถ มณีโชติ นักวิชาการโรคพืชชำนาญการ กลุ่มงานไวรัสวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช กล่าวว่า เมื่อปี 2558 มีรายงานการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดรัตนคีรี ประเทศกัมพูชา ได้มีการนำไปวิเคราะห์พบว่าเกิดโรคเชื้อไวรัสชนิด ศรีลังกา คาสซาวา โมเซอิค ไวรัส (SLCMV) และได้มีการประกาศว่าในประเทศกัมพูชามีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส SLCMV นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2560 มีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังชนิดนี้ในจังหวัดเตนินห์ บริเวณภาคใต้ของประเทศเวียดนาม มีการระบาดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูก และคาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นอีกถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูการปลูก ปี 2561/2562 และได้มีการระบาดออกไปอีก 11 จังหวัด ของประเทศเวียดนามรวมทั้งโฮจิมินห์ด้วย
ประเทศไทย เตรียมการเฝ้าระวังสกัดกั้นไม่ให้เข้ามา
คุณภูวนารถ กล่าวต่อไปว่า กรมวิชาการเกษตร มีความกังวลเกรงว่าโรคใบด่างมันสำปะหลังจะระบาดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่การระบาดในประเทศกัมพูชาอยู่ใกล้ชายแดนของประเทศไทย จึงเตรียมการสกัดกั้นไม่ให้โรคใบด่างมันสำปะหลังเข้ามาในประเทศไทย โดยเฝ้าระวังคอยสำรวจแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกร จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมาได้มีการตรวจพบต้นมันสำปะหลังของเกษตรกรมีลักษณะอาการคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 2 ต้น
และพบที่ อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เราได้ทำการสำรวจต้นมันสำปะหลังในรัศมี 5 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 60 ไร่ จึงได้ทำลายทั้งหมดโดยการไถแล้วฝังกลบ เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม แม้จะพบเพียง 2 ต้น จะใช่โรคใบด่างหรือไม่ก็ตาม เมื่อมีอาการและลักษณะคล้ายโรคใบด่างมันสำปะหลัง ก็จำเป็นต้องทำลายทั้งแปลง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายออกไป
โชคดีที่เกษตรกรยินยอมให้ทำลายทั้งแปลง เมื่อเราชี้แจงถึงความเสียหายที่จะเกิดในบ้านเรา คุณภูวนารถ บอกพร้อมกับยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศกัมพูชา เช่น จังหวัดรัตนคีรี เสียมราฐ อุดรมีชัย กำปงธม กำปงจาม และตโมงฆมุม เป็นผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังของกัมพูชา ปี 2561/2562 มีแนวโน้มผลผลิตโดยรวมจะลดลงอีกประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์
“เนื่องจากชายแดนของประเทศกัมพูชาอยู่ติดกับประเทศไทย ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องช่วยกันเฝ้าระวังอย่าให้ท่อนพันธุ์หลงเข้ามาในประเทศไทยได้”
อาการของโรคใบด่างมันสำปะหลัง
เมื่อนักวิชาการโรคพืชไปพบต้นมันสำปะหลังที่มีลักษณะคล้ายโรคใบด่าง กลุ่มวิจัยโรคพืชของกรมวิชาการเกษตรและนักวิชาการเกษตร ได้เข้าไปแนะนำให้ความรู้แก่เกษตรกรเจ้าของแปลงมันสำปะหลังให้รู้จักลักษณะอาการของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตลอดจนความรุนแรงของโรคที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรเอง และให้เกษตรกรเจ้าของแปลงหมั่นเข้าไปตรวจสอบแปลงมันสำปะหลังของตน
มันสำปะหลังที่เป็นโรค จะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง ยอดที่แตกใหม่จะแสดงใบด่างอย่างรุนแรง ลำต้นแคระแกร็น ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสและพันธุ์มันสำปะหลังด้วย
“อาการใบด่างของมันสำปะหลังมีหลายรูปแบบ เช่น ด่างเขียวซีดสลับเขียวเข้ม ด่างเหลืองสลับเขียว ใบหงิกหรือหงิกเหลือง ใบย่อยหงิกเบี้ยว หงิกงอ โค้ง เสียรูปทรง ใบอ่อนและใบที่เจริญใหม่มีขนาดเล็กลง ยอดหงิกต้นแคระแกร็น”
การแพร่ระบาดของโรค
คุณภูวนารถ พูดถึงสาเหตุการแพร่กระจายของโรคใบด่างมันสำปะหลัง มีสาเหตุหลักมาจากการนำท่อนพันธุ์มาจากต้นที่เป็นโรคใบด่าง ที่มีเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคปนเปื้อนมาปลูก จึงทำให้โรคใบด่างมันสำปะหลังแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ดังที่เกิดในประเทศใกล้เคียงบ้านเรา นอกจากนั้น ยังมีแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นพาหะไปดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่เป็นโรค ไปดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่ไม่เป็นโรคต่อก็จะเป็นโรคขึ้นมา จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายและระบาดไปยังพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ต้นมันสำปะหลังก็จะแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว
มาตรการเฝ้าระวัง การแพร่กระจายของโรคพืชที่สำคัญ
หากมีการระบาดของโรคพืชที่สำคัญและร้ายแรงเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น โรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นต้น จะต้องมีการประกาศเขตควบคุมโรค
คุณชลธิชา รักใคร่ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มเฝ้าระวังศัตรูพืช กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ในกรณีที่ตรวจพบศัตรูพืชที่สำคัญ และไม่สามารถบริหารจัดการด้วยมาตรการต่างๆ ได้ เช่น การทำลายหรือฝังกลบ หรือการทำลายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่าง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้ เราจำเป็นต้องหันมาใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย คือ มาตรา 17 ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง พ.ร.บ. 17 ให้อำนาจไว้ว่า ในกรณีที่ตรวจพบศัตรูพืชร้ายแรงที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน สามารถประกาศให้เป็นเขตควบคุมศัตรูพืช วัตถุประสงค์ก็เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูพืชร้ายแรงแพร่ระบาดจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งที่ยังไม่มีโรคระบาด โดยแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ที่ประกาศเขตควบคุม
การประกาศเขตควบคุมโรคจะต้องบอกขอบเขตในหมู่บ้านนั้นให้ชัดเจนว่า ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จรดกับหมู่บ้านอะไรในเขตนั้นๆ ที่เราคิดว่ามีศัตรูพืชกักกัน ดังนั้น การที่จะนำเข้าหรือส่งออกพืชในเขตควบคุม จะต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่
คุณชลธิชา กล่าวว่า ในกรณีที่มีโรคพืชที่สำคัญและร้ายแรงเกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง และเป็นโรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือสงสัยว่าพืชที่พบมีลักษณะการคล้ายโรคที่เกิดก็จำเป็นต้องทำลายและฝังกลบ โดยให้เจ้าของแปลงหรือเจ้าของสวนเป็นผู้ทำลาย เมื่อทำลายหมดแล้วก็ประกาศยกเลิกเป็นเขตควบคุม
ถ้าเกษตรกรไม่ยอม จะมีมาตรการอย่างไร
คุณชลธิชา ชี้แจงว่า ในกรณีที่ข้อมูลทางวิชาการระบุชัดเจนว่า พืชนั้นๆ เป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญจำเป็นต้องทำลายเพื่อไม่ให้เกิดแพร่ระบาด จะทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งของเกษตรกรเอง และถ้าพืชนั้นเป็นพืชเศรษฐกิจจะทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของภัยพิบัติจึงต้องใช้มาตรการทางด้านกฎหมายของบ้านเมือง ถ้าไม่ยอมทำลายถือว่าเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ควบคุมกฎหมาย กรมวิชาการเกษตรเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ. กักพืชเท่านั้น
โชคดีที่ยังไม่มีการระบาดของโรคพืชที่รุนแรงเกิดขึ้นในบ้านเรา แต่กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องมี พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ และนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด และช่วยกันเฝ้าระวังอย่าให้เหตุเกิดขึ้นมาได้
การป้องกันโรคใบด่างมันสำปะหลัง
- เกษตรกรควรใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นที่ไม่เป็นโรคใบด่างมาปลูก ควรใช้ท่อนพันธุ์ภายในประเทศ ไม่นำท่อนพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาปลูก เพราะอาจเสี่ยงต่อการนำเอาท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสเข้ามาปลูก
- เกษตรกรควรหมั่นเดินตรวจแปลงตั้งแต่เริ่มปลูกทุกๆ 2 สัปดาห์ หากพบอาการที่ผิดปกติสงสัยว่าจะเป็นโรคใบด่าง เช่น ใบหงิก ใบด่าง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร หรือกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้มาตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะขุดถอนทำลายต้นต้องสงสัยออกจากแปลงนำไปฝังกลบพ่นต้นที่เหลือในแปลงและแปลงข้างเคียงด้วยสารฆ่าแมลงเพื่อทำลายแมลงหวี่ขาวยาสูบ ติดตามการเกิดโรคใบด่างในแปลงอย่างต่อเนื่องทุก 2 สัปดาห์
- หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือพบอาการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง กลุ่มงานเฝ้าระวังศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-8516, (061) 415-2517 หรือกลุ่มงานไวรัสวิทยา โทร. (02) 579-9588