ราคายางพุ่งโลละ 54 บาทรับเลือกตั้ง แล้งจัดหยุดกรีด-ผู้ส่งออกเร่งซื้อตุน

แฟ้มภาพ

การยางแห่งประเทศไทยได้รายงานสถานการณ์ราคาน้ำยางดิบขณะนี้ได้ขยับขึ้นไป กก.ละ 10 บาทหรือขึ้นไปเป็น กก.ละ 53-54 บาท จากช่วงที่เคยลดลงไปต่ำสุดก่อนหน้านี้ที่ กก.ละ 42 บาท

หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนราคายางอยู่ที่ กก.ละ 47-48 บาท โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคายางขยับขึ้นไปมาจากเป็นช่วงที่หยุดกรีดยางจนทำให้ยางเข้าสู่ตลาดน้อย ประกอบกับราคายางในตลาดล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ผลิตยางล้อต่างเร่งซื้อน้ำยางเพื่อนำไปผลิตมากขึ้น โดยราคาส่งออก FOB ขยับขึ้นไปถึง กก.ละ 55 บาทแล้ว

ด้านสถานการณ์การส่งออกยางพาราไทยในช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) 2562 มีปริมาณ 586,079 ตันหรือลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.59% ส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 699 ล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลง 15.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

หยุดกรีดยางทะลุ 60 บ.

นายทวีศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต ประธานกรรมการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางแผ่นดิบปรับได้ขึ้นไปถึง กก.ละ 53 บาท และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 60 บาท เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตยาง แม้ว่าจะเป็นช่วงหยุดกรีดเช่นเดียวกันกับทุกปี แต่ปีนี้ราคายางปรับขึ้นไปสูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย กก.ละ 47 บาท ทำให้ผู้ส่งออกกังวลว่า ปีนี้ในด้านปริมาณการส่งออกยางอาจจะปรับตัวลดลง เพราะไม่มีซัพพลายยาง แต่ในด้านมูลค่ามีโอกาสที่จะสูงขึ้นไปอีกโดยเฉลี่ยประมาณ 3%

“ผมคาดว่า ราคายางจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะขึ้นถึง กก.ละ 60 บาท เพราะอากาศแห้งแล้งมาก ถ้าในเดือนมีนาคมนี้ฝนไม่ตกหรือตกน้อยจะยิ่งทำให้ราคายางขยับไปอีกเทียบกับปีก่อน ๆ ราคาก็ไม่ดี ของก็ไม่มี ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพไม่พึ่งพารายได้จากยางเป็นรายได้หลัก แต่ใช้เป็นอาชีพสำรองไปแล้ว” นายทวีศักดิ์กล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่ยาวนานจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคา “น้ำยางสด” ปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2562 ที่ขยับไปแตะ กก.ละ 50 บาท จากช่วงต้นปีที่ราคาน้ำยางเคลื่อนไหวอยู่ที่ กก.ละ 36-37 บาท

ภัยแล้งกระทบยาง

Advertisement

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางพารารมควันภาคใต้ กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปยางพารารมควัน-ยางพารา ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 200 โรง ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำยางหายไปจากตลาดประมาณ 40% คาดว่าภาพรวมทั้งภาคใต้หายไปประมาณ 40-50% โดยปัจจัยหลักมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานมากว่า 2 เดือนแล้ว โดยภาวะอากาศที่แล้งจัดส่งผลกระทบต่อการกรีดยางพารา ทำให้ได้น้ำยางน้อยลง ประกอบกับยางพาราเข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบประมาณกลางเดือนมีนาคม ปิดหน้ากรีดกันทั่วไปจนถึงเดือนเมษายน และจะเปิดหน้ากรีดยางได้อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม แต่หากภาวะแล้งยังอยู่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำยางที่ได้ ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำยางมีแนวโน้มราคาขยับขึ้นอีก

“ปีนี้ชาวสวนยางพาราในภาคใต้ประสบปัญหาภัยธรรมชาติมาต่อเนื่อง ตั้งแต่เหตุการณ์พายุปาบึกเข้าเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2562 ที่ทำให้ต้นยางโค่นล้มไปจำนวนหนึ่ง และมาประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงนี้ ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี ส่งผลกระทบให้น้ำยางหายไปจากตลาด ทำให้ราคายางเคลื่อนไหวขยับสูงขึ้น” นายเรืองยศกล่าว

Advertisement

สำหรับโครงการถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร จากกว่า 75,000 หมู่บ้านที่ผ่านมา เป็นการนำน้ำยางข้นของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่รับซื้อจากชาวสวนยางพาราจำนวนหนึ่งในโครงการที่ผ่านมา “ไม่ได้ใช้น้ำยางสดจากชาวสวนยางพาราในฤดูปัจจุบัน” ทำให้ยังไม่เห็นราคาขยับขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนจากผลของโครงการนี้ ดังนั้นการจะทำโครงการถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรให้ได้ผลจะต้องซื้อ “น้ำยางสด” จากเกษตรกรชาวสวนยางพาราบริเวณจุดที่จะดำเนินการโครงการเลย และมีการกำกับควบคุมตรวจสอบโดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราร่วมด้วย เงินจะกระจายถึงมือชาวสวนยางพาราโดยตรง

“ที่ผ่านมาตัวแทนชาวสวนยางพาราได้พบและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทุกพรรคการเมืองถึงปัญหาต่าง ๆ และทุกพรรคการเมืองก็ได้ตอบรับกับตัวแทนชาวสวนยางพาราว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะนำยางพารามาใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป” นายเรืองยศกล่าว

วัดฝีมือรัฐบาลใหม่ดูแลยาง

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางที่ขยับขึ้นในช่วงนี้ “น่าจะเป็นช่วงสั้น ๆ จากภาวะดีมานด์และซัพพลายยางพารา” เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เกษตรกรหยุดกรีดยางชั่วคราว ทำให้ซัพพลายยางในตลาดลดลง และเอกชนที่ไปขายล่วงหน้าไว้ก็ต้องเร่งซื้อเพื่อผลิตส่งออก โดยผลจากราคาที่ขยับขึ้นส่งผลต่อจิตวิทยาในตลาด แต่ยังไม่ส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรมากนัก

“ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทางภาคใต้และภาคอีสานรวมกันหลายล้านครัวเรือน โดยผลจากราคายางที่ขยับขึ้นนี้น่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ นำเงินไปแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนระยะสั้น ๆ ได้ แต่หลังจากนี้ราคายางพาราจะขึ้นอย่างยั่งยืนหรือไม่ก็ขึ้นกับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้ราคายังทรงตัวสูงอยู่ได้อย่างนี้ต่อไป” นายประพัฒน์กล่าว

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มราคายางพาราในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ว่า ราคายางอาจขยับไปถึง กก.ละ 60 บาท (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ได้ เพราะภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกษตรกรหยุดกรีดยางตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ในขณะที่ภาคใต้ยางเริ่มผลัดใบ ผลผลิตที่กรีดได้ในช่วงนี้เหลือเพียง 20% และหากภาครัฐดำเนินการจริงจัง เช่น การสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศ 84,000 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กม. “ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคายางอาจขยับขึ้นไปถึง กก.ละ 80 บาท”

นายธนากร จีนกลาง ประธานกลุ่มเกษตรกรฐานเกษตรยางพารา อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ราคาน้ำยางในประเทศก็มีทิศทางปรับสูงขึ้น ขณะนี้อีสานตอนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางกว่า 1 ล้านไร่ (ไม่นับรวม จ.บึงกาฬ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่) ประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10-20 ปีจนน่ากังวลว่า “อาจจะมีต้นยางยืนต้นตาย”

ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่มียางไปขาย จะต้องรอพ้นช่วงหยุดกรีดไป หากไม่มีผลผลิตก็จะกระทบมาก

“เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคายางที่มีการรับซื้อในประเทศที่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ขณะนี้เป็นผลจากซัพพลายลดลง ผู้ส่งออกรายใหญ่ได้ซื้อสต๊อก แต่ผู้ซื้อรายย่อย ๆ ไม่ได้ซื้อเลยเพราะไม่มีทุน ส่วนหนึ่งประเมินว่าเหตุใดจึงปรับขึ้นเฉพาะราคาภายในเท่านั้น ส่วนราคาส่งออกยางไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเลย มีการปั่นราคาหรือไม่” นายทศพลกล่าว