ดูแลสวนยางช่วงหน้าแล้ง ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ต้นยางปลอดภัย เกษตรกรไทยแฮปปี้

ยางพารา

ถ้าพูดถึงคำว่า “ยาง” แล้วของสิ่งนี้คงสร้างความคุ้นเคยกับเราอยู่ไม่น้อยเพราะวนเวียนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราไม่ว่าจะเป็นยางวงที่เด็กๆ มักใช้ร้อยเพื่อเล่นโดดยาง ถุงมือที่คุณหมอใส่เวลาตรวจคนไข้ หมอนที่ใช้หนุนนอน หรือแม้กระทั่งยางล้อรถยนต์ ต่างก็ทำมาจาก “ยางพารา” ทั้งสิ้น

ประเทศไทย ถือเป็นมือวางอันดับ 1 ในการผลิตยางธรรมชาติเพื่อใช้และส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่กว่าจะเป็นน้ำยางคุณภาพเยี่ยม ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น ต้องผ่านการดูแลประคบประหงมจากผู้ปลูกเป็นอย่างดี แม้ว่ายางพาราจะเป็นพืชที่แข็งแรงและมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ๆ ปลูก แต่ด้วยปัจจัยจากสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ยางอ่อนแอ และให้ผลผลิตน้อยลง รวมถึงอาจเกิดโรคต่างๆ ที่มีตามช่วงฤดูกาลโดยเฉพาะในหน้าฝน อีกทั้งในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน โดยจะร้อนมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งอากาศที่ร้อนและมีแสงแดดรุนแรงนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้เกิดไฟไหม้ในสวนยางได้ เนื่องจากสภาพดินที่แห้ง เศษวัชพืช ใบไม้ ที่ตากแดดจนแห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่ทำให้เกิดไฟไหม้ได้

นายอภิเดช เชาวลิต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต การยางแห่งประเทศไทย แนะนำว่า เกษตรกรชาวสวนยางควรให้ความสำคัญในการดูแลสวนยางมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง โดยเกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในสวนยางออกจากบริเวณแถวยางอย่างน้อยข้างละ 1 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันไฟไหม้ ที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในช่วงฤดูแล้ง เพราะจะทำให้วัชพืชยืนต้นแห้งตายซึ่งจะเป็นเชื้อไฟได้ดี รวมถึงตัดแต่งกิ่งต้นยางพาราเพื่อลดแรงต้านลม และใช้ปูนขาวทาบริเวณที่ตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันโรค ซึ่งการตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหน้าแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ นอกจากนี้ ควรทำแนวกันไฟในสวนยางเพื่อป้องกันไฟลุกลามจากบริเวณใกล้เคียง โดยการไถ หรือ ขุดถากวัชพืชและเศษซากพืชออกเป็นแนวกว้างไม่ต่ำกว่า   3 เมตร รอบบริเวณสวนยาง และกรณีที่สวนยางมีขนาดใหญ่ควรทำแนวกันไฟทุกๆ 100 เมตร ภายในสวนระหว่างแถวยางเพื่อเพิ่มความปลอดภัยจากไฟไหม้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทาง กยท. ยังมีสวัสดิการรองรับแก่เกษตรกรชาวสวนยางตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีสวนยางประสบภัยตามมาตรา 49 (5) พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางท่านใดมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษาได้ที่การยางแห่งประเทศไทยทุกสาขาที่อยู่ใกล้บ้านท่าน

จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า “ยางพารา” เป็นพืชที่ดูแลรักษาไม่ยากหากเกษตรกรหมั่นดูแลสวนยางอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอแล้ว ยางพาราก็จะให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่และยาวนานยิ่งขึ้น “มนุษย์ต้องการการดูแลฉันใด พืชเองก็ต้องการการดูแลฉันนั้น เมื่อพืชมีความสุข แน่นอนว่าคนที่สุขยิ่งกว่าคือเกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนยางนั่นเอง”