มทร.สุวรรณภูมิ สุดยอด…วิจัยผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อย ได้ผลิตภัณฑ์คงทนแข็งแรง ราคาไม่แพง

ผศ.ดร.ณรงค์ชัย วิวัฒนาช่าง รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สุวรรณภูมิ กล่าวว่า แนวความคิดของโครงการวิจัยเรื่อง “ผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อย” เป็นการดำเนินงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเถ้าชานอ้อยและช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สังคม

จากการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพของเถ้าชานอ้อยในเบื้องต้นพบว่า เถ้าชานอ้อยมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดี มีราคาถูก สามารถนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมคอนกรีตเพื่อการผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการนำมาผลิตเป็นอิฐบล็อก แทนการใช้คอนกรีตบล็อกซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากจะช่วยให้อิฐบล็อกมีคุณภาพสูงขึ้น เช่น แข็งแรงไม่แตกหักง่าย ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่า ความทนทานสูงกว่า แต่ราคาใกล้เคียงกัน เมื่อนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างสามารถนำมาใช้ก่อเป็นผนังรับน้ำหนักสำหรับการก่อสร้างบ้านปกติ และถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานคนเป็นหลักซึ่งเหมาะแก่ชุมชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาชุมชนซึ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น ผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน

ผศ.ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า การนำเถ้าชานอ้อยจากเตาเผาโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้และถือเป็นปอซโซลานที่มีคุณภาพดีเมื่อพิจารณาตามมาตรฐาน ASTM C618 ผนวกกับการใช้หินฝุ่น ซึ่งเป็นวัสดุที่ถูกคัดทิ้งจากกระบวนการผลิตหิน วัตถุดิบที่กล่าวมาทั้งหมดเมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของอิฐบล็อกร่วมกับสารเคมีผสมเพิ่มช่วยปรับปรุงคุณภาพของคอนกรีตได้นั้น งานวิจัยพบว่า สามารถนำมาพัฒนาอิฐบล็อกให้มีคุณภาพสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ สามารถผลิตอิฐบล็อกที่มีคุณภาพดีจากส่วนผสมของ ดินซีเมนต์ (ดินคัดเลือก+ซีเมนต์)+เถ้าชานอ้อย+หินฝุ่น ซึ่งการเลือกใช้วัตถุดิบดังกล่าวสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและอาจเพิ่มศักยภาพของอิฐบล็อกให้มีคุณภาพสูงกว่าเดิมได้ ในขณะที่ราคาต่อหน่วยยังคงเดิม จากการใช้วัสดุปอซโซลานเข้ามาแทนที่ปูนซีเมนต์ที่ใช้ผสมคอนกรีตบล็อกบางส่วน สามารถสร้างเพิ่มมูลค่าเพิ่มของเถ้าชานอ้อยจากโรงผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและหินฝุ่น ซึ่งจากเดิมเป็นวัตถุดิบที่สร้างมลภาวะและไม่สามารถกำจัดทิ้งได้ ดังนั้น นอกจากจะเกิดผลดีต่อชุมชนแล้ว อาจนำไปสู่ธุรกิจการผลิตอิฐบล็อกที่มีประสิทธิภาพของภาคเอกชนได้ สามารถนำไปสู่การเผยแพร่บทความวิจัย การจดอนุสิทธิบัตร การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ตามภารกิจที่ผู้ดำเนินการวิจัยมีเป้าหมายอย่างชัดเจน การนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การผลิตชิ้นงานและนำไปเป็นวัสดุเพื่อการก่อสร้างได้จริง

เมื่อดำเนินการทดสอบอิฐบล็อกมาตรฐานที่ได้ผลิตขึ้นครบทุกขั้นตอนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ได้จริง ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการนำผลิตภัณฑ์ไปก่อสร้างเป็นห้องจำลองขนาด 2.5×3.5 เมตร สำหรับการจัดนิทรรศการ แสดงวิธีการผลิตอิฐบล็อกมาตรฐานจากเถ้าชานอ้อย เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น โดยได้นำวัสดุวิจัยคือ ผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกดินซีเมนต์แบบมาตรฐานจากส่วนผสมของเถ้าชานอ้อย ไปใช้ก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นห้องกิจกรรมนักศึกษาพบว่าวัสดุมีความสวยงามและทนทาน มีคุณสมบัติต้านทานความร้อนได้ดีกว่าอิฐบล็อกคอนกรีด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกที่เป็นฉนวนกันความร้อน น้ำหนักเบาและราคาถูกกว่าอิฐบล็อกคอนกรีต อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน และลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากแหล่งที่ใช้และผลิตพลังงานด้วย

Advertisement

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี โทรศัพท์ 081-839-6772  โทรสาร 035-544-299