โจน จันได เปิดเคล็ดลับปลูก “มันฝรั่ง” อินทรีย์

ว่าไปแล้วบ้านเราเพิ่งตื่นตัวเรื่องเกษตรอินทรีย์เมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่สำหรับ “โจน จันได” แห่งสวนพันพรรณ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เขาทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 20 ปีแล้ว และยังเป็นผู้ขับเคลื่อนการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นเมือง ซึ่งถ้ามีโอกาสไปออกบู๊ธที่งานไหน เขาก็จะนำไปแจกแล้วแต่ผู้รับจะหย่อนเงินให้ตามศรัทธา นอกจากนั้น ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดินอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศอินเดีย พม่า และศรีลังกา ได้เชิญให้ไปเป็นวิทยากรสอนเรื่องการสร้างบ้านดิน

หนุ่มใหญ่วัย 50 กว่าปีคนนี้ เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การพึ่งตัวเอง สวนพันพรรณ อำเภอแม่แตง เมื่อปี 2546 ซึ่งมีผู้สนใจจากทั้งต่างประเทศและในประเทศแวะเวียนเข้ามาเรียนรู้จำนวนหลายพันคน มีสมาชิกอยู่ร่วมกัน 20 กว่าคน

โจน จันได โชว์เมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้แจก

ชื่นชมสามพรานโมเดล

เขาเล่าที่มาที่ไปของสวนนี้ให้ฟังว่า เริ่มทำเกษตรอินทรีย์มา 20 กว่าปีแล้ว โดยเริ่มตั้งกลุ่มที่จังหวัดยโสธร หลังจากนั้น 4-5 ปี เมื่อกลุ่มอยู่ได้แล้วก็ย้ายมาที่เชียงใหม่ พร้อมทำเรื่องเก็บเมล็ดพันธุ์ และมีการฝึกอบรมตลอดมาอย่างต่อเนื่อง

เขาฉายภาพปัจจุบันและในอนาคตของเกษตรอินทรีย์ในบ้านเราว่า เกษตรอินทรีย์บ้านเราเติบโตค่อนข้างมั่นคงมาก มันโตไม่เร็วแต่มีความมั่นคงสูง คนที่มาทำมาด้วยใจที่เชื่อมั่นมาก ทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเกษตรอินทรีย์สูงกว่าทุกประเทศ อย่างในอเมริกาเองเป็นการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้า ซึ่งไม่ถือว่ายั่งยืน แต่ในบ้านเราเป็นเกษตรอินทรีย์เพื่อมีอยู่มีกินก่อน เหลือแล้วค่อยๆ ขาย ทำให้เห็นถึงความยั่งยืนพอสมควร เกษตรกรส่วนมากที่มาทำเกษตรอินทรีย์สามารถจะอยู่ได้อย่างสบาย ปลดหนี้ปลดสินได้หลายๆ คน แต่ถ้าทำแบบอเมริกาเพื่อการขายอย่างเดียวจะยังอยู่ในวงจรหนี้สินอยู่

ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของสวนพันพรรณ

ตอนนี้ปริมาณที่คนทำแบบนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เครือข่ายเติบโตขึ้น แต่เป็นเครือข่ายที่ไม่หนักแน่น มีการรู้จักกัน ไม่ใช่เครือข่ายที่มีการประชุมกันแบบทั่วไป ไม่มีการผูกขาดทางความคิด มีการทดลองที่แตกต่าง

“คนไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สูงกว่าทุกประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการทำจุลินทรีย์สูงที่สุดในโลก จุลินทรีย์จากปลวก จุลินทรีย์โน่นนี่มากมาย ไม่มีที่ไหนหลากหลายเท่า ทุกวันนี้ที่อื่นยังมาเรียนรู้ ตรงนี้เรามีนวัตกรรมทางการเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างก้าวหน้ากว่าทุกประเทศบนโลกใบนี้ เพราะแม้ไม่มีเงินมาก แต่ใช้จินตนาการ ใช้นวัตกรรมมากขึ้น จึงเกิดเทคนิคทางเกษตรอินทรีย์แบบทำนาปล่อยให้หญ้าขึ้น ตัดทั้งหญ้าและข้าว และมีอะไรต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งเป็นการเลิกใช้สารเคมีที่น่าสนใจมาก และเติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสของสารเคมีที่บีบคั้นอย่างรุนแรง แต่ก็เดินหน้าไปอย่างมั่นคง”

หลายปีมานี้ทางสวนพันพรรณได้มาเชื่อมโยงกับทางโครงการสามพรานโมเดล ที่มี คุณอรุษ นวราช เจ้าของโรงแรมสามพรานฯ เป็นประธาน โดยก่อนหน้านี้ทางโรงแรมสามพรานฯ ได้ส่งพนักงานหลายร้อยคนไปฝึกอบรมที่ศูนย์การพึ่งพาตนเอง

“สามพรานเป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จสูงมาก เขาสามารถสร้างกลุ่มได้เข้มแข็ง มีการติดตามประเมินผลได้ชัดเจน การทำงานมีระบบ ทำให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและรวดเร็ว เป็นโมเดลหนึ่งที่คนไทยต้องมาเรียนรู้กันมากขึ้น ผมเห็นว่าหลายๆ ที่ ที่พยายามทำแต่ความสามารถในการบริหารจัดการที่ต่างกัน เขามีศักยภาพทำให้เติบโตได้ ผมว่าที่นี่มันเป็นโมเดลที่น่าสนใจที่สุดในเมืองไทย”

 ปลูกพืชผักผลไม้ผสมผสาน

ในสวนพันพรรณนั้นปลูกพืชผักผลไม้หลากหลายชนิดเพื่อไว้ใช้บริโภคเอง ส่วนที่เหลือก็ขาย และมีการแปรรูปด้วย ดังที่คุณโจนบอกว่า ไม่ได้ปลูกเพื่อขาย แต่ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นหลัก นั่นคืองานหลัก ที่เหลือจากการทดลองแล้วขาย มีมันฝรั่ง ลำไย ฝรั่ง ไม่มากนัก ไม่ได้ขายในตลาดกว้างๆ แต่ถ้าเหลือมากจะขายที่ในเชียงใหม่

พืชเด่นๆ ของสวนพันพรรณที่น่าสนใจคือ มันฝรั่ง ซึ่งคุณโจนให้รายละเอียดว่า ในการปลูกมันฝรั่งอินทรีย์นั้นไม่ได้ยากอะไร แต่คนกลัวกันไปเอง และจะป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากเกษตรเคมีจะสอนอย่างนั้น จะบอกฉีดเคมีไว้ก่อน พอฉีดจะทำให้เสียสมดุลทันที

ในขณะที่สวนเริ่มด้วยการไม่ฉีดอะไรเลย โดยทำมา 3 ปีแล้ว ยังไม่เห็นปัญหาใหญ่โตที่เกิดจากตรงนี้เลย อีกทั้งผลผลิตก็ใช้ได้คือ ไร่หนึ่งได้ตันกว่าๆ เพราะไม่ได้เร่งปุ๋ยมาก จำนวนผลผลิตใกล้เคียงกันมากกับการใช้สารเคมี แต่หัวอาจจะเล็กลง เนื่องจากไม่ได้เร่งใส่ปุ๋ยอินทรีย์มาก เป็นการใส่แบบธรรมดาไม่ต้องการให้หัวมันโตมาก

คุณโจนบอกถึงวิธีการบำรุงรักษาว่า ที่ผ่านมาไม่ได้บำรุงรักษาอะไรเลย เริ่มจากการทำยกร่องเอาหัวฝังลงพร้อมกับปุ๋ยหมัก ทิ้งไว้จนหญ้าขึ้นประมาณ 3 เดือน พอปลูกรอบแรกประมาณ 1 เดือนกว่า จะใส่ปุ๋ยหมักโรยรอบโคน ตักดินถมให้คลุมหญ้าเพื่อให้หญ้าเป็นปุ๋ยต่อไป แล้วเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ (ขี้วัวผสมใบไม้) อีกนิดหน่อย

เมล็ดพันธุ์ต่างๆ

“เนื่องจากมันฝรั่งกินปุ๋ยเยอะกว่ามันชนิดอื่นๆ จึงต้องให้มันรอบสอง หลังจากนั้น ก็ทิ้งไว้พอครบ 3 เดือน สามารถเก็บได้เลย ไม่มีโรคแมลง แต่จะมีปัญหาโรคราน้ำค้างบ้างในบางช่วง แต่ถ้าไม่ใช้สารเคมีก็ไม่ระบาดมาก แต่ถ้าใช้สารเคมีจะเกิดโรคระบาดทั้งหมด นี่คือจากประสบการณ์ที่ทดลองทำมา”

ในการปลูกมันฝรั่งอินทรีย์สามารถขายได้ราคาดีกว่ามันฝรั่งที่ปลูกแบบใช้เคมี อย่างที่คุณโจนแจกแจงว่า ถ้าปลูกแบบเคมีขายได้กิโลกรัมละ 30 บาท แต่มันฝรั่งอินทรีย์ขายได้กิโลกรัมละ 40-50 บาท ได้ราคามากกว่า เพราะปลูกไม่เยอะประมาณ 3-4 ไร่ ปลูกกันเองได้ 2-3 ตัน ซึ่งถือว่าได้ราคาดี

อีกอย่างค่าใช้จ่ายน้อย แต่เนื่องจากมีค่าขนส่งมากและมีค่าแพ็กเกจจิ้งด้วย จึงต้องเพิ่มส่วนนั้นเข้าไปทำให้ราคาจะแพงขึ้น แต่ถ้าชาวบ้านทั่วไปมีรถไปรับซื้อถึงที่ ขายกิโลกรัมละ 11-13 บาทก็มี ทำให้ต้นทุนที่ปลูกประมาณกิโลกรัมละ 8-9 บาท จะมีกำไรไม่กี่บาท ส่วนของต้นทุนน้อยกว่าเคมีมาก กิโลกรัมหนึ่งไม่ถึง 5 บาท ทำให้มีกำไรมากกว่าการปลูกด้วยสารเคมี

สำหรับช่วงระยะเวลาการปลูกมันฝรั่งนั้น คุณโจนบอกว่า ต้องเป็นฤดูเกี่ยวข้าวเสร็จ มันฝรั่งไม่ชอบหน้าฝน ใช้เวลาปลูก 3 เดือน เป็นพืชที่ทำเงิน ทำได้ดี แต่คนไทยกินมันฝรั่งน้อย ตลาดแคบขายยาก ปกติจะปลูกส่งโรงงานทำมันฝรั่งทอดเป็นหลัก จึงปลูกมากไม่ได้ ถ้าจะปลูกมากเราจะส่งที่บริษัทและจะถูกกดราคาลงเรื่อยๆ จึงไม่สามารถปลูกจำนวนมากได้

ชาวต่างชาติแห่อบรม

เขาพูดถึงผู้คนที่มาอบรมที่ศูนย์ว่า ส่วนมากคือคนเมืองที่อยากทำการเกษตร ไม่มีพื้นฐานและประสบการณ์มาก่อน สิ่งที่ทุกคนอยากรู้นั้นคือ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทางศูนย์จะพามาทำการเตรียมดินปลูกผักจะทำอย่างไร เป็นพื้นๆ แต่ไม่ได้อบรมเรื่องเกษตรอย่างเดียวเป็นเรื่องของการพึ่งตนเอง เพราะว่าการที่คนๆ หนึ่งออกจากงานมาเพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่บนที่ดินผืนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ปลูกเป็นอย่างเดียวแต่ต้องทำมาหากินด้วย

ดังนั้น จะสอนเรื่องการทำบ้าน ทำสวน ทำอาหาร แปรรูปผลิตภัณฑ์ การดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งมีหลายอย่างรวมกัน พอคนเหล่านี้มาเรียนแล้ว ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรง่ายๆ หลายอย่างในชีวิตที่พึ่งตนเองได้ และทำให้เกิดความกล้าที่จะนำไปทดลองทำ

ผู้เข้าอบรมต้องลงมือปฏิบัติจริง

ในการอบรมนี้จะใช้เวลา 4-5 วัน แต่ละครั้งอบรมประมาณ 30 คน เสียค่าใช้จ่ายคนละ 3,500 บาท แต่ถ้าใครไม่สามารถจ่ายได้ก็ให้เรียนฟรี ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณเล่าว่า ช่วง 7 ปีแรก ที่เริ่มตั้งที่เชียงใหม่มี 70% เป็นชาวต่างชาติเข้ามาอบรม เช่น ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี โดยเก็บเงินคนละ 3,500 บาทเหมือนกัน พอมีที่ว่างจะทำฟรีให้กับคนไทย ทำมา 7 ปี ต่อมาคนไทยอยากมาอบรมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทางศูนย์ดูแลไม่ไหวเลยลดจำนวนคนต่างชาติลง และเก็บเงินจากคนไทยเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้จึงมีคนไทยเป็นส่วนมาก

สาเหตุที่คนต่างชาติอยากมาเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และการพึ่งตัวเองนี้ คุณโจนอธิบายว่า “เขาเหนือกว่าเราเรื่องของเทคโนโลยี แต่เรื่องภูมิปัญญาพึ่งตนเองเขาแย่มาก การทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีมันไปไม่รอดเพราะต้นทุนสูง ผลผลิตราคาต่ำมาก ทั่วโลกจึงไปไม่รอด เลยหันมาสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น”

การก่อสร้างบ้านดิน

เปิดศูนย์แห่งใหม่ที่ยโสธร

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการทำเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถตอบในระบบอุตสาหกรรมได้ ประเด็นนี้คุณโจนให้ความเห็นว่า เป็นความคิดของนักวิชาการ หรือคนที่ไม่เคยทำเกษตรอินทรีย์ แต่คนที่เคยทำจะพบว่าเกษตรอินทรีย์ผลผลิตที่ได้สูงมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเกษตรเคมี สามารถที่จะเลี้ยงโลกได้ แต่เกษตรเคมีทำผลิตข้าว 1 ตัน พื้นที่ 1 ไร่ มีต้นทุนที่สูงมาก ทั้งค่ารถไถ น้ำมัน ยาเคมี ค่าปุ๋ย แต่ขายข้าวได้กิโลกรัมละ 6 บาท ดังนั้น จะอยู่ได้อย่างไร

ต้นทุนตรงนี้ไม่มีใครคิดถึง ทั้งรัฐบาลและนักวิชาการ คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะขายของให้ได้มากที่สุด จึงทำให้เกษตรเคมีจึงไปไม่รอด เลยทำให้ประชากรเกษตรเคมีปัจจุบันลดลงมากทั่วโลก แต่เกษตรอินทรีย์ไม่ได้ปลูกพืชชนิดเดียวขาย มีการปลูกหลายอย่าง เนื่องจากหลายคนทำจึงรวบรวมผลผลิตได้ และตอบสนองต่ออุตสาหกรรมได้ ไม่ต่างกัน อีกทั้งจะแก้ปัญหาได้มากกว่า ทุกคนลงทุนน้อยมาก และขายราคาถูกได้ในอนาคต แต่ทุกวันนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์แพงเพราะตลาดแคบ ค่าขนส่งแพง

เมื่อไรคนบริโภคเพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถทำให้ราคาลดลงได้ แต่ปัจจุบันอยู่ที่การขนส่ง การจัดการตลาด ผลิตผัก มาแล้วจะไปขายที่ไหน หาตลาดยากมาก ค้าข้าวอินทรีย์จากภาคอีสานขนมากรุงเทพฯ รถปิกอัพคันหนึ่งขายได้กำไร 6-7 พันบาท ค่ารถ 4,000 บาทแล้ว จะเหลืออะไร ค้าข้าวต้องมีปริมาณมากจึงต้องขนด้วยรถพ่วง วันละหลายๆ พ่วง ถึงจะได้กำไรตรงนั้น จึงเป็นปัญหา จนต้องขายแพง แต่ถ้ามีปริมาณมากสินค้าอินทรีย์ก็สามารถขายได้ถูกลง

คุณโจนยังบอกอีกว่า ปีนี้จะเปิดศูนย์ที่ยโสธรบ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว ประมาณ 20 ไร่ เป็นโมเดลบ้านทางเลือกและการออกแบบพื้นที่ สร้างบ้านดิน บ้านก้อนฟาง บ้านกระสอบแกลบ อะไรก็ได้ที่อยู่รอบตัวสามารถสร้างบ้านได้หมด เป็นที่ให้คนมาดูเรียนรู้ได้ในเรื่องบ้าน การออกแบบพื้นที่ให้เห็นว่าการเป็นชาวนาไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้ ชาวนาสามารถมีรายได้อย่างภาคภูมิใจได้ เลยออกแบบพื้นที่ให้มีรายได้ทุกวัน รายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน รายปี มีบำนาญได้อย่างไร

ศูนย์แห่งใหม่จะเปิดที่จังหวัดยโสธร

เขาให้เหตุผลถึงการตั้งศูนย์การเรียนรู้พึ่งตนเอง ที่บ้านเกิดว่า เนื่องจากคนทางภาคอีสานที่จะเดินทางไปศูนย์เชียงใหม่ระยะทางไกล จึงอยากให้มีโมเดลทางภาคอีสานเพื่อง่ายต่อคนในพื้นที่เข้ามาดู ซึ่งก่อนจะไปอยู่เชียงใหม่ก็ตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ไว้ และกลุ่มเหล่านี้อยากจะต่อยอดเกษตรแปรรูปมากขึ้น เพราะขายของสดมีปัญหามาก คาดว่าไม่น่าจะเกินกลางปีนี้ศูนย์ก็จะสร้างเสร็จสมบูรณ์

“ในอนาคตจะเปิดเป็นคอร์สของคนต่างประเทศมาอบรม เพราะคนไทยจะไปเชียงใหม่กันมาก ทางภาคอีสานไม่มีฝรั่ง ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีการเคลื่อนไหวในด้านนี้ จึงอยากจะดึงมาทางอีสานจะช่วยให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์รู้สึกมีกำลังใจ ได้ภาคภูมิใจที่แม้เป็นชาวไร่ชาวนาได้มาสอนฝรั่งบ้าง เป็นการเพิ่มพลังให้อีกทาง” เจ้าของสวนพันพรรณกล่าว

ทั้งหมดนี้คงทำให้เห็นแล้วเกษตรอินทรีย์ในบ้านเรานั้น มีทิศทางดีขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าอีกหน่อยราคาพืชผักผลไม้พวกนี้ก็จะถูกลงเพราะตลาดเปิดกว้าง ในขณะที่เกษตรกรมีความรู้และมีประสบการณ์ในการปลูกเพิ่มมากขึ้น