เผยแพร่ |
---|
KAPI จัดพิธีมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้ชนะในการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยในปีนี้มีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 27 ผลงาน จาก 115 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ผู้ชนะได้รับโล่รางวัล ประกาศเกียรติบัตร พร้อมเงินรางวัล หวังให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมหันมาใส่ใจและตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และให้งานวิจัยได้มีการพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น
ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงภาพรวมของโครงการ Thailand Green Design Awards 2019 ว่า “การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards 2019 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ปีนี้เรามุ่งเน้นในด้านการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิตว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบอย่างไร รวมทั้งกระตุ้นเกื้อหนุนและเอื้อต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างสร้างสรรค์เช่นไร โดยเน้นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คอนเซ็ปต์การประกวดปีนี้จะเน้นในผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีนดีไซน์และผลิตภัณฑ์ที่เป็นการนำพวกพลาสติกที่จะเป็นขยะในอนาคต รวมถึงที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นผลงานมากขึ้น
ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ มีส่งเข้าประกวดทั้งหมด 115 ผลงาน ชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวดปีนี้หลายชิ้นงานที่เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การออกแบบที่สวยงาม และการใช้งานได้จริง ทำให้เห็นว่าผู้เข้าประกวดเริ่มเข้าใจจุดมุ่งหมายของโครงการที่ต้องการปลูกจิตสำนึกและรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ จนทำให้คณะกรรมการตัดสินมีความหนักใจในการพิจารณา จนได้ทั้ง 27 ผลงานที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินพิจารณาของโครงการ ทั้ง 27 ชิ้นงานที่ผ่านเข้าเกณฑ์ล้วนเป็นชิ้นงานที่มีความน่าสนใจ มีการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ที่ดี จับต้องได้ สามารถต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ได้เลย และบางชิ้นหลังจากที่ได้ไปโชว์ผลงานที่งานเกษตรแฟร์ ’62 ก็มีผู้ที่สนใจติดต่อขอซื้อไปบ้างแล้ว ทางโครงการก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นสื่อกลางในการทำหน้าที่ต่อยอดทางธุรกิจ”
ดร.มะลิวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของผลงานสำหรับสังคมผู้สูงอายุ ในปีนี้มีการส่งผลงานในประเภทนี้เข้ามาเยอะมากขึ้นจากในปีก่อนๆ เป็นชิ้นงานที่พร้อมจำหน่าย กลุ่มที่ส่งเข้าประกวดมากที่สุดคือ กลุ่มภาคเอกชน เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ อีกทั้งปัจจุบันในท้องตลาดเริ่มมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้น อาจจะเพราะประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนเหล่านี้มองว่าถ้าชิ้นงานได้เข้าโครงการ TGDA ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเขา จนต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ได้ในที่สุด
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการไปแล้วจากในการประกวดของปีที่ผ่านๆ มา ทางโครงการได้มีการติดตามผลงานที่ได้รับรางวัลและเข้าประกวดในโครงการอยู่ตลอด ว่าได้มีการพัฒนาต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ตามจุดมุ่งหมายของการประกวดหรือไม่ ซึ่งเราพบว่ามีบางผลงานได้มีวางขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นน้ำยาซักผ้าที่ผลิตมาจากเอนไซม์สับปะรด PIPPER พิพเพอร์ สแตนดาร์ด และมีไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากน้ำยาซักผ้าแล้ว ก็มีน้ำปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน หรือในส่วนของผลงาน เฟรชชี่ โซป ชาวเวอร์ ชีท ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานประเภทที่ช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิต กลุ่มผู้ประกอบการและบริษัทเอกชน เมื่อได้มีการเผยแพร่ จนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้มีผู้ที่สนใจถามหาผลิตภัณฑ์มากขึ้น มีการต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในส่วนของสถาบันก็ได้มีการส่งนักวิจัยเข้าไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมมากขึ้นให้กับชิ้นงานที่ต้องการในการพัฒนาต่อยอด”
นอกเหนือจากนี้ TGDA2019 ยังได้มุ่งเน้นในการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เข้าไปอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น โดยการตัดสินในปีนี้ คณะกรรมการตัดสินได้สัมผัสกับหลายชิ้นงานที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของแนวคิด คอนเซ็ปต์ การออกแบบดีไซน์ การใช้ได้จริง การนำเทคโนโลยีมาใช้ และที่สำคัญคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คณะกรรมการรู้สึกดีใจที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด เข้าใจในวัตถุประสงค์และแนวคิดของโครงการมากขึ้น จนได้มาซึ่งผลงานที่ผ่านเกณฑ์และได้รับรางวัลทั้ง 27 ผลงาน และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ตระหนักและใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ได้ทำการมอบรางวัลพิเศษนักออกแบบหัวใจสีเขียวรุ่นเยาว์ The Best of The Best Young “TGDA2019” ให้กับผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ “การออกแบบฐานฟื้นฟูปะการังเพื่อสภาพแวดล้อมในทะเล (Re-Coral)” โดย นายสิชล รอดทยอย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นผลงานที่มีแนวคิดมาจากการได้ไปศึกษาและลงพื้นที่ปลูกปะการัง และกำลังศึกษาในเรื่องการนำวัสดุเปลือกหอยแมลงภู่และหอยแครงที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการบริโภค จึงมีแนวคิดในการนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าแทนการใช้ปูนซีเมนต์ที่อาจเป็นผลเสียต่อท้องทะเลในระยะยาว
ด้าน คุณนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีในการดำเนินธุรกิจ กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม ได้ยืนหยัดในฐานะ “ผู้นำแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ล้ำสมัยในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ไปพร้อมกับการตอบแทนคืนสู่สังคม และมุ่งสร้างชื่อเสียงประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก เราทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างคุณค่าพื้นที่เมืองที่เราเข้าไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับผู้คนและสังคม อาทิ การใช้พื้นที่ภายในศูนย์เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนให้กับคนไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้พัฒนาศักยภาพและเป็นที่รู้จัก ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้คนตระหนักในความสำคัญกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมดีๆ เพื่อช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการและกลุ่มสาธารณชนทั่วไปเสมอมา และเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการร่วมดำเนินโครงการการประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thailand Green Design Awards 2019 ในครั้งนี้อีกด้วย”
ดร.มะลิวัลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้ภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนและผลักดันมากกว่านี้ อยากให้เห็นความสำคัญของการนำผลงานการวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพราะหลายๆ ผลงานสามารถนำไปวิจัยต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นให้กับองค์กร ให้กับประเทศมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนโลกใบนี้ ดังจะเห็นได้จากปัญหาของฝุ่นละออง pm2.5 เรื่องพลาสติก Thailand Green Design Awards ก็เป็นเพียงงานประกวดงานหนึ่งที่มุ่งเน้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด หากทุกๆ คนเล็งเห็นความสำคัญตรงนี้แล้วร่วมกันตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม จะทำให้การใส่ใจสิ่งแวดล้อมกระจายในวงกว้างมากขึ้น มิใช่แค่เพียงผู้ที่ได้รับรางวัลเท่านั้น แต่เรามุ่งหวังให้ทุกคนในสังคม มีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและร่วมกันสร้างสังคมสีเขียวที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”