วว.จับมือหน่วยงานเครือข่าย เปิดห้องเรียนเทคโนโลยีให้เกษตรกร/ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร นำวิทยาศาสตร์ฯ สร้างโอกาส เพิ่มมูลค่า “กล้วยไข่” ผลผลิตการเกษตรของจังหวัดกำแพงเพชร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานพันธมิตร จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เกษตรกร/ผู้ประกอบการธุรกิจด้านเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร สร้างโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี เสริมทักษะเพื่อเป็นเกษตรกรยุคใหม่ เพิ่มมูลค่า “กล้วยไข่” ผลิตภัณฑ์การเกษตรของจังหวัดตั้งแต่ต้นทาง กลางทางถึงปลายทาง เน้นเสริมประสิทธิภาพการผลิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คาดช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ เสริมความเข้มแข็งให้แก่อาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ในฐานะประธานในพิธีเปิดกิจกรรมสัญจรภูมิภาคโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรภาคเหนือ (กล้วยไข่) ชี้แจงว่า วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ให้เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือภายใต้โครงการ “การพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ Innovative Agriculture” เพื่อนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม (Traditional Farming) ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลัก ไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Smart Farming) มุ่งเน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ในปี พ.ศ. 2562 นี้ มุ่งเน้นดำเนินงานในพืชหลักของไทยใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ “ไม้ดอกไม้ประดับ” ในจังหวัดเลย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทุเรียน” ในจังหวัดชุมพร ภาคใต้ และ “กล้วยไข่” ในจังหวัดกำแพงเพชร ภาคเหนือ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรยุคใหม่ โดยใช้หลักการของวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางถึงปลายทาง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนแก่อาชีพเกษตรกรรม เน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะกล้วยไข่ให้ดี มีมาตรฐาน สามารถจำหน่ายได้ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ” รองผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

นายไพโรจน์ แก้วแดง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กล้วยไข่ เป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชรมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี กล้วยไข่กำแพงนั้น เป็นผลไม้ประจำถิ่นที่ผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่น แต่ปัจจุบันพื้นที่การปลูกกล้วยไข่ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาลมพายุ ทำให้ต้นกล้วยไข่เกิดการโค่นล้มขณะที่ใกล้ได้รับผลผลิต พื้นที่เกิดความเสียหาย ชาวสวนบางรายจึงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น การที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย วว. และหน่วยงานเครือข่าย ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับเกษตรกรชาวสวนกล้วยไข่ แสดงให้เห็นว่าผลไม้ไทยที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กล้วยไข่เมืองกำแพงจะกลับมาสร้างชื่อเสียงอีกครั้ง ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ช่วยสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรของจังหวัดได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับกิจกรรมสัญจรภูมิภาคฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27–28 มีนาคม 2562 ณ อาคารทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร กิจกรรมทั้งสองวันมุ่งเน้นให้ความรู้กับเกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หน่วยงานพันธมิตร เกษตรกรต้นแบบ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตรต่างๆ อาทิ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดคุณภาพสูง เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับการเกษตรเชิงพื้นที่ นวัตกรรมการผลิตกล้วยไข่เชิงการค้าแนวใหม่ การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากกล้วยไข่ เทคนิคให้ได้มาตรฐาน อย. การสร้างแบรนด์และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตผลทางการเกษตร เครื่องจักรแปรรูปผลิตผลเกษตรสร้างอาชีพ การวางแผนธุรกิจสำหรับผลิตผลทางการเกษตร อันเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะ รวมทั้งเปิดมุมมองใหม่ให้แก่เกษตรกรได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดเป็นธุรกิจให้กับเกษตรกร