“พญายอ” สมุนไพรชั้นยอดแก้พิษงูได้ดีมาก

พืชไทยที่เรารู้จัก ยังมีอีกมากมายหลายร้อยชนิด ในกลุ่มพืชผัก คือพืชที่เรานำมาประกอบอาหารหรือเป็นผักสดกิน และเป็นกลุ่มสมุนไพร คือพืชที่เรานำมาใช้เป็นยารักษาโรค ยาบำรุงร่างกาย ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งพืชผักหลายชนิดถูกจัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรด้วย จะเรียกรวมกันว่าพืชผักสมุนไพรก็คงไม่ผิดนัก เช่น ผักชนิดนี้ ที่หลายคนรู้จักดี หลายคนรู้จักผิวเผิน และหลายคนยังไม่รู้จัก ชื่อไพเราะเพราะพริ้งว่า “พญายอ”

“พญายอ” เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ สรรพคุณสูงชนิดหนึ่ง และเป็นผักที่ชาวบ้านนิยมมากชนิดหนึ่งเช่นกัน แม้แต่ชนชั้นผู้ใหญ่ ระดับผู้นำชนชาติแต่ก่อนเก่าจนถึงปัจจุบัน ยังให้ความชื่นชมเยินยอ คาดเดาว่า คงเป็นพืชที่มีความพิเศษเป็นแน่แท้ “พญายอ” มีหลายชื่อที่เรียกกัน แต่ละพื้นถิ่น เช่น ทางเชียงใหม่ เรียก ผักมันไก่ หรือผักลิ้นเขียด ทางลำปาง เรียกพญาปล้องคำ ภาคกลางเรียกหลายชื่อ พญาปล้องดำ ก็เรียก พญาปล้องทอง ก็เรียก เสลดพังพอนตัวเมีย ก็เรียก ทางกะเหรี่ยง เรียก โผะโซ่จาง หรือ ลิ้นมังกร ที่แม่ฮ่องสอน เรียก ลิ้นงูเห่า พญายอ ก็มีอีกหลายชื่อที่เรียกกัน มีเรื่องเล่าขานต่อกันมาว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน มีการให้นามพืชชนิดนี้ว่า “พญายอ” จึงเรียกกันโดยทั่วถ้วนมาตลอด

พญายอ เป็นพืชในวงศ์  ACANTHACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์  Clinacanthus siamensis

เป็นไม้พุ่มเลื้อย สูง 1-3 เมตร ขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนซุย แสงแดดพอเพียง พบที่ป่าผลัดใบทั่วไป มีลำต้นกิ่งก้านสีเขียว  ใบเดี่ยวสีเขียวสดถึงเขียวเข้ม ใบขอบขนาน แคบ 0.5-1.5 x 2.5-3.0 เซนติเมตร ออกตรงข้ามกัน ปลายใบ ฐานใบ 2 ข้างไม่เท่ากัน ยาวเหลื่อมกันเล็กน้อย ขอบใบเรียบ มีหยักเล็กน้อย เส้นใบนูนเห็นชัดเจน ยอดอ่อนสีเขียวอ่อนกว่าใบแก่ บ้างอาจมียอดสีเหลืองอมขาว ขึ้นอยู่กับสภาพความสมบูรณ์ของดิน น้ำ แสง ดอกออกเป็นช่อกระจุก จากปลายยอด มี 5 ดอกย่อย กลีบรองดอกยาว ประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนเล็กน้อย โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนล่างชูขึ้น มีขีดสีเหลือง ปลายกลีบส่วนบนโค้ง เกสรตัวผู้ 2 อัน ติดปลายกลีบส่วนบน รังไข่แบน ก้านเกสรตัวเมียคล้ายเส้นด้าย ผลเป็นผลแห้ง มี 4 เมล็ด ก้านอาจแตกเป็นริ้วรอยยาว แต่ที่แน่ๆ ไม่ค่อยออกดอกออกผลให้เห็น มีตอนกระทบความแห้งแล้งในบางที่เท่านั้น

ความเชื่อของคนที่รู้จัก พญายอ เชื่อกันว่า ถึงแม้มีรสจืดชืด แต่เป็นยาที่มีฤทธิ์ ในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคเริม งูสวัด อีสุกอีใส พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แม้แต่พิษงูเห่า ในความเป็นสมุนไพรนั้น หมอไทยรู้กันมานานแล้วว่าใช้ได้ผลดีมากกับโรคภัยต่างๆ ที่กล่าวมา จนหมอแผนใหม่ก็ให้การยอมรับ ผลจากการวิจัยทางการแพทย์ พบว่า น้ำสกัดจากใบพญายอ ใช้ต้านทานพิษงูเห่าได้ผลดีมาก ผลิตเป็นครีมพญายอ 5% รักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ เทียบได้กับยา Acyclovir แต่ครีมสมุนไพรพญายอ มีคุณสมบัติที่ดี ใช้แล้วไม่เกิดอาการแสบ ระคายเคือง ใช้ทาแผลทุกวัน จะตกสะเก็ด หายภายใน 3-7 วัน ครีมพญายอ ยังใช้รักษาโรคงูสวัด โดยใช้ทาแผลวันละ 5 ครั้ง แผลตกสะเก็ด หายภายใน 7-10 วัน หรืออาจใช้ในรูป กลีเซอริน และทิงเจอร์ รักษาแผลงูสวัด แผลอักเสบในปากได้ พญายอมีสารออกฤทธิ์ สารประกอบฟลาโวนอยด์ สกัดด้วยเหล้าโรง รักษาแผลอักเสบต่างๆ ได้ดี และอีกหลายโรคที่มักเป็นกัน เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ไข้หวัด มีวิธีการใช้เป็นยามากมายหลายวิธี เช่น กลั่น สกัด บด ตำ หรือกินสด และเชื่อว่ามีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส HSV2 ตัวก่อเกิดโรคงูสวัดนั่นเอง

พญายอ ถึงแม้ว่ารสชาติจะจืดชืด แต่ก็ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ บางคนบอกว่ากลิ่นเอียน เหม็นเขียว อย่างที่รู้กันว่า มีสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคนเรา เป็นสมุนไพรที่สุดยอดคุณค่า ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแล้ว ด้วยการพิสูจน์ผลลัพธ์ที่มีผู้ได้รับมาแล้ว กรรมวิธีที่ทำให้เราเห็นผลถึงสรรพคุณ หลายส่วนพบได้จากการใช้เป็นยารักษาโรคภายนอก หลายส่วนเกิดจากการกินเข้าร่างกายในรูปอาหาร การประกอบอาหารด้วยใบอ่อน ยอด ผักพญายอ เช่น แกงแคของคนเหนือ แกงอ่อมของคนอีสาน หรือการลวกเป็นผักเคียงกับน้ำพริก บางคนเคยหั่นฝอยชุบแป้งทอดกรอบ เป็นผักทอดกินเล่น หรือแกล้มน้ำพริกต่างๆ หวาน มัน อร่อย เมื่อมีการปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อผักพญายอลงท้อง ถูกย่อยนำเอาสารอาหารและเส้นใยอาหารให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ตามคุณสมบัติของพญายอ ทั้งสารอาหาร สารสมุนไพร กากเส้นใย ให้ประโยชน์อย่างมากมาย ร่างกายเรารับไปเต็มๆ

การปลูกต้นพญายอ การเตรียมดินควรปรับดินให้มีความร่วนซุย โดยผสมอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก คือมูลสัตว์ต่างๆ หรือปุ๋ยหมัก ที่เกิดจากการหมักย่อยสลายของเศษซากพืช ใบไม้ หญ้า เป็นที่ที่มีความชื้นพอสมควร ขยายพันธุ์ปลูก ด้วยการตัดกิ่งพญายอที่แก่ปานกลาง เป็นท่อนๆ ให้มีข้อประมาณ 3-4 ข้อ ต่อท่อน ลิดใบออก หรือตัดใบทิ้ง 2 ใน 3 ส่วน ปักชำลงแปลง ให้ข้อที่อยู่ด้านโคนฝังลงดิน ไม่น้อยกว่า 1 ข้อ ปักชำเป็นหลุม หลุมละ 3 ท่อน ระยะห่างหลุม 60×80 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม คลุมแปลงด้วยเศษหญ้าแห้งหรือฟาง บังแสงแดดไม่ให้โดนแดดจัดในระยะแรก จนประมาณ 2 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นการแตกยอดใหม่ ดูแลรักษา ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ประมาณ 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวยอดพญายอไปทำอาหาร ไปจำหน่าย ไปทำยาสมุนไพร หรือไปแปรรูปต่างๆ ได้ตามประสงค์ และไม่ควรปล่อยให้ต่างชาติเอาไปเป็นลิขสิทธิ์หาประโยชน์จากพญาไม้นี้

พญายอ ที่แตกพุ่มใบสดเงางาม เลื่อมมัน ยอดอวบอ้วน ใบพลิ้วเรียวยาว โบยพลิ้วยามต้องสายลม เป็นผักที่ชวนเด็ดกิน รูปทรงกิ่งยอดสวยงาม มีสง่าดุจนางพญาแห่งเมือง ดุจมีอำนาจบารมี ศักดิ์ศรี และคุณค่า แสวงหาปลูกเพาะไว้มุมสวน มุมบ้าน กระถางมังกร เป็นความงาม เป็นประโยชน์ แก่บ้านเรากันทั่วถ้วนทุกทิศทาง