4สมาพันธ์องค์กรภาคเกษตรจี้รัฐปลดล็อกกฎหมายGMO

นักวิชาการเกษตร 4 องค์กรจี้รัฐปลดล็อก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ หวั่น คกก.สิ้นสุดวาระปิดช่องสู่ สนช. ชี้ความจำเป็นและของประโยชน์เพื่อสอดรับปฏิวัติภาคเกษตรสู่ไทยเเลนด์ 4.0 ด้านกรมวิชาการคุมเข้มเผาทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองด่านกักกันพืช หลังพบเอกชนรายหนึ่งนำเข้าโดยไม่มีใบอนุญาต

นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพและอดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทยกล่าวในเวทีเสวนา”พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนั้นสำคัญไฉน” จัดโดย 4 องค์กรภาคเกษตร ว่า ประเทศไทยเคยมีความก้าวหน้าในงานวิจัยเเละพัฒนาพืชเทคโนโลยีชีวภาพถึงขั้นอนุญาตให้มีการทดสอบภาคสนามเเต่ต้องถูกระงับไปตามมติคณะรัฐมนตรีทำให้ต้องหยุดชะงักจนกระทั่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลได้เปิดทางให้แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยากจนปัจจุบันได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ… (GMOs) กลับมาทบทวน และพิจารณาแก้ไขใหม่ก่อนนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ยังคงชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด ดังนั้น ทาง 4 สมาพันธ์องค์กรเกษตร จึงมีความเห็นว่า ก่อนที่คณะกรรมการชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดวาระลงอยากให้รัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับนโยบายนวัตกรรมไทยเเลนด์ 4.0 อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

โดยแถลงการณ์มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ 1.รัฐควรจะเปิดโอกาสให้มีงานวิจัยพัฒนาพันธุวิศวกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการเกษตรควบคู่ไปกับการประเมินความเสี่ยงอย่างเข้มงวด เพื่อจะสอดคล้องกับเเนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0

2.หากเกิดกรณีปัญหาจากการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเรียกร้องค่าชดเชยเสียหายได้และ3.สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชจีเอ็มที่ผ่านการประเมินเเล้วไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เช่น มะละกอในผลไม้กระป๋อง (Fruit Cocktail)

นายวิชา ธิติประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชเเละวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทางสมาคมมีความเห็นพ้องว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเข้ามากำกับดูแลอย่างถูกต้อง ปัจจุบัน 28 ประเทศปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพบนพื้นที่มากกว่า 1,000 ล้านไร่ แต่มีกฎหมายควบคุมชัดเจนว่า ปลอดภัยสามารถปลูกได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ดังนั้น หน่วยงาน และทุกภาคส่วนที่มีความกังวลต้องหันหน้ามาคุยกันว่า จะต้องแก้ไขเรื่องใดไม่ใช่ฟังเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายให้หยุดร่าง พ.ร.บ.ทั้งที่ผ่านกฤษฎีกา แต่เมื่อมีภาคประชาชนไม่เห็นด้วยก็สั่งให้กลับไปทบทวนอีกครั้ง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือรัฐใช้เวลานานเกินไป หากหมดคณะทำงานชุดนี้สิ้นสุดวาระลงจะไม่มีผู้ขับเคลื่อน จึงขอฝากถึงรัฐบาลให้กล้าหาญในการตัดสินใจบนพื้นฐานหลักการทางวิชาการ ขณะเดียวกันเกษตรกรเองต้องกล้าเปล่งเสียง ให้รัฐออกกฎหมายให้เป็นสากลเพื่อก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคต

“ไทยไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องนี้สักฉบับเดียวเราอยากให้มีการเสนองานวิจัยเพื่อบอกว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรหยิบยกปัญหาที่แก้ไขได้มาถกกันบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น มะละกอจีเอ็มได้รับการวิจัยจากทั่วโลกว่าปลอดภัยแต่เขามีการควบคุมถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่ว่าไทยเราเมื่อวิจัยเเล้วก็นำมาใช้ไม่ได้เพราะไม่มี พ.ร.บ. ดังนั้นเมื่อท่านนายกฯ บอกว่า 4.0 เราจะก้าวไปไม่ได้ถ้าไม่มี กม.ควบคุม เรายังมีความหวังว่า พ.ร.บ.จะต้องเกิด เเน่นอนว่าต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ เราไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับภาคเกษตรเท่านั้นแต่ภาคอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ก็ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ด้วยเพราะพ.ร.บ.นี้ควบคุมทั้งพืช จุลินทรีย์เเละสัตว์”

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กล่าวว่า การที่ไทยพยายามจะยกระดับเกษตรไทยแลนด์ 4.0 ได้นั้น การใช้พืชเทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ เพราะการเพาะปลูกพืชปัจจุบันไทยยังคงประสบปัญหาศัตรูพืช สภาพอากาศ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรต้องพึ่งเเต่สารเคมี ที่สำคัญผลผลิตที่ต่ำลงทั้งหมดส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ เมล็ดข้าวโพดและถั่วเหลืองกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอทำให้ต้องนำเข้ากว่า 60% จะยิ่งซ้ำเติมเกษตรกรเข้าไปอีก

รายงานข่าวระบุก่อนหน้านี้ นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างเตรียมเผาทำลายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองนำเข้า จำนวน 14 ตัน จากประเทศบราซิล หลังด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพฯ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ตรวจพบการปนเปื้อนถั่วเหลืองตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMOs) ในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองนำเข้าลอตดังกล่าวจากบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้หลุดลอดเข้าสู่แหล่งปลูกภายในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการผลิต