เกษตรกรปลื้มข้าวโพดหลังนาราคาดี ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตขายผ่านสหกรณ์ ป้อนโรงงานผลิตอาหารสัตว์

เกษตรกรพื้นที่ 37 จังหวัดที่ร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนา เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์สั่งการทุกจังหวัดประสานสหกรณ์ในพื้นที่เตรียมพร้อมจุดรับซื้อ และวางแผนบริการเครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อบริการสมาชิก คาดผลผลิตจะออกมากตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หมดทุกพื้นที่ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ตั้งเป้าสหกรณ์การเกษตรรวบรวมข้าวโพดหลังนาได้ 540,000 ตัน ส่งป้อนเข้าโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ความชื้น 14.5% ราคา 8.30 บาท/กิโลกรัม

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561ในพื้นที่ 37 จังหวัดเป้าหมาย มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 90,375 ราย พื้นที่ปลูกข้าวโพด 764,275 ไร่ การดำเนินโครงการในขณะนี้เข้าสู่ระยะที่ 3 เกษตรกรทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ผลผลิตโดยเฉลี่ย 1,000-1,500 กิโลกรัม/ไร่ และมีบางจังหวัดที่เกษตรกรดูแลผลผลิต ตั้งแต่การปลูกจนเก็บเกี่ยวตามหลักวิชาการ ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 2,200 กิโลกรัม ขณะนี้ปริมาณข้าวโพดที่สหกรณ์รวบรวมแล้วประมาณ 40,721.13 ตัน มูลค่ารวม 265.89 ล้านบาท คาดว่าผลผลิตจะออกมากตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นไป และจะเก็บเกี่ยวได้หมดภายในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณข้าวโพดของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ประมาณ 537,593.23 ตัน และจังหวัดที่คาดว่าจะรวบรวมได้ปริมาณสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 132,951 ตัน เพชรบูรณ์ 57,672 ตัน และพิษณุโลก 55,714 ตัน

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ดูแลเรื่องการตลาดให้กับเกษตรกร โดยการเปิดจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิตประจำทุกอำเภอจำนวน 346 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกร ไม่ต้องขนข้าวโพดไปขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ระยะทางไกล ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้เกษตรกร ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้ประสานสหกรณ์การเกษตรทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่ามีแหล่งรับซื้อข้าวโพดที่แน่นอนและได้ราคาที่เป็นธรรม ขณะนี้ในบางพื้นที่มีเอกชนรายย่อยได้เข้าไปแย่งซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีความมั่นใจที่จะรวบรวมข้าวโพดส่งขายให้สหกรณ์ เนื่องจากสหกรณ์มีเครื่องชั่งน้ำหนักที่ได้มาตรฐานและให้ราคารับซื้อที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์ก็ได้ทำข้อตกลงซื้อขายข้าวโพดกับเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้ว

“ขณะนี้แต่ละจังหวัดได้ทำแผนรวบรวมข้าวโพดเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งกรมได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดประสานกับสหกรณ์เพื่อลงพื้นที่สำรวจแปลงข้าวโพดที่รอการเก็บเกี่ยวและวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกับสมาชิก และสหกรณ์จะต้องบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร รถเกี่ยวและเครื่องสีข้าวโพดสำหรับให้บริการแก่เกษตรกร รวมถึงจะต้องเตรียมพร้อมอุปกรณ์การตลาด ฉาง ลานตาก และโกดัง ที่จะรองรับผลผลิตในช่วงที่ออกมาพร้อมกัน สำหรับข้าวโพดที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวและนำมาขายให้สหกรณ์ ความชื้นเฉลี่ย 28-31% ราคา 6-7 บาท/กิโลกรัม เมื่อสหกรณ์รับซื้อจากเกษตรกรแล้ว จะนำมาอบลดความชื้นเหลือ 14.5% และส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ในราคา 8.30 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้กำหนดราคารับซื้อที่หน้าโรงงานไว้ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกข้าวโพด ความชื้นไม่เกิน 14.5% อยู่ที่ 8 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ เกษตรกรที่หันมาปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง เมื่อหักต้นทุนแล้วจะมีกำไรเฉลี่ย 3,000-4,000 บาท/ไร่ มากกว่าการปลูกข้าวที่หักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรเพียงไร่ละ 700-1,300 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำกว่า และต้นทุนในการทำนาสูงกว่าการปลูกข้าวโพด โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับภาคเอกชน ดูแลตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมมีความสมบูรณ์ของดิน มีการถ่ายทอดความรู้การปลูกและดูแลแปลงข้าวโพด การสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส. การทำประกันภัยพืชผลเพื่อประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร และการใช้นโยบายตลาดนำการผลิต ส่งผลทำให้เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน สามารถขายได้ในราคที่เป็นธรรม และช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว