สวนพริกเตรียมรับมือเพลี้ยไฟพริกระบาด

สภาพอากาศร้อนและแดดจัดในระยะนี้ เกษตรกรผู้ปลูกพริกเตรียมรับมือการระบาดของเพลี้ยไฟพริก สามารถพบได้ในระยะที่ต้นพริกออกดอกและติดผล เริ่มแรกจะพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยง จากยอด ใบอ่อน ตาดอก และดอก ทำให้ใบหรือยอดอ่อนหงิก ขอบใบหงิกหรือม้วนขึ้นด้านบน ถ้าเพลี้ยไฟพริกเข้าทำลายในระยะที่ต้นพริกออกดอก จะส่งผลทำให้ดอกพริกร่วงไม่ติดผล ส่วนการเข้าทำลายในระยะติดผล จะทำให้รูปทรงของผลพริกบิดงอ หากระบาดรุนแรง จะทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโตหรือแห้งตายในที่สุด

เพลี้ยไฟพริก

เกษตรกรควรสุ่มสำรวจตรวจต้นพริก 100 ยอดต่อไร่ ในทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้วิธีการเคาะลงบนแผ่นพลาสติกสีดำ และป้องกันกำจัดเมื่อพบเพลี้ยไฟพริกเฉลี่ยมากกว่า 5 ตัวต่อยอด ในขั้นต้นควรเพิ่มความชื้นให้ต้นพริกด้วยการให้น้ำ อย่าปล่อยให้ต้นพริกขาดน้ำ เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอ และเพลี้ยไฟพริกจะระบาดได้อย่างรวดเร็ว หากพบการระบาด สำหรับในแหล่งปลูกใหม่ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และควรพ่นซ้ำตามการระบาด

ส่วนในแหล่งปลูกเดิม ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสเอล อัตรา 20-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ขณะพ่นสารควรปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยที่สุด และพ่นให้ทั่วตามส่วนต่างๆ ของพืชที่เพลี้ยไฟพริกอาศัยอยู่ กรณีระบาดรุนแรงในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยให้ต้นพริกฟื้นตัวจากอาการใบหงิกได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น

เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562