เกษตรจังหวัดสงขลา ชูนโยบาย “เมืองเกษตร-อาหารปลอดภัย”

ผู้คนส่วนใหญ่ รู้จัก “จังหวัดสงขลา” ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางการค้าสำคัญของภาคใต้ ความจริงจังหวัดสงขลาเป็นแผ่นดินทองทางการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิด ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว พืชผักผลไม้และสินค้าประมง สร้างอาชีพและทำรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรจำนวนมากมาอย่างยาวนาน หากใครอยากรู้ทิศทางสินค้าเกษตรของจังหวัดสงขลาปรับตัวไปในทิศทางไหน ต้องลองฟังคำตอบจากบทสัมภาษณ์ของ “คุณประสงค์ พีรธรากุล” เกษตรจังหวัดสงขลา ได้ในฉบับนี้

ภาพรวม “การเกษตร” จังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ทั้งหมด 4.6 ล้านไร่ มีเกษตรกรกว่า 139,000 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตร 2.6 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ สวนยางพารา 1.97 ล้านไร่ เกษตรกร 87,525 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าว 210,104 ไร่ เกษตรกร 20,000 ครัวเรือน สวนปาล์มน้ำมัน 66,503 ไร่ เกษตรกร 6,253 ครัวเรือน ไม้ผลไม้ยืนต้น 206,138 ไร่ พืชผัก 26,540 ไร่

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่าย เป็นแหล่งให้บริการทางการเกษตรและแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรต้นแบบ เป็นตัวอย่างที่เห็นผลจริงให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ พัฒนาศักยภาพของ ศพก. หลักทั้ง 16 อำเภอ 16 ศพก. และศูนย์เครือข่าย จำนวน 167 จุด ให้ครอบคลุมทุกสาขาความรู้และเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จากการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และความเหมาะสมของการปลูกพืช

คุณประสงค์ พีรธรากุล เกษตรจังหวัดสงขลา เยี่ยมชมโครงการปลูกผักยกแคร่

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

ศูนย์เรียนรู้ด้านยางพารา 9 ศูนย์ ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะเดา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอควนเนียง อำเภอบางกล่ำ และอำเภอเมืองสงขลา

ศูนย์เรียนรู้ด้านข้าว 5 ศูนย์ ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอรัตภูมิ

ศูนย์เรียนรู้ด้านไม้ผล 1 ศูนย์ ได้แก่ อำเภอนาทวี

ศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน 1 ศูนย์ ได้แก่ อำเภอนาหม่อม

งานของดีชายแดนใต้ จังหวัดสงขลา

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ประเมิน ศพก. เพื่อจัดระดับการพัฒนา จำนวน 16 ศูนย์ เพื่อพัฒนาให้มีความพร้อมในการดำเนินงาน พัฒนาศักยภาพ ศพก. ให้มีความพร้อมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ให้บริการอบรมถ่ายทอดความรู้เกษตรกรผู้นำ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้บริการด้านการเกษตรต่างๆ จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) จำนวน 16 ศูนย์ โดยมีการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นโยบายการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อทำการเกษตรแปลงใหญ่ เดิมมีแปลงใหญ่ 6 แปลง แต่ปัจจุบันสามารถขยายแปลงใหญ่ จำนวน 33 แปลงแล้ว กิจกรรมแปลงใหญ่หลักๆ ได้แก่ นาข้าว 15 แปลง ไม้ผล 7 แปลง (ลองกอง ทุเรียน และกล้วย) ไม้ยืนต้น 4 แปลง (ปาล์มน้ำมัน และยางพารา) ผึ้งโพรง 1 แปลง ประมง 2 แปลง (ปลานิล 1 แปลง กุ้งขาวแวนนาไมท์ 1 แปลง) และปศุสัตว์ 3 แปลง (โคเนื้อ 1 แปลง แพะ 2 แปลง) ผักพื้นบ้าน 1 แปลง

สมาชิกแปลงใหญ่รวมทั้งสิ้น 1,795 คน มีเป้าหมายในการพัฒนาเกษตรกรรายย่อยให้เกิดการรวมกลุ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิต และร่วมจัดการการตลาด เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต มีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคีต่างๆ ขณะเดียวกันสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเกษตรกรให้ปรับระบบการผลิตในฟาร์มของตน พัฒนาจากการเป็นผู้ผลิต เป็นผู้ประกอบการทางการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการบริหารจัดการแปลง/ฟาร์ม ก้าวสู่การเป็น Smart Farmer พัฒนาความสามารถของ Young Smart Farmer (YSF) สร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับเครือข่ายของเกษตรกร

ขยายผลโครงการพระราชดำริ

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่และพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรมาดำเนินการขยายผลไปสู่เกษตรกรและชุมชน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ลดลง เกษตรกรสามารถน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต มีการขยายผลองค์ความรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปสู่เกษตรกรทั่วไปใน 4 โครงการ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปีละ 400 คน ในปีที่ผ่านมา

ฟาร์มตัวอย่างขนาดเล็ก

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้ขยายผลโครงการพระราชดำริ ในหลายกิจกรรม เพื่อสืบสานปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่

1. การขยายผลจากโครงการฟาร์มตัวอย่างอำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ภายในฟาร์มตัวอย่างจัดทำแปลงต้นแบบพืชทางเลือกใหม่ ได้แก่ เมล่อน มะเขือเทศเชอรี่ และกิจกรรมผักยกแคร่ เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงได้ศึกษาดูงาน และนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ

2. กิจกรรมเกษตรตามรอยเท้าพ่อ 1 ไร่ ได้หลายแสน

3. โครงการศูนย์สาธิตเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอรัตภูมิ

4. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน

5. โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลายังได้ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนภาคใต้ ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่และอาชีพโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้เกิดความสุขในพื้นที่ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำผลผลิตมาจำหน่ายในงานของดีชายแดนใต้ ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้าน ยุวเกษตรกร และความเข้มแข็งของผู้นำภาคการเกษตรในการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน การส่งเสริมและอนุรักษ์พืชประจำถิ่น ได้แก่ ส้มจุก ส้มแขก จำปาดะไร้เมล็ด เป็นต้น

ส้มจุกจะนะ
ส้มโอหอมหาดใหญ่

พร้อมกันนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้ส่งเสริมพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา ตามนโยบายการขับเคลื่อนสงขลา 12 วาระ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการผลิตไม้ผล พรีเมี่ยม ได้แก่ ทุเรียน จำปาดะ และส้มโอหอมหาดใหญ่ การสร้างคุณค่าตาลโตนด การปลูกและตลาดแปรรูปกาแฟ การขับเคลื่อนสงขลาเป็นเมืองสมุนไพร และการส่งเสริมข้าวแปลงใหญ่

ช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล อาทิ การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2561/2562 ไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 12 ไร่ หรือเงินช่วยเหลือไม่เกิน ครัวเรือนละ 18,000 บาท ขณะนี้จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาได้เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/2562 เป้าหมาย 20,000 ครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2562

สืบเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเสนอ เพื่อเป็นการลดค่าครองชีพควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ให้สามารถรักษาศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 อัตราไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่

ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันตามโครงการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน โดยเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด 6,253 ครัวเรือน หลังจากส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. ก็มีการโอนเงินให้กับเกษตรกรแล้ว

ส่วนการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่ประสบปัญหาภาวะราคายางพาราตกต่ำนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาได้ของบประมาณมาสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยน/ทำกิจกรรมการเกษตรเสริมรายได้ร่วมกับยางพารา ภายใต้โครงการ “แก้จนเกษตรกรสงขลา 4.0” โดยนำร่องในพื้นที่สวนยางพารา อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอนาทวี และอำเภอเมืองสงขลา เช่น ส่งเสริมปลูกผักปลอดภัย และผักยกแคร่ โดยรวมกลุ่มเกษตรกรปลูกผักและส่งโรงพยาบาล โรงงานแปรรูป โดยใช้กลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” ตามนโยบายรัฐบาล

โครงการตลาดเกษตรกรจังหวัดสงขลา

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา จัดให้มี “ตลาดเกษตรกรจังหวัดสงขลา” บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ในช่วงวันอังคารและวันศุกร์ เวลา 06.00-11.00 น. เริ่มเปิดจำหน่ายครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 นโยบายตลาดเกษตรกรฯ ช่วยเปิดโอกาสให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน Young Smart Farmer (YSF) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เกษตรกรรายย่อย เกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 25 ร้านค้า ได้มีจุดจำหน่ายสินค้าเกษตรในลักษณะหมุนเวียน

เปิดตลาดเกษตรกรจังหวัดสงขลา” บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา

กิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดี ต่อมาจึงได้ขยายตลาดเพิ่มอีก 2 จุด คือ บริเวณศูนย์อาหารโรงพยาบาลสงขลา จำนวน 10 ร้านค้า โดยเปิดขายในช่วงวันศุกร์ เวลา 6.00-11.00 น. ส่วนช่วงวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน จะเปิดตลาดเกษตรกรฯ ประมาณ 20 ร้านค้า ณ หลาดสองเลเก๋าเท่ริมเลสาบ ถนนนครนอก อำเภอเมือง ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น.

พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF)

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ได้จัดหลักสูตรพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer (YSF) โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ โดย

ระยะที่ 1 จัดเวทีวิเคราะห์ตัวเอง ปรับแนวคิด สร้างแรงจูงใจ จัดทำแผนที่กิจกรรม (แผนการผลิต/การตลาด) เพื่อค้นหาความต้องการด้านวิชาการและเทคโนโลยีของเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้เกษตรกรประเมินตัวเองด้วยแบบฟอร์มการประเมินคุณสมบัติของ YSF เพื่อนำมาใช้จัดทำแผนพัฒนาตัวเอง พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ และจัดทำช่องทางการเรียนรู้และการติดต่อสื่อสาร

ระยะที่ 2 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อรายงานการเรียนรู้และประสานงานเชื่อมโยงแหล่งความรู้ที่เหมาะสมเพิ่มเติม

Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดสงขลาถ่ายรูปกับ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ระยะที่ 3 จัดเวทีนำเสนอผลงานจากการเรียนรู้ของเกษตรกรรุ่นใหม่ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เชื่อมโยงเครือข่ายระดับจังหวัดและให้เกษตรกรรุ่นใหม่วางแผนอนาคต สรุปและประเมินผลการเรียนรู้ พร้อมทั้งประเมินคุณสมบัติของ YSF ประธานเครือข่าย YSF วิธีปฏิบัติ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้หรือการเพิ่มช่องทางการตลาด-การวางแผนอนาคต

เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ในระดับอำเภอและจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ประสานหน่วยงานภาคีเพื่อสนับสนุนด้านวิชาการ ศึกษาดูงาน นวัตกรรม การตลาดและอื่นๆ จากหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคี ภาครัฐและเอกชน เป็นผู้ประสานงานที่ดี คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร