เผยแพร่ |
---|
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เป็นชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่เพื่อออกตรวจ ป้องปราม ระงับ ยับยั้ง และแจ้งเหตุการณ์เผาในพื้นที่เกษตร โดยมีเครือข่าย เกษตรกร ศพก. เป็นหน่วยเฝ้าระวังป้องกันและปลุกจิตสำนึกในการไม่เผาเศษซากพืช และวัสดุทางการเกษตร ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ เร่งลดผลกระทบในพื้นที่ให้มากที่สุด
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้เกษตรจังหวัดลงพื้นที่ให้ควบคุม กำกับดูแล รวมทั้งเข้มงวด ไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตร ในความรับผิดชอบอย่างเคร่งครัด และเร่งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผา ผ่านเวทีการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ รวมทั้งการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (field day) ที่ทุกจังหวัดจัดอยู่ขณะนี้ พร้อมทั้งให้มีการถ่ายทอดเรื่องของเทคโนโลยีจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยให้วิเคราะห์เป็นรายพืช เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างไรให้เหมาะสม และให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ทั่วประเทศ และศูนย์เครือข่าย เช่น ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อีก 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ
นายสำราญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นาและชุมชน เช่น ซังข้าวโพด ฟางข้าว เศษกิ่งไม้ ใบอ้อย ให้เกิดประโยชน์ โดยสร้างเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างชุมชนผลิตปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต ด้วยการทำปุ๋ยหมักใช้เอง ลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นรายได้ โดยให้ ศพก. และเครือข่าย รวบรวมจำหน่ายเป็นวัสดุผลิตพลังงานชีวมวล และลดการเผา ในพื้นที่เกษตรซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดินเสื่อมโทรม ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน มลภาวะทางอากาศ ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ จัดทำจุดสาธิตวิธีการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีทดแทนการเผา ทั้งการนำมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การไถกลบ การหมัก การเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธี โดยให้ชุมชนได้ศึกษา ทดลองและเรียนรู้ แล้วสรุปเป็นโมเดลการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของชุมชนเอง ขยายผลสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป