วว.โชว์สาธิตผลงานวิจัยนวัตกรรม “เกษตรสมัยใหม่ เพื่อประเทศไทยยั่งยืน” เพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยทีมวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ นำผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม “เกษตรสมัยใหม่ เพื่อประเทศไทยยั่งยืน” (Modern Agriculture for National  Sustainability) ร่วมจัดนิทรรศการพร้อมบรรยายพิเศษ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2562 ณ บู๊ธ CL4 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ โดยผลงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการโอท็อป SMEs Startup และภาคอุตสาหกรรม ในการเพิ่มผลผลิต เพิ่มศักยภาพการแข่งขันอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

เกษตรสมัยใหม่ เพื่อสังคมเมือง ได้แก่ ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำ ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things : IoTs) ในการติดตามสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโตของผักในโรงเรือนปลูกผักด้วยน้ำผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เช่น ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอากาศ ควบคุมค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ และควบคุมความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารในน้ำ ถ้ามากไปหรือน้อยไประบบควบคุมอัตโนมัติสามารถลดหรือเพิ่มค่าที่ควบคุมต่างๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้สภาพแวดล้อมเกิดความสมดุล ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก โดยค่าที่วัดได้จะถูกส่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตไปยังสมาร์ทโฟน ทำให้สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ภายในโรงเรือน และสามารถสั่งงานย้อนกลับมายังกล่องควบคุมอัตโนมัติได้ มีการนำไปใช้งานที่บริษัทอินดัสเตรียลออโตเมชั่น แอนด์ อินโนเวชั่น จำกัด จังหวัดนนทบุรี

เกษตรสมัยใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมไทย ได้แก่ ระบบสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์แบบ Gantry Robot ชนิดควบคุมอัตโนมัติ ใช้สุ่มตรวจคุณภาพวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และลดแรงงานในการผลิตอาหารสัตว์ ทั้งชุดสามารถสุ่มตรวจได้ 7 จุด ทำงานแบบอัตโนมัติ ตลอดจนสามารถจำแนกประเภทของรถบรรทุกได้ มีการนำไปใช้งานที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ณ โรงงานจังหวัดนครราชสีมา ลำพูน พิษณุโลก ขอนแก่น ลพบุรี ราชบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และสงขลา และนำไปใช้งานที่บริษัท ทรัพย์สถาพร จำกัด ณ โรงานจังหวัดลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา

เกษตรสมัยใหม่ เพื่อการส่งออกเมล็ดกาแฟอินทรีย์คุณภาพสูง ได้แก่ เครื่องคัดแยกกาแฟเชอรี่สด  (Coffee Cherries Sorting Machine) ใช้ระบบการทำงานการประมวลผลภาพ (Image Processing)  การนำภาพมาประมวลผลหรือคิดคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงคุณภาพและปริมาณ ส่วนประกอบที่สำคัญ มีกำลังการผลิต 50 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ช่วยลดการใช้แรงงาน และเครื่องคัดแยกขนาดเมล็ดสารกาแฟ (Coffee Bean Separator Machine) สามารถคัดขนาดแยกเมล็ดสารกาแฟได้ 3 ขนาดเกรด เอ (A) เกรดเอ็กซ์ (X) และเกรดวาย (Y) มีกำลังการผลิต 100 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ช่วยลดการใช้แรงงาน มีการนำไปใช้งานที่ไร่กาแฟอินทรีย์รักษาป่า “มีวนา” บ้านขุนลาว ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

เกษตรสมัยใหม่ เพิ่มมูลค่ายางพาราเพื่อการส่งออก ได้แก่ เครื่องชุบถุงมือผ้าเคลือบยางกึ่งอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราซึ่ง วว. วิจัยและพัฒนาสำเร็จ การทำงานใช้กลไกระบบ Geneva Cross ที่มีการเคลื่อนที่เป็นวงกลมเป็นจังหวะ โดยจังหวะหยุดการเคลื่อนที่ เป็นจังหวะที่ใช้ในการจุ่มสารเคลือบและขั้นตอนการจุ่มน้ำยาง ซึ่งใช้ระยะเวลา 15-20 วินาที ต่อคู่ ระบบควบคุมด้วย (PLC Programmable Logic Control) ที่สามารถเขียนโปรแกรมจากคอมพิวเตอร์ มีการนำไปใช้งานกลุ่มชาวสวนยางบ้านในสวน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตและจำหน่ายถุงมือผ้าเคลือบยางทั้งในและต่างประเทศ เช่น อิสราเอล

เกษตรสมัยใหม่ เพิ่มรายได้ ลดแรงงาน ได้แก่ เครื่องแยกเมล็ดทะลายปาล์มอัตโนมัติ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. ชุดป้อนปาล์มทะลายเข้าระบบ 2. ชุดอุปกรณ์แยกผลปาล์มออกจากทะลาย และ 3. ชุดแยกและลำเลียงผลกับทะลายปาล์มออกจากระบบ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ใช้งานได้ง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพสูง ลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ มีการนำไปใช้งานที่สหกรณ์กองทุนสวนยางโมถ่าย จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี