สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ยางไทยเติบโตยั่งยืน

“ยางพารา” นับเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีพี่น้องเกษตรกรชาวสาวยางพาราถึง 1.6 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกยางพารามากถึง 23 ล้านไร่ ผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน ต่อปี ส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ล้านบาท

ราคาซื้อขายยางพาราในตลาดโลก ถูกกำหนดจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกว่า 90% เป็นการเก็งกำไร ส่งผลทำให้ราคายางพารามีความผันผวนค่อนข้างมาก ประกอบกับมีผู้ขายยางจำนวนมากแต่มีผู้ซื้อน้อยราย ส่งผลให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ขาย แถมระยะหลังราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของยางสังเคราะห์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

ผู้ซื้อยางจำนวนมากจึงหันไปใช้ยางสังเคราะห์ ที่มีราคาถูกเพื่อลดต้นทุน ส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติประสบกับภาวะตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน นอกจากนี้ การผลิตยางพาราของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถแข่งขันราคายางไทยในตลาดโลก

รศ. อาซีซัน นำเสนอนวัตกรรมยางพาราแก่นายกรัฐมนตรี

โจทย์ท้าทายเพื่อความอยู่รอดของอาชีพการทำสวนยางและอุตสาหกรรมยางพาราของไทย ที่รัฐบาลโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำลังเร่งดำเนินงานอยู่คือ ผลักดันยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

โดยมีเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1. ลดพื้นที่ปลูกยางลงจาก 23.3 ล้านไร่ ให้เหลือ 18.4 ล้านไร่ 2. เพิ่มปริมาณผลผลิตยางจาก 224 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี ให้เป็น 360 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี 3. เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศจากร้อยละ 13.6 ให้เป็นร้อยละ 35 4. เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจาก 250,000 ให้เป็น 800,000 ล้านบาท ต่อปี 5. เพิ่มรายได้ในการทำสวนยางจาก 11,984 บาท ต่อไร่ ต่อปี ให้เป็น 19,800 บาท ต่อไร่ ต่อปี

การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ไม่ใช่แค่ กยท. หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่ฝ่ายเดียว แต่ยังรวมไปถึงตัวเกษตรกร ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยางพารา รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือร่วมใจในการผลักดัน ยุทธศาสตร์นี้ได้เดินตามวางกรอบแนวทางที่วางไว้

เช่น สถาบันเกษตรกรฯ ปรับเปลี่ยนจากการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นไปเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา การจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ได้มาตรฐาน มอก. รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกร ภาคเอกชนนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ยางพารา

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (NR-IRI PSU) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษา ที่ขับเคลื่อนภารกิจด้านยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดบทบาทเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อทุกการเติบโตของการพัฒนานวัตกรรมยางพารา สู่เชิงพาณิชย์ ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ

โลโก้ สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา

ที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยฯ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมยางพารา เช่น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ฯลฯ

มอ.สงขลา ถ่ายทอดนวัตกรรมยางพาราสู่การใช้ประโยชน์

ร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา กระตุ้นการใช้ยางพาราภายในประเทศ ทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากต่างประเทศ ควบคู่กับการผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไทยสู่ตลาดโลก ตามยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ของ กยท.

รศ. อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา (NR-IRI PSU ) กล่าวว่า สถาบันวิจัยฯ วางเป้าหมายเป็นสะพานเชื่อมวิจัยและนวัตกรรมยางพาราสู่การใช้ประโยชน์ โดยกำหนดรูปแบบกิจกรรมดังนี้ 1. สร้างองค์ความรู้ยางพาราเชิงลึก 2. สร้างนวัตกรรมยางพารา 3. การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมยางพาราให้เกิดประโยชน์ 4. การสร้างเครือข่าย/แบ่งปันความรู้ด้านยางพารา 5. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านยางพารา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0”

รศ. อาซีซัน แกสมาน

ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยฯ ได้ร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการโครงการการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง อาทิ สนามฟุตซอล สระเก็บน้ำจากยางพารา หมอนที่นอนยางพารา ถุงมือ ฯลฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง พัฒนาบุคลากรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และสร้างเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ตรัง พัทลุง ยะลา และสตูลมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมกับทางสถาบันวิจัยฯ จะได้รับความรู้เกี่ยวกับยางพาราในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน แผนธุรกิจและการตลาด มาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรมและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ความรู้ทั่วไปของผลิตภัณฑ์ยาง การแปรรูปยางดิบ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยาง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเคลือบสระกักเก็บน้ำด้วยน้ำยางเข้มข้นชนิดครีม เป็นผลงานวิจัยที่ช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี และเป็นอีกหนึ่งช่องที่ช่วยน้ำยางพารามีราคาที่สูงขึ้น ในภาวะราคายางพาราตกต่ำ

สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ส่งเสริมนวัตกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางแห้ง กับสหกรณ์ชาวสวนยางฯ

นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม วางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราในภาคใต้ ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งผลักดันการสร้างเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล  ปัจจุบันทางสถาบันวิจัยฯ ร่วมมือกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center : ITC 4.0) ในพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา เปิดให้บริการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการยางพาราให้ก้าวเข้าสู่การเป็น SMEs 4.0 รวมทั้งพัฒนาห้องแล็บ สำหรับวิจัยผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้ในระดับสากล

จับมือเอกชนพัฒนานวัตกรรมยางพารา

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ทางสถาบันวิจัยฯ ได้จัดกิจกรรมลงนามความร่วมมือ กับภาคเอกชน 3 บริษัทชั้นนำทางด้านยางพารา ได้แก่ 1. บริษัท อินเตอร์แนชชั่นแนลรับเบอร์พาทส์ จำกัด 2. บริษัท รับเบอร์ไอเดีย จำกัด 3. บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันดำเนินการผลักดันการนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกมาสู่การใช้ประโยชน์ ในมิติต่างๆ เช่น การขยายส่วนการผลิต การประชาสัมพันธ์ การวิเคราะห์ในเชิงการตลาด การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมยาง และการสหกิจศึกษา ของนักศึกษาของมหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยฯ เซ็น เอ็มโอยู พัฒนานวัตกรรมยางกับภาคเอกชน
สถาบันเกษตรกรยางพาราฯ (สยยท.) เยี่ยมชมนวัตกรรมแปรรูปยาง

รศ.อาซีซัน กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว ทางสถาบันวิจัยฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อนำเสนอบริการต่างๆ เพื่อให้ภาคเอกชนเข้าถึงมหาวิทยาลัย เช่น การแนะนำ บริการ ของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ การแนะนำบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ การนำเสนองานวิจัย และความพร้อมในการร่วมกันทำวิจัย จากคณาจารย์ ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาง อาทิ คณะวิศกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ทางสถาบันวิจัยฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้ โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปต่อยอด ในภาคอุตสาหกรรมได้เกิดประโยชน์ต่อไป

พัฒนานวัตกรยางพารารุ่นใหม่

ทางสถาบันได้เดินตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลที่ใช้ “นวัตกรรม” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า (Value Added) นำไปสู่การสร้างมูลค่า (High Value) หรือการสร้างผลิตภาพ (Productivity) นั่นเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นต้องเติมเต็ม “ทุนมนุษย์” เพื่อเป็นตัวแปรขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านยางพารา

โครงการติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม

ที่ผ่านมาทางสถาบันวิจัยฯ ได้เปิดเวทีพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่   กิจกรรมค่ายนวัตกรยางพารารุ่นใหม่ (Natural Rubber – Young Innovator Camp : NR-YIC) โดยทางสถาบันวิจัยฯ ได้นำนักวิจัยด้านยางพาราและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มและเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน กิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการรวมกลุ่มของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทำงานเชิงนวัตกรรมแบบบูรณาการ นําผลงานวิจัยนําไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งมีโอกาสพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต

คณะทำงานสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา

นอกจากนี้ ทางสถาบันวิจัยฯ ยังได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอี แบงก์ จัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ SME และ Startup ยางทั่วประเทศจำนวน 50 ราย ภายใต้ชื่อโครงการ SME – D Scale up rubber innovation ติดปีกธุรกิจยางพาราด้วยนวัตกรรม กิจกรรมนี้ ผู้เข้าอบรมนอกจากได้รับความรู้ แรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบใหม่แล้ว ยังได้ทุนสนับสนุนจาก เอสเอ็มอี แบงก์ ในการดำเนินธุรกิจด้วย

โครงการดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปีนี้ จะจัดกิจกรรมแบบนี้ต่อเนื่องอีกครั้ง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดโครงการได้จาก สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชั้น 9 อาคาร 2 ศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ (Learning Resource Center Building) ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110 โทรศัพท์ (074) 282-267-69 โทรสาร (074) 282-266 E-mail: [email protected]