กรมส่งเสริมการเกษตรเผยมาตรการสู้ภัยแล้ง พร้อมแนะเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล – ไม้ยืนต้นวางแผนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัดน้ำ

ปี 2562 ประเทศไทยเสี่ยงเผชิญวิกฤตภัยแล้งมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อนทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ฤดูร้อนมาเร็วกว่าทุกปี และมีอุณหภูมิความร้อนสูงขึ้นกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส กรมส่งเสริมการเกษตรคาดการณ์ว่า พื้นที่การเกษตรหลายแห่งอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม- มิถุนายน 2562 จึงได้กำหนดมาตรการจัดการภัยแล้ง เพื่อลดผลกระทบและดูแลช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งในปีนี้

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2561/62 โดยพิจารณาจากนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยกำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จำนวน 16.08 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชในเขตชลประทาน จำนวน 10.46 ล้านไร่ แยกเป็น นาข้าว 8.03 ล้านไร่ พืชไร่ และพืชผัก 2.43 ล้านไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน 5.62 ล้านไร่ แยกเป็นนาข้าว 3.18 ล้านไร่ พืชไร่ และพืชผัก 2.44 ล้านไร่

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ปัจจุบัน พบว่า ทั่วประเทศมีเกษตรกรเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว จำนวน 13.43 ล้านไร่ ในเขตชลประทาน จำนวน 9.31 ล้านไร่ แยกเป็น นาข้าว 8.74 ล้านไร่ พืชไร่และพืชผัก 0.57 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว จำนวน 4.12 ล้านไร่ แยกเป็น นาข้าว 2.64 ล้านไร่ พืชไร่และผัก 1.48 ล้านไร่

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดมาตรการดูแลเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562 ดังนี้ 1. ระยะเตรียมความพร้อม ได้แก่ การเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบ จัดทำฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรด้านพืชให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำการดูแลรักษาต้นพืช ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ได้จัดทำโครงการปลูกพืชทดแทนนาปรัง โดยพิจารณาให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร และตลาด มีสถานที่จำหน่าย ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น โครงการปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรังปี 2562 โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 และสนับสนุนด้านวิชาการ รวมถึงการประกันภัยพืชผล

2. การจัดการในภาวะฉุกเฉิน เน้นขอความร่วมมือเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และประเมินผลกระทบเบื้องต้น และ 3. การฟื้นฟู จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและประเมินความเสียหายภายใน 15 วัน ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามระเบียบราชการ รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรคาดการณ์ว่า พื้นที่นาข้าว พืชไร่และพืชผัก จะไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 ส่งผลให้อุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนสูงกว่าปี 2561 และยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา อาจกระทบกับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร มีข้อปฏิบัติในการดูแลพืช โดยขอให้เกษตรกรวางแผนการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัดตลอดฤดูแล้ง ควรให้น้ำพืชเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อลดการระเหยของน้ำ เลือกใช้ระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และชนิดพืช รักษาความชื้นในดิน โดยใช้วัสดุคลุมหน้าดิน เช่น ใบไม้ ฟางข้าวและหญ้าแห้ง นอกจากนี้ ควรตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดการคายน้ำของพืช หากเกษตรกรมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน