ไทย-ไอแอลโอ ฉลองความสัมพันธ์ 100 ปี อย่างยิ่งใหญ่ เปิดตัวแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าฉบับปฐมฤกษ์

รมว.แรงงาน เปิดงานกิจกรรมถ่ายทอดสดการเฉลิมฉลองครบ 100 ปี การก่อตั้งไอแอลโอซึ่งไทยเป็น 1 ใน 24 ประเทศไทยสมาชิกที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมกิจกรรมถ่ายทอดสดผ่านทางเฟสบุ๊คกระทรวงแรงงานและไอแอลโอ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและไอแอลโอ ลงนามบันทึกความเข้าใจขับเคลื่อนแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานกล่าวเปิดงานกิจกรรมถ่ายทอดสดเนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานโดยกล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 42 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง ILO ซึ่งเป็นผลจากการร่วมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2462 ตลอดระยะเวลา 100 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีและเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนามิติด้านแรงงานอย่างใกล้ชิดกับ ILO ในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และส่งเสริมการเจรจาทางสังคม ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 24 ประเทศสมาชิก ILO ที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมกิจกรรมการถ่ายทอดสดการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผ่านทางเฟสบุ๊คของกระทรวงแรงงานและไอแอลโอ

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความสัมพันธ์อันดีและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม ส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ส่งเสริมการเจรจาทางสังคมเพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานสร้างงานที่มีคุณค่า โดยการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเข้มแข็ง โดยกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน ได้แก่ สารแสดงความยินดีจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี การจัดทำและเผยแพร่หนังสือประวัติศาสตร์ 100 ปี ความสัมพันธ์ไทย และILO การจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึกเพื่อจำหน่าย และกิจกรรมไฮไลท์ของงาน คือ การเปิดตัวแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า (Decent Work Coutry Program:DWCP) ซึ่งเป็นแผนฉบับแรกของประเทศไทย โดยจะจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้แทนกระทรวงแรงงานองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และ ILO

โดยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการให้สัตยาบันกับไอแอลโอแล้วจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1)ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 2) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ.1958 3) ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ ค.ศ.1930และ 4) ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง โครงการความปลอดภัยและยุติธรรม : สิทธิและโอกาสของแรงงานต่างด้าวสตรีในภูมิภาคอาเซียน โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติโครงการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย และการสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทย ปี พ.ศ.2561