“ญี่ปุ่น” ไฟเขียวนำเข้า “ส้มโอไทย” ผลผลิตไม่พอขายต่างชาติแห่ซื้อ

ข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกและเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ เร็ว ๆ นี้ ช่วงเดือนเมษายนจะสามารถส่งออกส้มโอพันธุ์ทองดีเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น โดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ในการส่งออกไปญี่ปุ่นในอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 รวมไปถึงเพิ่มตลาดส่งออกเส้นทาง R3 ลาว-เวียดนาม-จีน และโดยเฉพาะ “ส้มโอเวียงแก่น” แหล่งปลูกแห่งเดียวที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน

โอกาสส่งออกตลาดใหม่

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ไทยจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ในการส่งออกส้มโอพันธุ์ทองดีในการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยอัตราภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ภายในเดือนเมษายน 2560 อันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะขยายการส่งออกส้มโอสู่ต่างประเทศมากขึ้น ที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังมีความต้องการส้มโออีกมากประกอบกับผู้บริโภคญี่ปุ่นมีกำลังซื้อสูง จึงนับว่าเป็นโอกาสของเกษตรกรและผู้ส่งออก ขณะเดียวกันตลาดส่งออกเวียดนามและลาวก็มีโอกาสและมีเเนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ตลาดจีนเเละฮ่องกงนั้นยังมีความต้องการนำเข้าส้มโอเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากชาวจีนเชื่อถือว่าส้มโอเป็นผลไม้มงคลสื่อถึงความสมบูรณ์พร้อม นิยมใช้ในการประกอบพิธีต่าง ๆ ทุกเทศกาลโดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน

“เวียงแก่น” แห่งเดียวส่งออกอียู

ส้มโอเป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการปลูกส้มโอพันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวใหญ่ 60% และพันธุ์เซลเลอร์ 40% รวมพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 2,200,000 ผล เป็นแหล่งผลิตส้มโอที่ได้มาตรฐานทั้งจีเอพี (GAP) และจีเอ็มพี (GMP) และเป็นแหล่งปลูกเดียวที่สามารถส่งออกไปยังตลาดกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ได้ตั้งแต่ปี 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปี 2559 นี้ ได้มีการส่งออกส้มโอเวียงแก่นไปยัง EU แล้ว ประมาณ 40,000 ผลสร้างรายได้ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท/ปี

เส้นทาง R3 เพิ่มช่องรุกตลาดจีน

ขณะนี้วิสาหกิจชุมชนส้มโอเวียงแก่นได้ส่งออกส้มโอไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง และเวียดนามด้วย โดยเฉพาะจีนมีความต้องการนำเข้าค่อนข้างมากและมีโอกาสทางการตลาดสูง ซึ่งปีนี้คาดว่าจะส่งออกส้มโอเวียงแก่นไปจีนได้ถึง 140 ตู้คอนเทนเนอร์ (บรรจุตู้ละ 13,000-14,000 ผล) หรือประมาณ 1.82-1.96 ล้านผล โดยส่งออกผ่านเส้นทางสาย R3 จากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ไปลาวและเข้าสู่จีนทางตะวันตกเฉียงใต้ ใช้ระยะเวลาขนส่งสินค้า 2-3 วัน สำหรับราคาส้มโอส่งออกเกรด A อยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท ส่วนเกรดรองลงมาราคาประมาณ 30-50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งออกส้มโอเวียงแก่นให้เกษตรกรสามารถแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างแอฟริกาใต้ อิสราเอล และเวียดนามได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้

ส่งเสริมให้ยกระดับการผลิตส้มโอเวียงแก่นเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตร (GAP) เน้นผลิตส้มโอคุณภาพมาตรฐาน พร้อมคัดบรรจุสินค้าในโรงคัดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) ทำให้ได้ส้มโอที่มีคุณภาพดี มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้ผลิตส้มโอนอกฤดูโดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ซึ่งไม่ตรงกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอภาคกลางและภาคใต้ทำให้ส้มโอเวียงแก่นขายได้ราคาดี โดยช่วงต้นฤดูราคาซื้อขายส้มโอขาวใหญ่อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนส้มโอทองดีขายได้ผลละ 37 บาท

“ปัจจุบันตลาดเรามีผลผลิตน้อย ยังมีความต้องการจากจีน แอฟริกาใต้เเละไต้หวันที่ครองตลาดกว่า กระทรวงเกษตรฯโดย มกอช.จึงตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตส่งเสริมงานวิจัยและผลักดันการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้า GI พื้นที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท ส้มโอนครชัยศรี ส้มโอทับทิมสยามนครศรีธรรมราชไทยส่งออกส้มโอสด ปริมาณ 12,180 ตันราคาตันละ 22.302 ล้านบาท มูลค่า 271.63 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่ส่งออกจำหน่ายมากที่สุดคือ จีน ฮ่องกง แคนาดา แต่ส้มโอส่งออกของไทยส่งไปจีนร้อยละ 65 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุด ดังนั้น ด้วยศักยภาพของเกษตรกรไทยนับว่าเป็นอีกทางเลือกสร้างรายได้ในการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศไม่น้อย น.ส.ดุจเดือนกล่าว

นายสมศักดิ์ บุญยวง ประธานวิสาหกิจชุมชนเวียงเเก่น กล่าวว่า กลยุทธ์การผลิตส้มโอเวียงเเก่นปีนี้ได้บังคับให้ส้มโอออกนอกฤดูกาล เนื่องจากส้มโอภาคกลางเเละภาคใต้ยังไม่ออกผลผลิต ทำให้ปีนี้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 70 บาท ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และได้ขยายพื้นที่จากเดิม 2,000 ไร่เป็น 3,700 ไร่ ได้ผลผลิต 2 ล้านกว่าลูก ส่งออกตลาดอียูไปกว่า 60 ตัน ภาพรวมของปีนี้กลุ่มวิสาหกิจเราส่งออกได้กว่า 100 ล้านบาท

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์