ราชกิจจาฯ ประกาศ “พ.ร.บ. ป่าไม้” ปลดล็อกไม้หวงห้ามในที่กรรมสิทธิ์ ให้ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้

เมื่อวันที่ 16 เมษายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ. ขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา

โดยมีสาระสำคัญคือ มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของ มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106 /2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดิน ที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภท หนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็น ไม้หวงห้าม”

มาตรา 5 ให้ยกเลิก มาตรา 14 ทวิ แห่ง พ.ร.บ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่31/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2559

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ส่วนที่ 2/1 การรับรองไม้ มาตรา 18/1 มาตรา 18/2และมาตรา 18/3 ของหมวด 1 การทำไม้และเก็บหาของป่า แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484

“ส่วนที่ 2/1 การรับรองไม้ มาตรา 18/1 เพื่อประโยชน์ในการจำแนกแหล่งที่มาของไม้ เจ้าของไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือเจ้าของไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอหนังสือรับรองไม้ก็ได้ การแจ้งและการออกหนังสือรับรองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

มาตรา 18/2 ผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และเสียค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองตามที่กรมป่าไม้กำหนด การขอและการออกหนังสือรับรอง และอัตราค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

มาตรา 18/3 การออกหนังสือรับรองตาม มาตรา 18/1 หรือ มาตรา 18/2 กรมป่าไม้ จะกำหนดให้สถาบันหรือองค์กรอื่นดำเนินการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในระเบียบที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนด ในการนี้ให้ถือว่าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของสถาบันหรือองค์กรอื่น ที่ดำเนินการแทนพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความในส่วนนี้”

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของ มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 25 ผู้ใดนำไม้ที่มิใช่ไม้หวงห้ามเข้าเขตด่านป่าไม้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่รัฐมนตรีกำหนด เว้นแต่เป็นการนำไปเพื่อใช้สอยส่วนตัวภายในเขตท้องที่จังหวัดที่ทำไม้นั้น หรือเป็นการนำไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตาม มาตรา 7 วรรคหนึ่ง เข้าเขตด่านป่าไม้ ไปใช้สอยส่วนตัวไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม”

มาตรา 9 บรรดาไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดา ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ที่ขึ้นในป่า ให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.

มาตรา 10 การดำเนินการออกระเบียบตาม มาตรา 18 /1 มาตรา18 /2 และ มาตรา 18/3 แห่งพ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. นี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อ ครม. เพื่อทราบ

มาตรา 11 ให้ รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

สำหรับ พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 (เดิม) ได้กำหนดชนิดไม้หวงห้ามไว้ ดังนี้ ไม้สัก, ไม้ยาง, ไม้ชิงชัน, ไม้เก็ดแดง, ไม้อีเม่ง, ไม้พะยูงแกลบ, ไม้กระพี้, ไม้แดงจีน, ไม้ขะยูง, ไม้ซิก, ไม้กระซิก, ไม้กระซิบ, ไม้พะยูง, ไม้หมากพลูตั๊กแตน, ไม้กระพี้เขาควาย, ไม้เก็ดดำ, ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม้เหล่านี้แม้จะขึ้นอยู่ที่ใดในราชอาณาจักร รวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง จะต้องถูกควบคุมโดย พ.ร.บ. ป่าไม้

ดังนั้น หากจะทำการตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลาก จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการตัดและเคลื่อนย้ายไม้ เนื่องจากขั้นตอนต่างๆ ตามระเบียบและกฎหมายมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ มีอุปสรรคในการปลูกไม้ไว้ใช้สอย หรือเพื่อการค้า