ที่มา | ประชาชาติธุรกิจ |
---|---|
เผยแพร่ |
รัฐบาลเวียดนามยกเลิกการใช้ไกลโฟเซต หวั่นเกิดมะเร็ง แถมมีการยื่นฟ้องที่สหรัฐกว่า 11,200 คดี ด้าน บ. ไบเออร์ ออกแถลงการณ์ตอบโต้การยกเลิกไกลโฟเซตปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เชื่อซ้ำรอยศรีลังกาที่ต้องหวนกลับมาใช้ใหม่
รัฐบาลเวียดนาม โดย Plant Protection Department ออกแถลงการณ์เรื่อง ยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตในประเทศเวียดนาม โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ได้ชี้แจงเหตุผลหลังยกเลิกใช้ โดยอ้างรายงานของ IARC ว่า สารไกลโฟเซตอาจก่อให้เกิดมะเร็ง
ประกอบกับมีการยื่นฟ้องเรื่องนี้ที่สหรัฐจำนวนมากกว่า 11,200 คดี โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อบริษัทมอนซานโต้ จำกัด ซึ่งจนถึงขณะนี้คณะลูกขุนได้พิจารณาว่า ไกลโฟเซตก่อให้เกิดมะเร็ง ชนิด Non-Hodgkin Lymphoma ไปแล้ว 2 คดี
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามจึงเห็นควรให้ยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตเพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยยังมีสารกำจัดวัชพืชอีก 54 ชนิด ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสามารถใช้ทดแทนไกลโฟเซตได้
ทั้งนี้ ภายหลังการออกแถลงการณ์ของรัฐบาลเวียดนาม บริษัท ไบเออร์ จำกัด (ซึ่งเป็นผู้ครอบครองกิจการของ บริษัท มอนซานโต้ จำกัด) ได้ออกแถลงการณ์ต่อการประการศยกเลิก
โดย บริษัท ไบเออร์ จำกัด ระบุว่า บริษัทฯ เคารพการตัดสินใจของรัฐบาลเวียดนาม แต่การยกเลิกการใช้ไกลโฟเซตจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัย และความยั่งยืนของอาหารในประเทศเวียดนาม
เนื่องจากการตัดสินใจยกเลิกครั้งนี้ ประเทศเวียดนามใช้การฟ้องร้องในสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุผลหลักเพื่อการยกเลิก โดยมิได้ทำการประเมินไกลโฟเซตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
การฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานั้น มิได้หักล้างหลักฐานและรายงานการประเมินความปลอดภัยโดยหน่วยงานด้านสุขภาพและด้านการกำกับดูแลสารเคมีทั่วโลก ได้แก่ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บราซิล สหรัฐอมริกา และ JMPR (หน่วยงานร่วมของ WHO และ FAO) ที่ล้วนให้ข้อสรุปตรงกันว่าไกลโฟเซตมิใช่สารก่อมะเร็ง
พร้อมทั้งยกตัวอย่างการยกเลิกไกลโฟเซตโดยปราศจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจพิสูจน์ได้ เคยเกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา ในปี 2015 ซึ่งการยกเลิกได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจของศรีลังกา จนทำให้ในปี 2018 ศรีลังกาต้องประกาศให้กลับมาใช่ไกลโฟเซตได้อีก เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกชาซึ่งเป้นพืชเศรษฐกิจสำคัญของศรีลังกา สามารถกลับมาแข่งขันได้
“เกษตรกรเวียดนามไม่ควรต้องประสบชะตากรรมเช่นที่เคยเกิดกับศรีลังกา และควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถใช้ไกลโฟเซต ในการควบคุมวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเกษตรกรในประเทศต่างๆ ทั่วโลก”