ชู ศกอ. ร้อยเอ็ด อีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกร สู่การทำเกษตรผสมผสาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เกษตรผสมผสาน เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมที่มีกิจกรรมตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไปในพื้นที่เดียวกัน โดยกิจกรรมมีการเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากตัวอย่างของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดร้อยเอ็ด นายวิชัย ทวินันท์ นับเป็นอีกหนึ่งเกษตรกรตัวอย่างที่มีความมุ่งมั่นและอดทนในการทำเกษตรผสมผสาน จนประสบผลสำเร็จได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand และพัฒนาสถานที่พักอาศัยเป็นศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเพื่อให้ความรู้และ   คำแนะนำแก่เกษตรกรมาจนปัจจุบัน

จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) และสัมภาษณ์ นายวิชัย    ทวินันท์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งบอกเล่าว่า ตนเองได้เริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน ตั้งแต่ปี 2547 โดยมีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ มีการปลูกพืชแบบผสมผสานในพื้นที่ 7 ไร่ โดยแบ่งเป็นนาข้าวอินทรีย์ จำนวน 2 ไร่ พืชหลากหลาย จำนวน 2 ไร่ แบ่งเป็น ไม้ผล จำนวน 1 ไร่ 1 งาน ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ไม้ยืนต้น จำนวน 1 งาน ได้แก่ ประดู่ พะยุง ยางนา และ พืชผัก จำนวน 2 งาน ได้แก่ ผักสลัด แตงกวาญี่ปุ่น ปศุสัตว์ จำนวน 1 ไร่ ได้แก่ หมูป่า เป็ดไข่ ไก่ไข่ และไก่เนื้อ และสระน้ำ จำนวน 2 ไร่ เพาะเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาบึก ปลาไน

สำหรับผลผลิตที่ได้เก็บไว้บริโภคในครัวเรือนเหลือจากการบริโภคจะนำไปจำหน่าย มีต้นทุนโดยรวมอยู่ที่ 150,000 บาท/ปี สร้างรายได้ประมาณ 400,000 บาท/ปี ซึ่งเป็นรายได้จากการขายผลผลิตทุกกิจกรรมที่ทำ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว กข 6 ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และข้าวหอมมะลิ 105 เพราะตลาดยังมีความต้องการอยู่มาก นอกจากนี้ ยังมี ไข่เป็ด ไข่ไก่ เป็ดเนื้อ ไก่เนื้อ หมูขุน และพืชผักต่างๆ ซึ่งมีผู้มารับซื้อถึงที่ และบางส่วนนำไปขายเองในตลาดนัดของชุมชน โดยใช้ปุ๋ยคอกจากสัตว์ที่เลี้ยงไว้ และการทำน้ำหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการปลูกพืชที่ช่วยไล่แมลง เช่น ดาวเรือง

นอกจากนี้ นายวิชัย ได้ข้อคิดให้แก่เกษตรกรผู้สนใจทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ ว่าต้องมีความอดทน มุ่งมั่น โดยที่ผ่านมาตนใช้เวลาถึง 7 ปี จึงประสบความสำเร็จ เนื่องจากช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์นั้น ยังไม่ได้ผลผลิตมากนัก เพราะดินเสื่อมโทรมจากสารเคมี สะสมโรคและแมลงจำนวนมาก แต่ด้วยความตั้งใจจริง ที่ต้องการบริโภคอาหารปลอดภัย จึงปรับปรุงดินมาเรื่อยๆ และได้ผลผลิตที่งอกงามจนถึงทุกวันนี้ โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรและผู้สนใจมาขออบรมกับทางศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอย่างต่อเนื่องประมาณ 700 คน/ปี ซึ่งเกษตรกร และท่านที่สนใจในการทำเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์

สามารถขอคำปรึกษา ได้ที่ นายวิชัย ทวินันท์ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา ศูนย์เครือข่ายปราชญ์    ชาวบ้าน เลขที่ 228 หมู่ 4 บ้านเมืองแก้ว ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด หรือ โทร. (063) 194-1499 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน