“ไม้พะยูง”ทำไมถึงแพง? ปลูกกันยังไง? รู้มั้ยปลูกแล้วได้เงินอุดหนุนด้วย!

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “ไม้พะยูง หรือ พะยุง” ตามหน้าข่าวบ่อยๆ ซึ่งโดยมากมักเป็นข่าวคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงตามป่า หรือวัด

ไม้พะยูงนั้นขึ้นขื่อว่าเป็นไม้ที่ “ปลูกง่ายแต่ตัดยาก” เพราะจัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. หรือไม้หวงห้ามธรรมดา ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช พ.ศ. 2484 ที่มีจำนวนกว่า 158 ชนิด โดยไม้เหล่านี้เป็นพันธุ์ไม้ที่ให้เนื้อไม้มีคุณภาพดี ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ แต่ทางการจะยอมให้ตัดและชักลากออกมาทำสินค้าได้ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน และไม่อนุญาตให้ส่งออก

ปลดล็อก! ตัด “ไม้หวงห้าม” ที่ดินตัวเอง

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ. ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การปรับแก้ พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ มาตรา 7 เป็นการลดขั้นตอนการอนุญาตให้ทั้งผู้ประกอบการเเละประชาชนที่มีไม้ในบัญชีหวงห้าม เช่น พะยูง ชิงชัน สัก ยางนา ฯลฯ ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินเอกสารสิทธิของตัวเอง สามารถปลูกหรือตัดไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์ได้

และหากผู้ใดประสงค์จะขอหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ เพื่อการค้าหรือการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเสียค่าใช้จ่ายในการออกหนังสือรับรองตามที่กรมป่าไม้กำหนด

อ่านเพิ่ม
ราชกิจจาฯ ประกาศ “พ.ร.บ. ป่าไม้” ปลดล็อกไม้หวงห้ามในที่กรรมสิทธิ์ ให้ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้
“ทนายเกิดผล”แนะ คนโดน “คดีไม้พะยูง” ยื่นคำร้องต่อศาล เหตุ พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ปลดล็อกแล้ว

รู้จัก “ไม้พะยูง”

ชื่ออื่น : กระยง กระยุง ชะยุง แดงจีน ประดู่ตม ประดู่ลาย ประดู่เสน ประดู่น้ำ พระยูงไหม หัวลีเมาะ
ชื่อสามัญ : Siamese Rosewood
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ถิ่นกำเนิด :  พะยูง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยพบกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดิบแล้ง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 100-300 เมตร

พะยูง เป็น 1 ใน 9 ของ “ไม้มงคล” ที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ นอกเหนือจาก ราชพฤกษ์ ขนุน ชัยพฤกษ์ ทองหลาง ไผ่สีสุก ทรงบาดาล สัก กันเกรา พะยูง เชื่อว่าเป็นมงคล คือพยุงฐานะให้ดีขึ้น ความสวยงามของเนื้อไม้ตามธรรมชาตินั้น อยู่ที่ลวดลายวงปีที่ถี่ยิบ เนื่องจากการเติบโตปีละนิดๆ ลำต้นส่วนใหญ่คดงอก็ยิ่งทำให้เกิดลวดลาย สีเนื้อไม้แดงเข้มจนอมม่วง กระพี้สีขาว เรียกว่า เนื้อไม้พะยูง สวยยิ่งกว่าไม้ใดๆ หลายเท่านัก

คุณสมบัติเด่นของไม้พะยูงอยู่ตรงความที่เป็นไม้ที่มีเนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน และชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว จึงทำให้คนไทยนิยมนำไปใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ในการแกะสลักและทำด้ามเครื่องมือต่างๆ ใช้ทำเกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด หรือแม้กระทั่ง ไม้คมแฝก ตะบอง และไม้เท้า

คุณบุญมี ทวีสุข ผู้ปลูกต้นพะยูงไว้จำนวนมาก อยู่ที่สวนป่า อ.สนามชัยเขต จ. ฉะเชิงเทรา ให้ความรู้ไว้ว่า ต้นพะยูงมีอีกชนิดคือ “แดงจีน” มีลักษณะใบเล็กกว่าที่ปลูก และสีลำต้นจะต่างกันด้วย แล้วยังตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่ต้นพะยูงที่มีเนื้อดี สวย จะมีขึ้นอยู่ในไทยเท่านั้น พม่ามีแต่ไม้สัก เขมรไม่มี และเวียดนามพอมีบ้าง ดังนั้น จึงมีความพยายามลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าตามธรรมชาติของไทย เพื่อนำไปทำเป็นของสำคัญหลายอย่าง

“ไม้พะยูง” ทำไมถึงแพง?!

“ไม้พะยูง” จัดเป็นไม้ที่มีราคาแพงชนิดหนึ่งในตลาดโลก นับวันการลักลอบตัดไม้พะยูงจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการตัดในป่าธรรมชาติ ไปถึงบนพื้นที่ป่าสาธารณะ ในวัด ฯลฯ ตัด และลักลอบไปทำอะไร คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่ส่งไปประเทศจีน ซึ่งมีความต้องการอย่างมาก เพราะมีความเชื่อในเรื่องการเป็นไม้มงคลเช่นเดียวกับไทย

เริ่มจากที่ทางการจีนได้บูรณะซ่อมพระราชวังของจักรพรรดิเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เมื่อช่างฝีมือดีได้รื้อแล้วซ่อมงานไม้ต่างๆ พบว่า ส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับฮ่องเต้ เช่น เก้าอี้ ตั่งโต๊ะต่างๆ ล้วนทำจากไม้พะยูง และยังมีสภาพดีอยู่มาก ทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้วหลายร้อยปี ทำให้เกิดกระแสต้องการไม้พะยูงมาทำเฟอร์นิเจอร์ปริมาณมากมายมหาศาล

สำหรับไม้ท่อนใหญ่ๆ ต้นสวยๆ ราคาในประเทศไทยขายกัน ลูกบาศก์เมตรละ 300,000-500,000 บาท (ไม้สัก ลูกบาศก์เมตรละ 30,000-50,000 บาท) มีการเปรียบเสมือนมีคนเอาทองคำไปแขวนอยู่ตามป่า จะเฝ้าอย่างไร ก็ไม่มีทางรอดพวกจ้องจะสอย

คุณทรงเดช บุญอุ้ม กับ พะยูง รุ่นแรกราว 400 ต้น ปลูกปี 2537 อายุ 23 ปี มูลค่าต้นละนับแสนบาท

วิธีการปลูก การดูแลรักษา “ไม้พะยูง”

คุณทรงเดช บุญอุ้ม อายุ 65 ปี ชาวตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู ได้เริ่มปลูกไม้พะยูง ตั้งแต่ ปี 2537 (14 พฤษภาคม) พื้นที่ 2 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร (200 ต้น/ไร่) ปลูกไม้สัก 5 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร

วิธีการปลูก และดูแลรักษานั้นเริ่มจากไถเตรียมดิน จากนั้นเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ แล้วปลูกเหมือนกับการปลูกป่าทั่วไป ขุดหลุมเท่าขนาดถุงกล้าไม้ ไม่ได้ขุดหลุมใหญ่เหมือนกับการปลูกไม้ผลแต่อย่างใด โดยใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ปลูกฤดูฝน ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้น้ำ หลังปลูก 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา ต้นละ 1 ช้อนแกง และใส่อีกครั้งปลายฤดูฝนในช่วงสิงหาคมถึงกันยายน

ปลูก รุ่นที่ 2 ปี 2557 และ 2558 เพิ่มอีกราว 18,000 ต้น

เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง หากมีการปลูกพืชแซมในช่องว่างระหว่างแถว จะทำให้มีรายได้เพิ่ม เป็นการให้น้ำแก่ไม้พะยูงไปในตัวด้วย พืชที่ปลูก ได้แก่ ถั่วลิสง 10 ไร่ ปอเทือง 22 ไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ 2 ไร่ และข้าวโพดข้าวเหนียว

จากนั้นก็ย้ายไปปลูกแปลงอื่นๆ ต่อไป คือให้ไม้พะยูงได้รับน้ำด้วยเช่นกัน จะทำให้เรามีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และจากการสังเกตพบว่า หากพะยูงได้รับน้ำในช่วงฤดูแล้งภายใน 2-3 ปี จะมีการเจริญเติบโตดีมาก แต่ก็ทำได้เพียงไม่กี่ไร่ และจากการสังเกตหากให้น้ำฤดูแล้งด้วยสัก 2-3 ปีแรก เมื่ออายุ 20 ปี จะได้ขนาดโตพอๆ กับปลูกแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว 25 ปี

“ต้นพะยูง ที่ปลูก ปี 2537 ขณะนี้ประมาณ 23 ปี จำนวน 400 ต้น แต่ละต้นน่าจะได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งลูกบาศก์เมตร หากประเมินลูกบาศก์เมตรละ 200,000 บาท (ขั้นต่ำ) พะยูงจะมีมูลค่า ต้นละ 100,000 บาท เลยทีเดียว จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรมาปลูกกันให้เยอะๆ เพราะขณะนี้กรมป่าไม้กำลังหาแนวทางแก้ไขระเบียบเพื่อให้ตัดขายได้ง่ายขึ้น” คุณทรงเดช กล่าว

“ไม้พะยูง” ไม้เศรษฐกิจ ที่รัฐสนับสนุน
ปลูกแล้วได้รับเงินอุดหนุน!

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ส่งเสริมให้ชาวเกษตรกรไทย มีการปลูกไม้เศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการครอบครอง โดยใช้ประโยชน์ทางด้านกฎหมาย โดยไม้ที่ปลูกนั้นก็จะเป็นประเภทไม้โตเร็วและไม้โตช้า

สำหรับ “ไม้โตช้า” หมายถึง ไม้ที่มีอายุรอบตัดฟันมากกว่า 10 ปี เช่น สัก ประดู่ป่า ยางนา ตะเคียน เป็นต้น ทั้งนี้ ในการปลูกซึ่งเกษตรกรสามารถ ปลูกเป็นแปลง ปลูกบนคันนา ขอบแปลง ปลูกแทรก หรือปลูกเสริมในพื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ได้ จำนวน 100 ต้น/ไร่

โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเงินลงทุนในการปลูกและบำรุงรักษาไม้โตช้า ในอัตรา 5,940.- บาท (ปีแรก 3,900.- บาท ปีที่ 2 และ 3 ปีละ 1,020.- บาท)

อ่านเพิ่ม
เกษตรกรหนองบัวลำภู วิสัยทัศน์ขั้นเทพ ปลูก ไม้พะยูง 20,000 ต้น เศรษฐีอยู่แค่เอื้อม

 

เมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ.2562