“ทนายเกิดผล” แนะ คนโดน “คดีไม้พะยูง” ยื่นคำร้องต่อศาล เหตุ พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ปลดล็อกแล้ว

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวทำนองว่า ชาวบ้านตัดไม้พะยูงที่ล้มในที่ดินตัวเอง แล้วปรากฏว่า “ผิดกฎหมาย” ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ฉบับเดิม “ไม้พะยูง” ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด ถือเป็นไม้หวงห้ามทั้งหมด การจะตัดจะโค่นต้องได้รับอนุญาตก่อน แต่ถ้าที่เป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ เจ้าของที่จะไปร้องขอคืนได้

แต่ภายหลังจากที่มีการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ. ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ไม้หวงห้าม เช่น ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง ฯลฯ ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม

ล่าสุด นายเกิดผล แก้วเกิด หรือทนายเกิดผล เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊ก เกิดผล แก้วเกิด ถึงประเด็นดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

“แก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ใหม่…
ให้ยกเลิก ไม้หวงห้าม ตามกฎหมายเก่า คือแต่เดิม บรรดาไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ซิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดา ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ที่ขึ้นไม่ว่าส่วนใดในราชอาณาจักร ให้เป็นไม้หวงห้ามทั้งหมด

แต่ว่า นับตั้งแต่ วันที่ 17 เม.ษ. ตามประกาศในราชกิจานุเบกษา บรรดาไม้ดังกล่าว ที่เกิด หรือ ปลูก บนที่ดินที่มีโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป

ประชาชนสามารถ “ทำไม้” ได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย (“ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุดชักลากไม้ในป่า หรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด)

แต่บรรดาไม้ดังกล่าวข้างต้นที่เกิดขึ้นในป่า ยังถือว่าเป็นไม้หวงห้าม

ข้อสังเกต

แต่เดิมที่ ก่อนแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีคนตัดไม้หวงห้ามในที่ดินของตนเอง เช่น ไม้พะยูง ที่ล้มทับทาง หรือ ทับบ้านตนเอง ก็เป็นความผิด และถูกดำเนินคดีไปหลายคน

เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ให้แตกต่างจากกฎหมายเดิม และไม่เป็นความผิดตามกฎหมายเก่าแล้ว บรรดาผู้ที่ถูกจับดำเนินคดี และรับโทษอยู่ตามกฎหมายเก่า เพราะตัดไม้หวงห้ามในที่ดินของตนเอง จะทำอย่างไร

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า

“มาตรา 2 บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”

หมายความว่า

1. กฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

2. ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น

3. ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

เรื่องนี้ถือว่า เป็นกฎหมายที่แก้ไขภายหลังว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่บรรดาผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายเก่า ทั้งที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และอยู่ระหว่างรับโทษ ควรยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอปล่อยตัวต่อไปโดยเร่งด่วน

ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา ศาลท่านเห็นเอง คงยกฟ้องต่อไป