จาก “ยา” สู่เครื่องสำอาง รู้หรือไม่? “อุทัยทิพย์” เคยเป็นตำรับยาโบราณบำรุงหัวใจ

บางคนอาจมีภาพจำของ “อุทัยทิพย์” ในฐานะ “เครื่องสำอาง” เพราะวัยรุ่นตั้งแต่รุ่นยายมักใช้ทาปาก ทาแก้มจนกลายเป็นเครื่องสำอางชิ้นแรกของสาวๆ ไป…เด็กรุ่นหลังจึงอาจไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเจ้าน้ำสีแดงนี้ มีจุดกำเนิดจาก “ยา”

“อุทัยทิพย์” นั้นสกัดจากพฤกษาธรรมชาติ 32 ชนิด อันได้แก่ ฝาง, ดอกคำฝอย, หญ้าฝรั่น, มะลิ, พิกุล, บุนนาค, บัวหลวง เป็นต้น ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่สร้างไว้จากอดีตสู่ปัจจุบัน สีของอุทัยทิพย์ที่มี “สีแดง” สกัดมาจากสีของไม้ฝาง

สีแดงของแก่นฝางมาจากสาร “แซพปานิน” (sappanin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย แก้อาการอักเสบ แก้ท้องร่วง นอกจากนี้ ในฝางยังมีสารอีกชนิดที่ให้สีชมพูอมส้มถึงแดง เรียกชื่อสาร “บราซิลิน” ซึ่งว่าตามสรรพคุณแต่โบราณจะช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ทำให้โลหิตเย็น กระจายโลหิต ขับระดู แก้เลือดกำเดา แก้ไข้ แก้ร้อนใน ระงับอาการหอบหืด แล้วมาตรงกับผลการวิจัยทางเภสัชวิทยาสมัยใหม่ว่า
สารสำคัญชนิดนี้เป็นสารต้านฮีสตามีน (antihistamin) ช่วยแก้ลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตเป็นปกติ และแก้อาการหัวใจขาดเลือด

ในปี พ.ศ. 2445 รัฐบาลได้ขยายโอสถศาลาใหม่อีกแห่ง เรียกว่า “โอสถศาลาของรัฐบาล” โดยจ้างเภสัชกรชาวเยอรมัน ให้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายยาแก่หน่วยงานราชการต่างๆ และปีเดียวกันได้จัดตั้ง “โอสถสภา” ขึ้นเพื่อผลิตยาสำหรับราษฎรทั่วไป

หลังจากนั้น โอสถสภาได้รวมกับโอสถศาลาของรัฐบาล และผลิตยาฝรั่งขึ้นเอง ซึ่งในระยะแรกไม่เป็นที่นิยมของราษฎร จึงได้ผลิตยาไทยขึ้น 10 ขนาด และ 1 ในนั้นคือ “ยาอุทัย” สูตรยาอุทัยปรากฏอยู่ในตำราแพทย์หลายเล่ม ซึ่งล้วนมาจากแหล่งความรู้เดียวกันคือ สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณของไทย หรือวัดโพธิ์นั่นเอง ถ้าจะไปดูที่วัดโพธิ์ ตรงเสาระเบียงที่ 8 แผ่นที่ 1 บริเวณพระเจดีย์ ได้กล่าวถึงยาชนิดหนึ่งชื่อว่า “ทิพย์สำราญ” สรรพคุณคล้ายคลึงกับอุทัยทิพย์ คือ แก้ลม วิงเวียน บำรุงหัวใจ

นอกจากนี้ ยังพบยาอีกขนานหนึ่ง ชื่อว่า “ยาจักรทิพย์” ก็มีสรรพคุณเหมือนกันอีกคือ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ ที่น่าสนใจคือ ทั้งยาทิพย์สำราญ และยาจักรทิพย์ มีสูตรยาใกล้เคียงกันกับยา อุทัยทิพย์ในปัจจุบัน