กศน. เมืองคอน ส่งเสริมอาชีพ แปรรูป “น้ำตาลจาก” พืชเศรษฐกิจทำเงิน ตำบลขนาบนาก ปากพนัง

“ตำบลขนาบนาก” อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ปลายน้ำอยู่ติดทะเลอ่าวไทย มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านเรียกว่า คลองหัวไทร และคลองหน้าโกฏิ ซึ่งเป็นคลองขุดใหม่เชื่อมต่อชายฝั่งทะเล ทำให้ตำบลขนาบนากมีแหล่งน้ำ 3 ชนิด ในพื้นที่เดียวกัน คือ น้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย อาชีพหลักดั้งเดิมของชาวตำบลขนาบนากคือ การทำนา กับการทำไร่ จากช่วงปี พ.ศ. 2530 เกิดกระแสการเลี้ยงกุ้งทะเลในบ่อเชิงอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่ทำนาและพื้นที่ไร่จาก ถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งทะเลจำนวนมาก หลังจากประสบปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเลล้มเหลว ชาวบ้านก็หันกลับมาทำไร่จากอีกครั้ง

ภายหลังรัฐบาลได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ทำให้ชาวขนาบนากหันมาทำอาชีพเกษตรกรรมหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ได้แก่ การทำนา การทำไร่จาก การเลี้ยงกุ้งทะเลในบ่อและการทำประมงในลำน้ำ ซึ่งชาวบ้านแต่ละกลุ่มมีความต้องการใช้น้ำไม่สอดคล้องกัน ชาวนาต้องการน้ำจืด ไร่จากต้องการน้ำกร่อย ส่วนฟาร์มกุ้งทะเลและทำประมงในลำน้ำต้องการน้ำเค็ม ชาวไร่จากจึงทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้สร้างโซนน้ำกร่อยสำหรับไร่จากโดยเฉพาะไร่จากที่อยู่ในเขตน้ำเค็ม เพราะน้ำเค็มจัดทำให้ ต้นจาก ให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจากลดลง และต้นจากอาจจะตายได้

ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมวางแนวทางป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าท่วมพื้นที่ไร่จากในช่วงที่น้ำเค็มจัด ช่วยระบายน้ำในพื้นที่ไร่จากช่วงฤดูน้ำหลาก และกำหนดรูปแบบการจัดการน้ำและข้อตกลงในการบริหารทรัพยากรน้ำทั้ง 5 สายคลองร่วมกัน โดยใช้ชื่อว่า “ปฏิญญาขนาบนาก” ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ 2552 นำไปสู่การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมอย่างมั่นคงยั่งยืน

ปัจจุบัน ตำบลขนาบนาก ทำอาชีพเกษตรกรรมหลากหลาย ได้แก่

  1. อาชีพทำนา เนื้อที่ 2,716 ไร่ จำนวน 114 ครอบครัว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง (พันธุ์ข้าวกาบดำ) ไว้บริโภคและขายในชุมชน
  2. อาชีพทำไร่จาก เนื้อที่ 4,578 ไร่ จำนวน 476 ครัวเรือน ผลผลิตเป็นน้ำตาลจากจำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่
  3. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (กุ้ง, ปลา) เนื้อที่ 1,487.35 ไร่ จำนวน 190 ครัวเรือน
  4. อาชีพประมงในลำน้ำและชายฝั่ง จำนวน 15 ครัวเรือน
ผอ. เกษร ธานีรัตน์ และ คุณสุรศักดิ์ อนันต์ ถ่ายรูปกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำตาลจาก

กศน. สนับสนุนอาชีพทำไร่จาก 

คุณเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครศรีธรรมราช (สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช) และ คุณสุรศักดิ์ อนันต์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอปากพนัง พาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านเข้าไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปน้ำตาลจาก ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำตาลจาก ตำบลขนาบนาก ซึ่ง กศน. ตำบลขนาบนาก และ กศน. อำเภอปากพนัง เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมอบรมอาชีพเรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำตาลจาก และช่วยปรับปรุงบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาเรื่องขยายตลาดสินค้าผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ กศน. (OOCC)

ไร่ต้นจาก

คุณเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ ต้นจาก” เป็นพืชท้องถิ่นที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบ เช่น “ใบจาก” มาเย็บเป็นตับใช้มุงหลังคา หรือกั้นฝาบ้าน “ยอดจากอ่อน” ใช้มวนยาสูบ “ลูกจาก” ใช้ทำขนมหวาน “งวงจาก” ให้น้ำหวาน นำมาแปรรูปเป็นน้ำตาลจาก น้ำส้มจาก เป็นต้น

ตับจากมุงหลังคา สินค้าสำคัญอีกชนิดของชุมชน

คุณสุรศักดิ์ อนันต์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอปากพนัง กล่าวว่า เกษตรกรในชุมชนตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ปลูกต้นจากในพื้นที่บ่อกุ้งร้าง การทำตาลจาก หรือ “ทำตาล” เดิมชาวบ้านจะแปรรูปน้ำตาลจากหรือน้ำผึ้งจาก โดยเคี่ยวเป็นน้ำผึ้งใส น้ำผึ้งข้น และผลิตเป็นน้ำตาลปี๊บ รายได้รองลงมาคือ เย็บจาก การทำน้ำส้มจาก และตัดยอดจากเพื่อทำใบจากม้วนบุหรี่ ทาง กศน. เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปน้ำตาลในลักษณะน้ำตาลชนิดเม็ด  น้ำตาลจากชนิดผง ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และเพิ่มโอกาสในการขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ (OOCC)

น้ำตาลชนิดก้อน

วิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำตาลจาก

คุณกวี จันทษี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำตาลจาก ตำบลขนาบนาก ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 45 หมู่ที่ 2 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช (โทร. 089-909-6728) เล่าให้ฟังว่า เดิมชาวบ้านผลิตน้ำตาลจากแบบเหลว แต่ปัจจุบัน ทางกลุ่มแปรรูปน้ำตาลจากหลากหลายรูปแบบ ในลักษณะน้ำตาลปึก น้ำตาลสด น้ำตาลปี๊บ และ “น้ำตาลจากแบบผง” เป็นสินค้าตัวใหม่ที่ กศน. ตำบลขนาบนาก และ กศน. อำเภอปากพนัง เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

น้ำตาลจากชนิดผง เป็นสินค้าใหม่ที่มีอนาคตสดใส เพราะสามารถนำไปใช้ผสมเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ ฯลฯ เพิ่มรสชาติความหวานอร่อยให้แก่เครื่องดื่มได้หลากหลายชนิด การผลิตน้ำตาลจากแบบผง จำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท หักต้นทุนแล้ว ยังเหลือผลกำไรกิโลกรัมละ 60-70 บาท การทำไร่จาก มีต้นทุนต่ำ เพราะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใส่ปุ๋ยใส่ยา ปลอดสารเคมีทุกกระบวนการผลิต ทำให้ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ปลูกต้นจากและประชาชนที่บริโภคน้ำตาลจาก

ปัจจุบัน ตำบลขนาบนาก มีชาวบ้านทำไร่จากและแปรรูปน้ำตาลจาก ประมาณ 40% ของพื้นที่ คิดเป็นจำนวนประชากรประมาณพันกว่าครัวเรือน ปัจจุบัน ป่าจากในพื้นที่ตำบลขนาบนากที่ให้ผลผลิตแล้ว ประมาณ 4,000 กว่าไร่  สร้างรายได้สะพัดในท้องถิ่น เมื่อปี 2561 ประมาณ 35 ล้านกว่าบาท อาชีพการทำจาก ใช้ต้นทุนน้อย โอกาสการขาดทุนไม่ค่อยมี

เคี่ยวน้ำตาลจากเพื่อทำน้ำตาลชนิดผง

ที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตน้ำตาลจาก ที่เข้าสู่ตลาดมีปริมาณไม่แน่นอน ขึ้นกับช่วงฤดูเป็นหลัก โดยทั่วไปช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูที่ต้นจากให้น้ำตาลคุณภาพดีที่สุด และสามารถผลิตน้ำตาลจากได้ในปริมาณมาก ทำให้ชาวบ้านขายผลผลิตได้ในราคาถูกลง เฉลี่ยประมาณ 900 บาท ต่อปี๊บ แต่ช่วงที่มีปริมาณผลผลิตเข้าตลาดน้อย ก็ขายน้ำตาลได้ราคาสูงขึ้น ประมาณ 1,500 บาท ต่อปี๊บ

“ช่วงประเพณีเดือนสิบ ของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการผลิตขนมลาจำนวนมาก โดยใช้น้ำตาลจากเป็นส่วนผสมสำคัญเพื่อเพิ่มรสชาติความหวานและกลิ่นหอมให้กับขนมลา ชาวบ้านก็สามารถทำน้ำตาลจากได้ในราคาสูง” คุณกวีกล่าว

เอาน้ำตาลผงมากรองให้ละเอียดก่อนจำหน่าย

การทำน้ำตาลจากคุณกวี เล่าถึงขั้นตอนการทำน้ำตาลจากว่า เลือกงวงจากที่มีอายุ 5-7 เดือน ความยาวก้านงวงประมาณ 1 เมตร ปอกเปลือกงวงจากทิ้งไว้ 15 วัน หลังจากนั้น จะตีงวงจาก แบ่งการตีงวงเป็น 2 ระยะ รวม 9 มื้อ ระยะที่ 1 ตีงวงจากจำนวน 5 มื้อ โดยตีวันเว้นวัน เมื่อครบ 5 มื้อแล้วหยุดตี 15 วัน ระยะที่ 2 ตีงวงจากต่ออีก 4 มื้อ โดยตีวันเว้นวัน ใช้ไม้ตีงวงจากในแต่ละมื้อประมาณ 30 ครั้ง

งวงจากที่เลือกทำน้ำตาลจาก
การตีงวงจาก

เมื่อตีครบ 9 มื้อแล้ว ตัดทะลายออกจากงวง ตอนเย็นใช้มีดปาดหน้างวงจากตามรอยที่ตัดทะลายออกเป็นแว่นบางๆ จำนวน 3 แว่น ใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำหวานที่ไหลออกมา หลังปาดงวง รอจนถึงตอนเช้า ปาดงวงอีก 1 แว่น (ล้างหน้างวง) รอจนถึงเวลา 09.00-11.00 น. เริ่มเก็บกระบอกน้ำหวาน สำหรับกระบอกน้ำหวาน ก่อนนำไปใช้งาน ต้องลวกกระบอกไม้ไผ่โดยใช้น้ำหวานที่ต้มกำลังเดือด เทใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วเขย่าให้ทั่ว ใส่ไม้เคี้ยมไว้ในกระบอกไม้ไผ่ก่อนนำไปรองรับน้ำหวานทุกครั้ง

ใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำหวานจากต้นจาก

หลังเก็บกระบอกไม้ไผ่ที่รองรับน้ำหวานเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะเทน้ำหวานจากกระบอกไม้ไผ่ลงใส่กระทะ โดยผ่านภาชนะกรอง เพื่อกรองไม้เคี่ยมและสิ่งเจือปนออก ต้มน้ำหวานให้เดือดประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนมีลักษณะเป็นสีน้ำตาล เหนียวข้น ยกกระทะลงจากเตา ระบายความร้อนออกจากน้ำตาล โดยใช้ไม้โซมน้ำตาล ประมาณ 30 นาที จึงตักน้ำตาลใส่ภาชนะบรรจุ (ปี๊บ)

นำน้ำหวานจากเทลงในกระทะเพื่อทำน้ำตาลจาก

การปลูกดูแลต้นจาก

โดยธรรมชาติแล้ว ต้นจากจะออกยอดจาก (ทางจาก) เฉลี่ยปีละ 4 ยอด ไร่จากของคุณกวีแห่งนี้มีเนื้อที่ 30 ไร่ เป็นที่ดินมรดกจากรุ่นสู่รุ่น สืบทอดอาชีพการทำไร่จากมาโดยตลอด ต้นจากในสวนแห่งนี้มีอายุหลายร้อยปีแล้ว สมัยก่อนตำบลขนาบนากมีดินดีน้ำดี ต้นจากมีขนาดลำต้นโตมากกว่านี้ สามารถผลิตน้ำตาลจากได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้นจากมีขนาดเล็กลงและมีลำต้นเตี้ย จึงได้ปริมาณน้ำตาลจากลดน้อยลงไปด้วย

หากใครอยากรู้ว่า จากต้นไหน มีลักษณะเด่น และให้ปริมาณน้ำตาลมาก คุณกวีแนะนำให้สังเกตจากลักษณะใบ ที่เรียกว่า “หูจาก” หากใบจากมีลักษณะต่ำลง แสดงว่าให้น้ำตาลเยอะ ตอนที่นวดทะลายจาก แค่ออกแรงเล็กน้อย ก็ได้ปริมาณน้ำตาลจากได้ง่ายๆ เพราะทะลายจากดังกล่าวมีปริมาณน้ำตาลเยอะอยู่แล้ว

คุณกวี กล่าวว่า น้ำตาลจาก ของตำบลขนาบนากมีลักษณะเด่นกว่าพื้นที่อื่นๆ เพราะต้นจากปลูกในพื้นที่สามน้ำ ประกอบด้วยน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย น้ำตาลจากที่ปลูกในชุมชนแห่งนี้จึงมีรสชาติหวานแหลมและมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่าต้นจากที่ปลูกในพื้นที่น้ำชนิดเดียว กล่าวได้ว่า ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมปลูกต้นจากสำหรับผลิตน้ำตาลจากมากที่สุด เพราะได้ผลผลิตคุณภาพดี จำนวนมาก ส่วนจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม แม้มีพื้นที่ปลูกต้นจากจำนวนมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ชนิดเดียวกับพื้นที่ปากพนัง แต่ต้นจากเหล่านั้นไม่สามารถผลิตน้ำตาลจากได้ เพราะปลูกในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนั่นเอง