อุทกภัย นครศรีธรรมราช วิกฤติ คือโอกาสแห่งการพัฒนา

จากภาวะฝนตกหนักในจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงวันที่ 2-5 ธันวาคม 2559 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยกระจายไปทั่วทั้ง 23 อำเภอ สร้างความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน เส้นทางคมนาคม เรือกสวน ไร่นา หลายแสนไร่ เกิดความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ รองรับน้ำจากโซนภูเขา ชาวสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่กำลังติดผลใกล้เก็บเกี่ยว เดือดร้อนหนัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บินด่วนลงพื้นที่ สั่งการแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จและยั่งยืน

สถานการณ์การผลิตส้มโอทับทิมสยามในพื้นที่อำเภอปากพนัง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 3,000 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 1,200 ไร่ ให้ผลผลิตปีละประมาณ 12 ล้านผล สร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท ตลาดส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และห้างสรรพสินค้าในเมืองไทย และการจำหน่ายที่สวนหลังจากเกิดภาวะอุทกภัยในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา น้ำท่วมขังสูงในขณะที่ต้นส้มโอทับทิมสยามกำลังติดผลใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งกำหนดเก็บเกี่ยวปลายเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ผลส้มโอร่วงหล่นนับล้านผล สร้างความเสียหายหลายร้อยล้านบาท และนอกจากจะเสียหายที่เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้จากเหตุการณ์ดังกล่าว  ยังส่งผลให้ต้นส้มโอทรุดโทรมและเกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย

จากความเดือดร้อนของเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้เดินทางด่วนลงพื้นที่ ร่วมกับอธิบดีหลายกรม ในวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมเยียนบัญชาการเหตุการณ์และให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที และหนึ่งในจำนวนพื้นที่ที่รัฐมนตรีเป็นห่วงและเดินทางมาเยี่ยมพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม สวนของ คุณวิรัตน์ สุขแสง ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปากพนัง หมู่ที่ 15 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช รัฐมนตรีได้พบปะสมาชิกเจ้าของสวนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สอบถามข้อมูลต่างๆ และได้ตัดสินใจสั่งการโดยทันที เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังสวนส้มโอทับทิมสยาม ทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน ดังนี้

  1. การระดมเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน สูบน้ำออกจากพื้นที่ทันที และเห็นผลชัดเจน น้ำลดลงภายในเย็นวันเดียวกัน
  2. การระดมรถแบ๊กโฮ ขุดปิดล้อมพื้นที่ เปิดช่องน้ำ ขุดลอกสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น
  3. สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ติดตามให้คำแนะนำเรื่องการควบคุมป้องกันโรค การดูแลรักษาสวนหลังน้ำลด และการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพผลผลิต การลดต้นทุน ฯลฯ
  4. การรวมสมาชิกเพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ได้ร่วมกันเรียนรู้ทั้งกระบวนการผลิตให้ได้คุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต การรวบรวมผลผลิต การจัดการด้านการตลาด ให้มีพลังในการต่อรอง ฯลฯ

ซึ่งหลังจากนี้ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะได้เร่งระดมสรรพกำลังเพื่อกู้วิกฤติและพัฒนากลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตส้มโอทับทิมสยามให้เป็นแปลงใหญ่ที่สมบูรณ์แบบต่อไป

คุณชลินทร์ ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้สั่งการให้เกษตรอำเภอปากพนัง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้สำรวจรายชื่อสมาชิก โดยเฉพาะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนส้มโอลุ่มน้ำปากพนัง และผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ยังไม่เป็นสมาชิกกลุ่ม ให้เข้ารับฟังการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ส้มโอทับทิมสยาม โดยจะต้องวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น คือจะต้องมีการจัดการเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน คันล้อมรอบแปลง ไฟฟ้า คูส่งน้ำ คูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ รวมไปถึงการดูแลให้ความรู้ทางวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพการเก็บเกี่ยวตามอายุที่เหมาะสม การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การกำจัดศัตรูพืช การรวมกลุ่ม การสร้างเครือข่าย และการทำการตลาด ที่ยึดระบบคุณธรรม เป็นต้น

คุณวิรัตน์ สุขแสง ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอปากพนัง เจ้าของแปลงส้มโอทับทิมสยาม “สวนป้าแดง ลุงแอ๊ด” แกนนำคนสำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มโอทับทิมสยาม หมู่ที่ 15 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีสวนส้มโอทับทิมสยาม จำนวน 60 ไร่ ให้ผลผลิตแล้วมากกว่า 2,000 ต้น

โดยคุณวิรัตน์ ได้เล่าให้ฟังว่า แม้ว่าปีนี้เกษตรกรชาวสวนส้มโอและเกษตรกรรายอื่นๆ จะต้องประสบอุทกภัย ได้รับความเสียหายกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะสวนส้มโอที่มีผลกระทบทั้งเสียหายโดยสิ้นเชิง ยืนต้นตาย (ส่วนมากจะเป็นสวนใหม่) ลำต้นทรุดโทรม ผลผลิตร่วงหล่นเสียหาย สิ่งแวดล้อมเสียหาย และอื่นๆ แต่ส่วนหนึ่งก็ยังนับว่าโชคดีที่เสมือนวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้เข้ามาเยี่ยม ดูแล และสั่งการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและแก้ปัญหาระยะยาว ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ได้ลงมาเยี่ยม และสั่งการในการแก้ไขปัญหาสูบน้ำออกนอกพื้นที่ การสร้างคันล้อม การขุดลอกทางระบายน้ำ ฯลฯ สามารถกู้วิกฤติได้อย่างรวดเร็ว ทันใจ

นอกจากนี้ ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้ฝากเน้นย้ำให้รวมคน รวมพื้นที่ จัดทำเป็นแปลงส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่จะได้รวมตัวกันวางแผนและสนองนโยบายรัฐ เพื่อจัดทำแปลงส่งเสริมการปลูกส้มโอทับทิมสยามแปลงใหญ่ ให้มีความก้าวหน้ายั่งยืน ตามข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “รักษาคุณภาพส้มโอให้ดีดังเดิม หรือให้ดีกว่าเดิม” ให้ได้

วิกฤติครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก แต่หากเกษตรกรพลิกผันวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นโอกาสที่สำคัญกว่าในการร่วมมือกันคิดเพื่อฟันฝ่าวิกฤติทำสวนส้มโอทับทิมสยามนี้ ที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุด ตามสมญานามของผู้บริโภคที่ว่า “แดง แพง อร่อย” โดยมีการบริหารจัดการพื้นที่ การจัดการคน และองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสินค้า (ส้มโอ) ให้มีคุณภาพดีเสมอต้น เสมอปลาย สมคำร่ำลือ ความร่ำรวย มั่งคั่ง ยั่งยืน ก็จะตามมา คำกล่าวที่ว่า “คนปากพนังที่เคยยากจน” คงเป็นเพียงตำนานในอดีตเท่านั้นเอง