เตือน ราน้ำค้างในพืชตระกูลแตงระบาด

กรมส่งเสริมการเกษตร ออกมาเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตงทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ระวังโรคราน้ำค้างระบาด เนื่องจากช่วงนี้อากาศหนาว มีหมอกและน้ำค้างลงในช่วงเช้า อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการระบาดอยู่ระหว่าง 16-27 องศาเซลเซียส และความชื้นสูงเหมาะต่อการเจริญของเชื้อรา สาเหตุของโรคจะขยายลุกลามได้รวดเร็ว ในเมล่อน แคนตาลูป หรือแตงโม อาจทำให้ความหวานลดลง ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ

โรคราน้ำค้าง จัดว่าเป็นโรคที่สำคัญของพืชตระกูลแตงทุกชนิด เช่น แตงโม แตงกวา แตงร้าน มะระ ฯลฯ ส่วนพวกตำลึง บวบ ฟักทอง ฟักข้าว ไม่ค่อยพบโรคนี้ระบาด สปอร์ของเชื้อสาเหตุสามารถปลิวไปตามน้ำ ลม ติดไปกับแมลง สัตว์ เครื่องมือการเกษตรและมนุษย์ เช่น ด้วงเต่าแตง ลักษณะอาการในระยะแรก จะพบกลุ่มราสีขาวหรือสีเทาบนใบพืช ต่อมาสังเกตเห็นหลังใบเป็นสีเหลืองอ่อน แผลค่อนข้างเป็นเหลี่ยม แล้วพัฒนาเป็นสีน้ำตาลอ่อนไปจนเข้มประปรายทั่วใบ

อาการรุนแรงจะทำให้ใบแห้งและเหี่ยว อาการจะปรากฏบนใบแก่โคนเถาก่อนโรคระบาดรวดเร็วมากจะทำให้เถาแตงเหี่ยวตายหมดทั้งเถาได้ในเวลาที่อากาศชื้นในตอนเช้า จะสังเกตเห็นกลุ่มสปอร์เชื้อราที่ด้านท้องใบคล้ายผงแป้งได้เด่นชัดกว่าเวลาอื่นๆ โรคนี้มักจะระบาดรุนแรงและรวดเร็วเมื่อแตงกำลังให้ผล ทำให้เถาแตงตายไปก่อนที่แตงจะสุกแก่พร้อมเก็บเกี่ยว

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้

  1. 1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  2. 2. เก็บใบหรือส่วนที่เกิดโรค นำไปเผาทำลาย
  3. 3. บำรุงรักษาต้นพืชให้สมบูรณ์ แข็งแรง
  4. 4. ก่อนปลูกควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เอพรอน อัตรา 7 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
  5. ถ้ามีหมอกและน้ำค้างจัดในช่วงเช้า ควรพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ริโดมิลเอ็มแซด อาลิเอท ดาโคนิล หรือ วามีนเอส พ่นสลับกันเพื่อป้องกันเชื้อต้านทานสารเคมี อัตราส่วนตามคำแนะนำในฉลาก
  6. พ่นน้ำล้างใบในช่วงเช้าพร้อมการให้น้ำ แล้วพ่นน้ำส้มควันไม้ อัตรา 100 ซีซี ต่อน้ำ 12 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่มทุก 7-10 วัน

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถแจ้งการระบาดและขอคำปรึกษาในการป้องกันกำจัดได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน