“เขื่อนอุบลรัตน์” เหลือน้ำใช้ 1% เตรียมใช้น้ำก้นอ่าง

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สนง.ชลประทานที่ 6 ขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบว่า ระดับน้ำเก็บกักในอ่าง 600 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 25 น้ำใช้การได้จริง 19 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 1 เท่านั้น

ทางจังหวัดได้มีประกาศเตือนไปยังเกษตรกรที่อยู่ตอนบนและตอนล่างของลุ่มน้ำแล้ว พร้อมทั้งได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อขอสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงแก้ปัญหาภัยแล้ง และเติมน้ำเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ ถ้าฝนยังไม่ตกลงมาก็อาจต้องใช้น้ำก้นอ่าง หรือน้ำตาย (Dead Storage) เพื่อรักษาระบบนิเวศลำน้ำและสภาพแวดล้อมของเขื่อนอุบลรัตน์ พร้อมแก้ภัยแล้งในจังหวัดให้มีน้ำอุปโภค-บริโภค จนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน

นอกจากนี้ เขื่อนชนบทที่อยู่ในแม่น้ำชีมีน้ำอยู่ 15 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็น 84 % เขื่อนขนาดกลาง จำนวน 14 แห่ง รวมแล้ว 24 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็น 22 % และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กใน จ.ขอนแก่น 426 แห่ง มีน้ำเหลืออยู่ 48 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็น 27 % รวมแหล่งน้ำใน จ.ขอนแก่น ทั้งหมดมีน้ำใช้การได้ประมาณ 107 ล้าน ลบ.เมตร สามารถบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนที่ประสบภัยแล้งมีน้ำอุปโภค บริโภค ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน โดยไม่ต้องใช้น้ำก้นอ่างของเขื่อนอุบลรัตน์

นายศักดิ์ศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า มั่นใจจะสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงภัยแล้งที่ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะสำนักงานชลประทานที่ 6 ขอนแก่น มีนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งในพื้นที่รับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ขนาดกลาง 67 แห่ง จะจัดสรรตามความสำคัญ และตามลำดับ ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และประปาก่อน ตามด้วยจัดสรรเพื่อรักษาระบบนิเวศในลำน้ำ เพื่อการเกษตร และการอุตสาหกรรมตามลำดับ พร้อมขอความร่วมมือให้เกษตรกรและประชาชนได้ใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำไว้ใช้ตลอดหน้าแล้ง

“คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ปี 2562 ประชุมกันหลายครั้ง ขอยืนยันว่า น้ำในการอุปโภค บริโภค จะไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน เพราะได้ลงสำรวจอ่างกักเก็บน้ำทั้งหมดในจังหวัด พร้อมวางแนวทางรับมือปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง และสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำความสะอาดท่อส่งน้ำประปาหมู่บ้าน และการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนบางส่วนได้มีการขุดเจาะบ่อบาดาลและสร้างฝายกักเก็บน้ำเอาไว้ในหลายพื้นที่แล้ว และหากประชาชนในพื้นที่ใดเดือดร้อนในเรื่องน้ำ ก็สามารถแจ้งผ่านมายังผู้นำหมู่บ้าน เพื่อที่จะได้ประสานงานร่วมกับทางจังหวัดเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป” นายศักดิ์ศิริ กล่าว