“ฝนแล้ง 4 ปี-น้ำท่วม 3 ปี-ฝนฟ้าปกติ 3 ปี” ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ที่เกษตรกรหลายคนไม่รู้

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมมีความสงสัยว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลทุกรัฐบาลไม่มีข้อมูลมาแจ้งล่วงหน้าว่า ในแต่ละปีจะเกิดสภาวะแห้งแล้ง หรือน้ำท่วมเกิดขึ้น เพื่อว่าเกษตรกรจะได้เตรียมตัวได้ทันเวลา ผมจึงขอรบกวนคุณหมอเกษตรให้ข้อคิดและคำแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ส่งศักดิ์ ศรีพัฒนวงศ์
นครนายก

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ตอบ คุณส่งศักดิ์ ศรีพัฒนวงศ์

ประเทศไทย มีข้อมูลในทางวิชาการอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยในทุกสาขา แต่ภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตัวอย่าง กรมวิชาการเกษตร ได้นำข้อมูลปริมาณน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่รวบรวมไว้ 97 ปี มาวิเคราะห์อย่างละเอียด พบว่า ในทุกรอบ 10 ปี จะเกิดสภาวะฝนแล้ง 4 ปี โดยแบ่งเป็นแล้งรุนแรง 2 ปี แล้งไม่รุนแรง 2 ปี น้ำท่วม 3 ปี และอยู่ในสภาวะปกติเพียง 3 ปี เท่านั้น

สภาวะดังกล่าวใช้จำนวน พายุดีเปรสชั่น (Depression) เป็นตัวชี้วัด คือ ในสภาวะปกติจะมีดีเปรสชั่นพัดเข้าสู่ประเทศไทยจากทะเลจีนใต้ผ่านมาทางเวียดนาม จำนวน 3 ลูก หากพายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามาเกิน 3 ลูก ปีนั้นน้ำจะท่วมทันที ตัวอย่างปี พ.ศ. 2554 พายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามาที่ประเทศไทย จำนวน 5 ลูก

และหากปีใดพายุดีเปรสชั่นพัดเข้ามาน้อยกว่า 3 ลูก จะเกิดภาวะแห้งแล้ง และถ้าหากแล้งติดต่อกันหลายปีจะเกิดสภาวะแห้งแล้งรุนแรง ส่งผลให้ไผ่ตายขุย ซึ่งเคยมีมาแล้วในอดีต ญาติผู้อาวุโสของผมเล่าให้ฟังว่า เมื่อไผ่ตายขุยชาวบ้านจะนำขุยไผ่รูปร่างคล้ายเมล็ดข้าวมานวด ฝัด และขัดสีจนสะอาดแล้ว ใช้หุงต้มร่วมกับเผือกหรือกลอย ใช้บริโภคแทนข้าว ในสภาวะแห้งแล้งรุนแรงดังกล่าว

หากรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รู้จักนำข้อมูลที่มีอยู่จะเกิดประโยชน์ต่อการผลิตการเกษตรมากขึ้น หรืออย่างน้อยยังช่วยลดความเสียหายจากสภาวะวิกฤต ทั้งน้ำท่วมหรือฝนแล้งลง อันจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้ยากไร้ทั้งประเทศ