“เลี้ยงชันโรงในสวนผลไม้” ลงทุนไม่มาก สร้างกำไร 2 ต่อ

หากติดตามข่าวคราวการเกษตรในบ้านเรา จะเห็นได้ว่าไม่กี่ปีมานี้เกษตรกรในบ้านเราหลายพื้นที่นิยมเลี้ยง “ชันโรง” หรือผึ้งจิ๋ว กันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่ว่ามันเป็นตัวผสมเกสรดอกไม้ชั้นเยี่ยม อีกทั้งไม่ต้องลงทุนมาก แต่ได้ผลเกินคุ้ม โดยเฉพาะสวนผลไม้ที่มีเนื้อที่เยอะๆ หากนำชันโรงไปเลี้ยงจะทำให้ผลไม้ติดลูกจำนวนมาก ที่สำคัญเลี้ยงง่ายและไม่ต้องดูแลอะไรมาก อีกทั้งขายน้ำผึ้งได้ในราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป และยังนำไปแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามได้หลายอย่าง อาทิ สบู่ หรือโลชั่น

ใช้น้ำผึ้งทำสบู่

วันก่อน คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำทีมนักข่าวจากส่วนกลางไปสำรวจโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการส่งเสริมชาวประมง ตำบลชะแล้ จังหวัดสงขลา ให้เลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ชุมชนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อคืนสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน

คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ (ซ้ายสุด) ถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มชะแล้รักษ์ชันโรงฯ

คุณวุฒิชัย แจกแจงว่า ชันโรง เป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรคล้ายผึ้ง ซีพีเอฟ จึงได้ต่อยอดโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงชันโรง ให้เป็นอาชีพเสริมของคนในชุมชน โดยนำผู้สนใจไปดูงานเลี้ยงชันโรงที่พัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงชันโรงที่มีชื่อเสียงที่สุดของทางภาคใต้ เพื่อเผยแพร่ความรู้และทำผลิตภัณฑ์จากชันโรง เช่น น้ำผึ้ง สบู่ เป็นต้น

ปัจจุบัน มีชาวชุมชน 8 ครอบครัว ที่หันมาเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้และยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น มีรายได้เฉลี่ย 50,000-60,000 บาท ต่อปี ทั้งยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ เช่น น้ำผึ้ง และสบู่ โดย ซีพีเอฟ มีโครงการพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เลี้ยงชันโรง เพื่อให้ความรู้แก่คนในชุมชนที่สนใจสามารถนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพได้ อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง

แม้โครงการนี้จะเพิ่งส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงได้เพียงปีกว่า แต่ผลปรากฏว่าดีเกินคาด เพราะทำรายได้ให้กับคนในชุมชนเดือนละหลายพันบาท และตอนนี้ชาวบ้านก็สนใจจะเลี้ยงชันโรงเพิ่มขึ้นอีกหลายราย

ลองมาฟังคำบอกเล่าจาก คุณประเสริฐ พุทธทอง ประธานกลุ่มชะแล้รักษ์ชันโรงและผึ้งหลวง อำเภอ สิงหนคร จังหวัดสงขลา แล้วจะรู้ว่าชันโรงเป็นสัตว์ที่น่าเลี้ยงและมีอนาคตไกลทีเดียว

คุณประเสริฐ พุทธทอง

คุณประเสริฐ ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาคนในชุมชนชะแล้ทำอาชีพประมง และจะตีรังผึ้งหลวงในป่าชายเลนเพื่อนำน้ำผึ้งไปขาย แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามบุกรุกพื้นที่ป่า ก็ได้หันมาเลี้ยงชันโรง ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากทาง บริษัท ซีพีเอฟ โดยได้ไปศึกษาดูงานการเลี้ยงชันโรงที่จังหวัดพัทลุง และซื้อกล่องพันธุ์มาเลี้ยง จนตอนนี้มีชันโรงอยู่ 250 กล่อง และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มีกล่องรังแม่พันธุ์ 400 รัง เพื่อนำไปฝากตามบ้านต่างๆ ที่มีสวนผลไม้ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกสวนจะเลี้ยงชันโรงได้ ต้องดูด้วยว่าใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมีหรือเปล่า ถ้าใช้จะไม่สามารถเลี้ยงได้

แยกรัง ต้องมีไข่นางพญา

จากประสบการณ์ที่เลี้ยงกันมาปีกว่า ทำให้ตอนนี้สมาชิกของกลุ่มที่มีอยู่ด้วยกัน 8 คน สามารถแยกรังชันโรงได้แล้ว อย่างที่คุณประเสริฐอธิบายว่า ในช่วง 1 ปี จะแยกรังจาก 1 รัง เป็น 2 รัง โดยการแยกจะเปิดผ่ากลางกล่องแม่พันธุ์ตอนกลางคืน ซึ่งตัวแม่พันธุ์จะอยู่ครบ ในการแยกต้องดูความสมบูรณ์ของรังด้วย นั่นคือ ต้องมีไข่นางพญาติดไปในรังใหม่ด้วย เพราะอีก 14 วัน ต่อจากนี้ ไข่นางพญาจะฟักเป็นตัวใหม่ รังนั้นเป็นรังที่สมบูรณ์ทันที แต่ถ้ารังไหนที่ไม่มีนางพญา รังนั้นจะค่อยๆ สลายไป

หลายคนอาจสงสัยว่า การแยกรังไม่กลัวโดนต่อยหรืออย่างไร ประเด็นนี้คุณประเสริฐบอกว่า ชันโรงดีตรงที่ไม่มีเหล็กไน เวลาแยกรังทำได้ง่ายกว่าผึ้ง โดยนำกลิ่นเฉพาะรังมาทาที่ปากรังไว้ ชันโรงก็จะกลับไปหากลิ่น เหมือนใช้เรดาร์นำร่อง พอแยกแล้วต้องนำรังใหม่ไปไว้ให้ห่างจากรังเดิมไปอีก 1 กิโลเมตร ไม่เช่นนั้นชันโรงจะบินกลับไปหารังเก่า

หน้าตารังชันโรง

สำหรับระยะเวลาที่ชันโรงจะให้น้ำผึ้ง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารของชันโรงด้วย เช่น ดอกไม้ ถ้าเป็นช่วงที่ดอกเสม็ดบานเต็มๆ ไม่นานน้ำหวานก็จะเต็มรัง และจะมีรสหวาน แต่ถ้าเป็นฤดูมะม่วง หากนำรังกล่องชันโรงไปตั้งตามบ้านที่มีต้นมะม่วง มะขาม กระท้อน และมะนาว น้ำผึ้งอาจจะออกเปรี้ยวหน่อย ซึ่งชันโรงจะให้น้ำผึ้งน้อยกว่าผึ้งหลวงมากเพราะตัวเล็ก

ช่วงปีเศษของการเลี้ยงชันโรงอย่างเป็นจริงเป็นจัง ประธานกลุ่มชะแล้รักษ์ชันโรงฯ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ปีแรกมีปัญหาเพราะเพิ่งเริ่มเลี้ยง มีการลองผิดลองถูกกันไป จนรู้ว่าแบบไหนที่ไม่ควรทำ รวมทั้งวิธีการวางไข่ ถ้าวางพลาดไข่จะฝ่อ ต้องวางให้เป็นธรรมชาติที่สุด ย้ายมาแบบไหนต้องตั้งแบบนั้น บางทีย้ายมาแล้วกลับหัวก็ล่มทั้งรังเลย

“ช่วงย้ายรังตอนแรกๆ ได้ไข่เยอะ ดีใจ แต่จริงๆ แล้ว ไข่พวกนั้นไม่มีตัวนางพญาอยู่เลย ฝ่อหายไปหมดก็มี บางทีตั้งไว้ มีคอกวัว จุดควันไฟไล่ยุงให้วัวตอนกลางคืน ไม่รู้ว่าควันพวกนี้มารบกวนชันโรง อันนี้ก็พลาด ถ้ามีควันไปรบกวน ชันโรงจะบินหนี ทิ้งรังไปเลย และไข่พวกนี้ถ้าจะฟักต่อไปต้องมีนางพญาและตัวทหาร ถ้าไม่มีตัวทหารมีแต่ไข่เฉยๆ จะฝ่อ เพราะต้องมีแรงสั่นสะเทือนเพื่อให้ฟักเป็นตัว”

ผลิตกล่องแม่พันธุ์ไม่ทันขาย

ประธานกลุ่มชะแล้รักษ์ชันโรงฯ ให้ข้อมูลอีกว่า สิ่งที่ต้องระวังในการเลี้ยงชันโรงก็คือ มด จิ้งจก และกิ้งก่า ต้องป้องกันสัตว์พวกนี้ให้ดี ดังนั้น เมื่อนำกล่องไปตั้ง พอถึง 2 วัน ก็มาดูแลครั้งหนึ่ง และในพื้นที่รอบๆ ต้องระวังเรื่องยาฆ่าแมลงด้วย โดยต้องไปคุยกับคนที่ทำสวนที่นำกล่องชันโรงไปตั้งด้วย ไม่สามารถใช้ยาฆ่าแมลงได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีโครงการว่า ถ้าบ้านไหนที่ทางกลุ่มนำรังชันโรงไปฝากไว้ จะมีเมล็ดพันธุ์พวกบวบ ถั่ว ไปให้เป็นการตอบแทนน้ำใจให้เล็กๆ น้อย ๆ

ในการเลี้ยงเมื่อปี 2561 กลุ่มแยกกล่องชันโรงได้ 600 กล่อง ส่งขายกล่องละ 1,000 บาท ได้น้ำผึ้ง 38 ขวด ปริมาณขวดละ 750 มิลลิลิตร ขายขวดละ 1,500 บาท ส่วนรังแม้จะกินไม่ได้เหมือนรังผึ้ง แต่สามารถนำมาชันเรือและทางเหนือใช้ทำพระได้ด้วย

กล่องที่เลี้ยงชันโรงตั้งไว้ในสวน

หลังจากมีรายได้พิเศษจากการเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริมเดือนละหลายพันบาท ทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนสนใจจะมาเข้าร่วมเลี้ยงด้วย เพราะเห็นว่าไม่ต้องลงทุนมากและไม่ต้องดูแลเยอะ

นอกจากนี้ ยังมีคณะบุคคลจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดสงขลาเอง และที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งสั่งซื้อกล่องแม่พันธุ์ด้วย จนทางกลุ่มผลิตไม่ทันความต้องการของตลาด พร้อมกันนั้นทางกลุ่มยังนำน้ำผึ้งมาแปรรูปเป็นสบู่ด้วย

ช่วงหน้าฝนต้องให้อาหารเสริม

สำหรับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงชันโรงของชุมชนชะแล้ก็คือ คุณประวีณ เลิศอริยะพงษ์กุล         ผู้จัดการฝ่าย ซีเอสอาร์ ฟาร์มสัตว์น้ำภาคใต้ ซีพีเอฟ

หนุ่มใหญ่รายนี้ให้รายละเอียดว่า ทาง ซีพีเอฟ เข้ามาสำรวจในพื้นที่ เห็นว่ามีชันโรงจำนวนมาก แต่ชาวบ้านไม่ได้สนใจและไม่รู้ว่ามีประโยชน์อะไรบ้าง นอกเหนือจากการทำชันมาอุดเรือ ซึ่งหลังจากนำไปดูงานการเลี้ยงชันโรงที่จังหวัดพัทลุงก็เริ่มลงมือเลี้ยงเป็นเวลาปีกว่าแล้ว โดยทำเป็นรายได้เสริม อยู่ที่ครอบครัวละ 6,000 กว่าบาท ต่อปี ปี 2561 รายได้รวมทั้งกลุ่มอยู่ที่ 600,000-700,000 บาท เลยคิดจะขยายเครือข่าย ขยายไปตามหมู่บ้าน ตามสวน ตามไร่ ให้ครบทั้ง 5 หมู่บ้าน ตั้งเป้าอยู่ที่ไตรมาสแรก 150 รังก่อน ขึ้นกับว่าบ้านไหนเหมาะสมขนาดไหน เพราะต้องดูว่าบ้านละแวกนั้นใช้สารเคมีหรือไม่ เนื่องจาก

  1. ชันโรงไวต่อยาฆ่าแมลง
  2. ดูเรื่องอาหารว่ามีอาหารเพียงพอหรือไม่ เช่น มีทั้งปาล์ม กระท้อน มะม่วง
  3. เรื่องความปลอดภัย ต่อไปชันโรงมีโอกาสถูกขโมย เพราะมูลค่าจะเยอะมาก

ส่วนรังชันโรงที่ทางกลุ่มนำไปฝากไว้ที่บ้านต่างๆ จะมีเมล็ดพันธฺุ์พืชให้ไปด้วย และเมื่อเก็บเกี่ยวก็ให้ค่าฝาก รังละ 20 บาท ขณะที่เจ้าของสวนก็ช่วยดูแลด้วย ชันโรงเองก็ไปช่วยผสมเกสรมะพร้าวบ้านหลังนั้นด้วย เรียกว่าได้กันหมด ปีนี้จะขยายรังแม่พันธุ์เพิ่มอีก 400 รัง เป็นรังแม่พันธฺุ์ จากที่มีรังพ่อแม่พันธุ์อยู่ประมาณ 250 รัง

คุณประวีณ เลิศอริยะพงษ์กุล (ซ้ายสุด) ชี้ปากทางเข้ารังที่นำกลิ่นจากรังเดิมมาติดเพื่อให้ชันโรงกลับเข้ารัง

คุณประวีณ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับน้ำผึ้งชันโรงที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าน้ำผึ้งทั่วไปว่า ปกติเวลาผึ้งทั่วไปตอมดอกไม้ ผึ้งจะดูดน้ำหวาน 80% เอาเกสร 20% แต่ชันโรงจะเอาเกสร 80% ดูดน้ำหวาน 20% เพราะฉะนั้นพวกแร่ธาตุ วิตามิน จะอยู่ที่เกสรดอกไม้ที่ชันโรงเก็บไว้ที่รัง ในน้ำผึ้งชันโรงจึงมีคุณค่าและราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ผลิตได้น้อย เนื่องจากเป็นผึ้งตัวเล็ก

สำหรับการเลี้ยงชันโรงนั้น ปีหนึ่งทำได้แค่ 10 เดือน เพราะในภาคใต้ฝนตก เดือน 11 เดือน 12 ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องไปเริ่มกลางๆ เดือนกุมภาพันธ์ ถ้าเป็นช่วงหน้าฝน ต้องมีอาหารเสริมให้ด้วย คือน้ำผึ้งโพรง หรือน้ำผึ้งหลวงใส่ในถ้วยใส่ฝาไว้ประมาณครึ่งฝา ชันโรงจะมาตอมน้ำผึ้ง

น้ำผึ้งชันโรง

สาเหตุที่ต้องใช้อาหารเสริม เพราะฝนตกท้องฟ้าปิด ชันโรงบินออกไปไม่ได้ เพราะชันโรงต้องอาศัยแสงในการบิน  พอท้องฟ้าเปิด ชันโรงก็จะบินออกไป แล้วก็รีบกลับมา

อีกวิธีหนึ่งง่ายๆ คือ ปลูกดอกไม้ที่ให้น้ำหวานเยอะๆ ไว้ข้างๆ รัง เช่น ดอกทานตะวัน ดอกรักแรกพบ จริงๆ แล้วชันโรงเป็นผึ้งที่ไม่เลือกตอมดอกไม้ ในเกสรก็จะมีน้ำหวานอยู่ ช่วงหน้าฝนเกษตรกรจะไม่ไปยุ่งกับเรื่องน้ำผึ้งเลย และจะไม่แยกรังด้วย เพราะช่วงนั้นชันโรงอ่อนแอ ถ้าไปแยกรังจะไปออกหากินไม่ได้ นอกจากนี้ ความชื้นในอากาศเยอะ เสี่ยงต่อเชื้อรา จึงไม่ยุ่ง อีกอย่างช่วงเดือน 11-12 เป็นช่วงทำประมง คนในชุมชนชะแล้จะกลับไปทำอาชีพหลักคือประมง ต้องไปนอนเฝ้ายอกัน

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงชันโรงให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายแบบวิน-วิน เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้คงมีเกษตรกรสนใจเลี้ยงกันมากขึ้นแน่นอน เพราะเป็นสัตว์ที่สร้างรายได้ก้อนโตให้กับผู้เลี้ยงทั้งทางตรงและทางอ้อม

น้ำผึ้งชันโรงนำมาแปรรูปทำสบู่

 

เผยแพร่ครั้งแรกวันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354