แม่บ้านเมืองหมอแคน มีวิธีการทำงานร่วมกัน จนได้รางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่น 2562

ผลงาน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝาย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2522 สมาชิกแรกตั้ง17 คน สมาชิกปัจจุบัน 114 คน

ประธานกลุ่มคือ นางบุญสิน ราษฎร์เจริญ

ที่ทำการกลุ่ม ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 13/1 หมู่ที่ 2 บ้านหัวฝาย ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม

สมาชิกกลุ่มฯ ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม แต่รายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต เนื่องจากราคาผลผลิตตกต่ำและเกิดวิกฤติภัยแล้งทำนาไม่ได้ผลดี บางส่วนจึงอพยพแรงงานไปทำงานรับจ้างก่อสร้างที่กรุงเทพมหานคร จึงได้มีการรวมตัวกันและจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เพื่อต้องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับครอบครัวและชุมชน แรกเริ่มทำกิจกรรมทอผ้าไหมเป็นหลักเนื่องจากสมาชิกกลุ่มฯ มีภูมิปัญญาและมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทุกครัวเรือนโดยมีเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตร เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม ต่

อมา ในปี 2524 สมาชิกกลุ่มฯ รับฟังข่าวจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยว่า พระราชวังสวนจิตรลดา ให้ประชาชนผู้ที่สนใจไปขอรับเส้นไหมที่พระราชวังสวนจิตรลดา สมาชิกกลุ่มฯ จำนวน 5 คน จึงไปขอรับเส้นไหม และได้เส้นไหมมาคนละ 10 กิโลกรัม จากนั้นก็ทอเป็นผ้าผืนมามอบคืนให้โครงการส่วนพระองค์ฯ ตามเงื่อนไข ท่านผู้หญิง สุประภาดา เกษมสันต์ เกิดความประทับใจจึงได้รับซื้อทั้งหมด พร้อมกับให้เงินทุนเพื่อไปใช้ในการทอผ้า ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหม คนละ 15,000 บาท รวม 75,000 บาท จากนั้น กลุ่มฯ ได้ดำเนินกิจกรรมผลิตเส้นไหมดิบและทอผ้าไหมเป็นผืนส่งพระราชวังสวนจิตรลดา และ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกมูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ปัจจุบัน กลุ่มฯ ดำเนินกิจกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมครบวงจรด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับเทคโนโลยีและภูมิปัญญาสมัยใหม่ๆ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายต่างๆ ด้วยความประณีตวิจิตรบรรจง มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะลายแคนแก่นคูณ ลายผ้าไหมประจำจังหวัดขอนแก่น  อีกทั้งมีลายผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหัวฝายตั้งชื่อว่า “ลายหมี่น้ำพอง” และมีกิจกรรมต่างๆ อีก เช่น การสร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ และการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน เป็นต้น

กลุ่มฯ จัดแบ่งโครงสร้างหน้าที่การบริหารอย่างชัดเจน มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน มีการสืบทอดทายาทจากรุ่นไปสู่รุ่น มีการรวมหุ้นจากสมาชิกกลุ่มฯ เพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการทำกิจกรรม ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นอย่างดี จนสามารถยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่สมาชิกกลุ่มฯ ครัวเรือน และชุมชน ทั้งนี้ กลุ่มฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมจนประสบความสำเร็จ

ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน

  1. โครงสร้างการบริหารงานของกลุ่ม

– กลุ่มมีโครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม จำนวน 13 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีวาระ 2 ปี ประธานกลุ่มมีความเสียสละ อดทน มีทัศนคติที่ดี มีความเข้าใจในด้านการบริหาร มีแรงบันดาลแนวคิดในการพัฒนากลุ่มยึดมั่นในความดีและทำงานเพื่อชุมชนบริหารตามหลักธรรมมาธิบาล ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและสมาชิก

– มีคณะกรรมการกลุ่มย่อยที่บริหารกิจกรรมต่างๆ มีการแบ่งเป็นฝ่ายต่างๆ ฝ่ายการผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายช่าง นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานกิจกรรมย่อยต่างๆ เช่น กิจกรรมเลี้ยงไหมวัยอ่อน กิจกรรมผลิตเส้นไหมดิบ กิจกรรมทอผ้าไหม กิจกรรมออมทรัพย์ กิจกรรมเพาะเห็ด กิจกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไหม กิจกรรมปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ (กิจกรรมแปลงรวม) จำนวน 15 ไร่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่แตกต่างกัน และมีคณะกรรมการที่ปรึกษากลุ่ม มีระเบียบข้อบังคับกลุ่ม วัตถุประสงค์ชัดเจน และสามารถดำเนินกิจกรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างชัดเจน

  1. ความสามารถในการสื่อสาร ถ่ายทอด และขยายผล

– ส่งเสริมและจัดให้สมาชิกเข้ารับการอบรมจากภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดและพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพที่ได้มาตรฐาน

– สมาชิกได้เข้าอบรมเพิ่มความรู้ในเรื่องต่างๆ จะต้องกลับมาถ่ายทอดความรู้ต่อให้สมาชิก และนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน

  1. ระบบเอกสาร มีความโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ ได้แก่

– รายงานการประชุมกลุ่ม/ทะเบียนสมาชิก
– ระบบการเงิน-การบัญชี (ได้รับคำแนะนำจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น)
– ระบบการปฏิบัติงานของสมาชิกและกลุ่ม
– ระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม
– สมุดฝากเงินของสมาชิก
– ทะเบียนรายการวัตถุดิบ/พัสดุ

  1. การแบ่งผลประโยชน์จากกิจกรรมกลุ่ม ดังนี้

– สมทบกองทุน ร้อยละ 40
– ปันผลตามหุ้น ร้อยละ 20
– ค่าตอบแทนผู้ดูแลศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 20
– ตอบแทนคณะกรรมการ ร้อยละ 10
– สวัสดิการสมาชิกและสาธารณะประโยชน์ ร้อยละ 10

เยาวชนให้ความสนใจ

 

  1. การเจริญเติบโต และความมั่นคงทางฐานะการเงินของกลุ่มปัจจุบัน

– ทุนเรือนหุ้น 106,080 บาท
– เงินฝากออมทรัพย์ของกลุ่ม 81,944 บาท
– เงินทุนหมุนเวียน 1,410,910 บาท
– ทรัพย์สินทั้งหมด 1,106,200 บาท
– รายได้เฉลี่ยของสมาชิก 148,600 บาท/คน/ปี
– บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

สมาชิกกลุ่มฯ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกลุ่มอย่างแท้จริง โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ดังนี้

– ประชุมคณะกรรมการทุกเดือน เพื่อพัฒนาปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน

– ประชุมคณะกรรมการและสมาชิกกลุ่มฯ ทุกเดือน เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขปัญหาในการดำเนินงาน

– ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง เพื่อการวางแผนพัฒนากลุ่ม จ่ายเงินปันผล และเลือกตั้งคณะกรรมการ

– ประชุมวาระจร เพื่อแก้ไขปัญหาและตัดสินใจเร่งด่วน

– ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของแต่ละคน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันส่งผลให้มีบทบาทที่สำคัญในชุมชน

– ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

  1. การเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิก

ระยะเวลาจัดตั้งกลุ่ม 40 ปี มีการรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นอย่างทุกปี จากปี 2522 จำนวน 17 คน ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 114 คน หรือ 114 ครัวเรือน (จากทั้งหมด 227 ครัวเรือน) สมาชิกใหม่ที่มาสมัครร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของสมาชิกกลุ่มฯ และคนในชุมชนที่ไปรับจ้างทำงานในกรุงเทพฯ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงกลับมาทำงานที่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อดูแลครอบครัว และต้องการสร้างทายาทสืบทอดกิจกรรมกลุ่ม

  1. การดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดรายได้/ปี จำนวน 22,044,760 บาท ดังนี้

1) การเลี้ยงตัวไหม รายได้ 312,000 บาท/ปี

2) การผลิตและจำหน่ายเส้นไหมดิบ รายได้ 5,440,000 บาท/ปี

3) การทอและจำหน่ายผ้าไหม รายได้ 14,850,000 บาท/ปี

4) การออมทรัพย์ จำนวน 494,760 บาท

5) การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน รายได้ 140,000 บาท/ปี

6) การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไหม รายได้ 200,000 บาท/ปี

7)  การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ 15 ไร่ (แปลงรวม) รายได้ 608,000 บาท/ปี

จากการดำเนินกิจกรรมส่งผลให้สมาชิกกลุ่มฯ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนี้

– มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 148,600 บาท/ปี

– รายจ่ายลดลงเฉลี่ยครัวเรือนละ 27,400 บาท/ปี

– มีเงินออมเฉลี่ยครัวเรือนละ 7,980 บาท/ปี

  1. ความสามารถในการจัดหาทุนและการบริหารทุน

– กลุ่มมีประวัติทางการเงินที่ดี เป็นที่เชื่อถือของสถาบันการเงิน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้การสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อขยายกำลังการผลิตของชุมชน

– มีการระดมหุ้น และการออมเงินเป็นทุนสำหรับการดำเนินกิจกรรม

– การบริหารทุนผ่านมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกและข้อบังคับกลุ่ม

– ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้การสนับสนุนและร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มฯ ได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น ในส่วนของเรื่องงบประมาณจะช่วยตัวเองก่อนเสมอ ซึ่งต่อมาก็ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการ งบประมาณ และปัจจัยการผลิต จากส่วนราชการต่างๆ

  1. แผนการพัฒนากลุ่ม

– พัฒนาลายผ้าไหมมัดหมี่ ให้สมัยใหม่และรักษาลายดั้งเดิมเพื่อเพิ่มความหลากหลาย

– พัฒนาเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ เพื่อรองรับกิจกรรมหมู่บ้านท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี 2561

–  สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อการสืบทอดกิจกรรมกลุ่ม

  1. คุณภาพชีวิตของครอบครัวเกษตรกรและชุมชน

– มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน

– มีเวลาดูแลครอบครัวมากขึ้น

– สภาพบ้านเรือนจัดเป็นสัดส่วน น่าอยู่อาศัย

– เกิดความเข้มแข็งและสามัคคีในชุมชน

– ไม่มีปัญหายาเสพติดในชุมชน

– กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

– การเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้

– การใช้สถานที่ตั้งและดำเนินกิจกรรมกลุ่มเป็นแหล่งฝึกอบรม/ดูงาน และเป็นศูนย์กลางประสานงานให้ความช่วยเหลือในชุมชน

– ร่วมจัดงาน/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

– การผลิตและทอผ้าไหมจากสีธรรมชาติ ในการฟอกย้อมได้รับมาตรฐาน มผช.

– การปลูกผักและทำนาโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี

– ปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน/การสร้างป่าชุมชน

– การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเหมาะสมและมีการปลูกทดแทน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวฝายก่อตั้งมานาน มีสมาชิกถาวรและยั่งยืน มีผลงานรอบด้าน จึงได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นปี 2562 ไปครอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (087) 949-6413, (082) 102-5038