วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย เมืองกาญจน์ ก่อตั้งเพราะพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ พัฒนาจนได้กลุ่มดีเด่นแห่งชาติ

โรงสีข้าวของกลุ่ม

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย ตั้งอยู่เลขที่ 100 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จัดตั้งเมื่อ 19 มกราคม 2549

สมาชิกแรกตั้ง 53 คน สมาชิกปัจจุบัน 220 คน

มี นายแรม เชียงกา เป็นประธานกลุ่ม

เป็นศูนย์เรียนรู้

ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย ก่อเกิดจากเกษตรกรทำนาในพื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย ที่รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาจากการถูกกดราคาผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตมีราคาแพง ปัญหาจากโรคแมลงระบาด และปัญหาจากภัยธรรมชาติ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่ายเป็นศูนย์กลางในการประสานงานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างอำนาจ การต่อรองในการซื้อขายข้าวเปลือก การจัดหาปัจจัยการผลิตมาสนับสนุนสมาชิกและการประชาสัมพันธ์ เตือนภัยการระบาดโรคแมลงและพยากรณ์อากาศเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่ายยังเป็นจุดรวบรวมข้าวเปลือกของสมาชิก และของเกษตรกรในแหล่งใกล้เคียง โดยให้พ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือกมาประมูลราคาที่กลุ่ม เกิดความพึงพอใจ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นการลดภาระค่าขนส่งสินค้าของเกษตรกรไปจำหน่ายด้วย

ความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่ายได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงานกลุ่ม ดังนี้

ความพอประมาณ โดยการทำบัญชีครัวเรือน และลดรายจ่ายโดยสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถ ทำขึ้นใช้เองในครอบครัว รวมถึงปลูกผักปลอดสารพิษ ความมีเหตุผล มีนโยบายมุ่งบริหารจัดการและพัฒนากลุ่มด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิก และเน้นการขับเคลื่อนภารกิจความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมกันทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านกลุ่ม ชุมชน/สังคม และด้านการทำงาน

มีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยให้สมาชิกและเกษตรกรในชุมชนเป็นศูนย์กลางพัฒนาและแก้ปัญหาของชุมชน บ่มเพาะคณะกรรมการให้เป็นนักบริหารแบบมืออาชีพ และให้สมาชิกภายในกลุ่มมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ ทั้งด้านสังคม ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและธุรกิจ

เงื่อนไขความรู้ เน้นเผยแพร่และนำความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ที่เป็นภูมิปัญญาในด้านต่างๆ ของสมาชิกและชุมชน โดยเริ่มจากการพัฒนาผู้นำ และสมาชิกในชุมชนให้มีความตื่นตัว เกิดจิตสำนึกร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกิดความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหมู่บ้าน และมีกระบวนการสืบค้น เก็บรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสามารถสรุปและถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานเป็นเอกสารกระบวนการทำงานได้ โดยมีแนวทางและการดำเนินงาน ดังนี้

แปลงปลูกพืช

มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งไปสู่การพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

  1. กำหนดกฎ ระเบียบ ข้อตกลง ข้อบังคับอย่างชัดเจน
  2. มีแผนการดำเนินงานและกิจกรรมที่มีการประสานกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้หน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีแผนงาน งบประมาณส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนได้ต่อเนื่อง
  3. การดำเนินงานและกิจกรรมมีความเหมาะสม สอดคล้องกับเงื่อนไขชุมชน
  4. มีการระดมทุนจากสมาชิก และนำเงินทุน มาใช้ในแผนงานตามที่กำหนด
  5. มีการทำบัญชีเป็นปัจจุบัน และเปิดเผยข้อมูลให้ที่ประชุมทราบ โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 3 ปี
  6. มีการกำหนดบทบาทหน้าที่และมอบหมายงานตามความสามารถและความรู้ความถนัด
  7. ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานถูกต้องตามความต้องการของผู้บริโภค
  8. มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และนำมาประกอบการพิจารณาวางแผนการดำเนินงาน
  9. มีการเตรียมสืบทอดกิจการในอนาคต โดยให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการทุก 2 ปี เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำ

บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อสถาบัน

สมาชิกมีบทบาทและมีส่วนร่วม ดังนี้

  1. มีการประชุมคณะกรรมการทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน เพื่อร่วมกันวางแผน และตัดสินใจเรื่องการผลิต การตลาด การจัดหาสินค้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  2. สมาชิกมีบทบาทและส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ของกลุ่ม
  3. คณะกรรมการเข้าร่วมการประชุมตามกำหนดการประชุมของตำบล เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบข่าวสารความรู้ด้านการเกษตร และแจ้งความเคลื่อนไหวทางการเงินให้แก่สมาชิกภายในกลุ่มได้รับรู้ พร้อมทั้งรับฟังปัญหาต่างๆ ของสมาชิกเพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุง
  4. สมาชิกร่วมกันวางแผน บริหาร และตัดสินใจเรื่องการผลิต การตลาด การจัดหาสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว รวมถึงการทำกิจกรรมในด้านต่างๆ
  5. สมาชิกร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในการดำเนินกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนให้แก่ผู้สนใจทั่วไป

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย ได้รับการสนับสนุนความรู้และแหล่งเงินทุนจากมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และมีกิจกรรมในการดำเนินงานที่หลากหลายและมีความเชื่อมโยงกัน ดังนี้

  1. กิจกรรมหลัก ได้แก่ ตลาดกลางข้าวเปลือก จำหน่ายปัจจัยการผลิต จำหน่ายข้าวสาร
  2. กิจกรรมการรับ-ฝากถอนเงินของสมาชิก
  3. กิจกรรมเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิกวิสาหกิจชุมชน

3.1 กิจกรรมการเลี้ยงไส้เดือน โดยนำมูลสัตว์จากกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์มาเลี้ยงไส้เดือน

3.2 กิจกรรมการปลูกหญ้า (ลดพื้นที่ทำนา) โดยปลูกหญ้าแพงโกล่าเพื่อนำมาใช้เลี้ยงสัตว์

3.3 กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน ประกอบด้วย โฮมสเตย์ การทอผ้า การแปรรูป และการจักสาน

3.4 กิจกรรมการทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำฝุ่นละอองข้าวและแกลบมาเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยอินทรีย์

3.5 กิจกรรมทำน้ำพริกแกง โดยใช้วัตถุดิบภายในหมู่บ้าน

3.6 กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยนำฟางข้าวมาเป็นอาหารโค นำรำข้าวเป็นอาหารสัตว์ รวมถึงนำปลายข้าวมาเลี้ยงไก่

  1. การจัดให้มีสวัสดิการสมาชิก

4.1 สมาชิกจะได้รับรายได้จากการขายข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น เฉลี่ยตันละ 300 บาท

4.2 สมาชิกลดต้นทุนและค่าแรงโดยการเช่าเครื่องจักรของกลุ่ม อัตราไร่ละ 500 บาท

4.3  สมาชิกมีเงินออมโดยการออมเงิน และสามารถกู้ยืมเงินลงทุนได้โดยใช้ความดีเป็นเครื่องค้ำประกัน

  1. มีการเตรียมการสืบทอดกิจการในอนาคต โดยให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการทุก 2 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม

การทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการเสียสละเป็นธนาคารความดี สามารถนำไปค้ำประกันในการกู้เงินมาลงทุนได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น รณรงค์ไม่เผาตอซัง ลดการใช้สารเคมี มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน เป็นต้น

ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยนำสิ่งเจือปนจากการสีข้าวไปทำปุ๋ยอินทรีย์ แกลบดิบใช้ทำเชื้อเพลิงแกลบที่เผาแล้วนำไปผสมทำปุ๋ยอินทรีย์ (Zero Waste)

สมาชิกได้เข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดภัย GAP และข้าวอินทรีย์

สมาชิกลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในนาข้าว

สมาชิกมีการรวมกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

สมาชิกมีการรวมกลุ่มผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน

สมาชิกร่วมกันปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

บริหารจัดการขยะในครัวเรือน มีการคัดแยกขยะ นำกลับมารีไซเคิล เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม

ผลิตภัณฑ์

กลุ่มมีความร่วมมือและเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ ที่มีอยู่ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าร่วมกิจกรรมหรือทำประโยชน์ต่อสาธารณะหรือชุมชน เช่น การพัฒนาถนนในชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านในวันสำคัญต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น วันพ่อ วันแม่ และวันสำคัญอื่นๆ

ให้ทุนสนับสนุนโรงเรียนและโรงเรียนนำเด็กนักเรียนมาเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตชาวนา มีพระในวัดท้องถิ่นเป็นที่ปรึกษาในการบริหารงาน จัดสวัสดิการชุมชน โดยให้การสนับสนุนสวัสดิการสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สนับสนุนบุตรแรกเกิดของสมาชิก สนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตรของสมาชิก เงินช่วยเหลือสมาชิกเจ็บป่วย เงินผู้สูงอายุ เป็นต้น

จากผลงานที่แนะนำมา ทำให้กลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย ได้รับคัดเลือกให้เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดีเด่นประจำปี 2562

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (089) 830-7688