ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | ณุพัฒน์ ทนยิ้ม |
เผยแพร่ |
“ทำนา ทำเท่าไรก็มีแต่ขาดทุน” นี่คือ คำพูดของชายผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ คุณสุขุม พยาเครือ หรือ คุณจ่อย คุณจ่อยเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมตนเองนั้นเริ่มอาชีพการเกษตรโดยการทำนา ในพื้นที่ 15 ไร่ ณ ตำบลรางสารี่ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ช่วงชีวิตของการทำนานั้น มักจะขาดทุน สาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับราคาข้าวที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำเท่าใดก็มีแต่หนี้สิน บวก ลบ คูณ หารแล้ว แทบไม่เหลือกำไรให้ใช้จ่ายในครอบครัว ด้วยความท้อแท้และสิ้นหวัง ตนและภรรยาจึงตัดสินใจเลิกทำนา พร้อมกับเดินหน้าตามหาฝันของตนเอง ในการเป็นเจ้าของสวนผลไม้เล็กๆ สักแห่ง
หลังจากที่ครุ่นคิดอยู่นานในการหาพื้นที่เล็กๆ สักผืน เพื่อทำสวนผลไม้ ไม่นานชายผู้นี้เขาก็ได้เจอ พื้นที่แห่งนี้มีขนาด 5 ไร่ ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากตัวอำเภอลึกเข้าไปประมาณ 50 กิโลเมตร ด้วยระยะทางที่ลำบากและสลับซับซ้อนประกอบกับต้องข้ามลำห้วย ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง เราจึงมาถึงสวนของคุณจ่อย
คุณสุขุม พยาเครือ หรือ คุณจ่อย เล่าว่า อุปนิสัยของตนนั้นเป็นคนรักธรรมชาติและชอบอยู่กับป่า ตนเองจึงเกิดแนวคิดปลูกผลไม้ให้มีสภาพคล้ายคลึงกับป่า เริ่มแรกในปี พ.ศ. 2555 จึงปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 100 ต้น พันธุ์หลินลับแล 1 ต้น พันธุ์หลงลับแล 1 ต้น พันธุ์พวงมณี 2 ต้น นอกจากนี้ ยังมีเงาะ มังคุด และส้มโอ แซมอยู่ในสวนอีกด้วย
เมื่อถามถึงเทคนิคในการจัดการดูแลสวนนั้น คุณจ่อย เล่าว่า ด้วยสภาพพื้นที่สวนของตนนั้น มีสภาพลาดเอียง จึงไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง อันเป็นสาเหตุของรากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โดยสวนของตนจะใช้ระยะปลูก 7×7 เมตร หลุมปลูก ขนาด 1×1 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร ก่อนปลูกจะรองก้นหลุมด้วยมูลสัตว์ ส่วนการพรางแสงนั้น ตนเองจะปลูกกล้วยหักมุกแซมระหว่างต้นทุเรียน
การใส่ปุ๋ย
ปีที่ 1 จะใส่ปุ๋ยคอกครึ่งกระสอบ จำนวน 2 ครั้ง
ปีที่ 2 จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของต้น
ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 เพื่อเร่งการติดดอก
ปุ๋ยเคมี สูตร 15-0-0 และ 15-15-15 เพื่อบำรุงลำต้น และทำให้ขั้วทุเรียนเหนียว
การให้น้ำ
–ภายในสวนจะวางระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์
การป้องกันกำจัดแมลง
คุณจ่อย กล่าวสั้นๆ ว่า สวนของตนจะไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลง เพราะเมื่อใช้สารเคมีแล้วจะไม่มีแมลงมาผสมเกสรดอกทุเรียน ทำให้ทุเรียนไม่ติดผล ซึ่งตนจะใช้วิธีการให้แมลงผสมเกสรดอกทุเรียนตามธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีต้นที่เริ่มติดดอกบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจอยากลองลิ้มชิมรสทุเรียนที่ให้ผลผลิต ว่าจะ “หวาน หอม มัน” เพียงใด สวนแห่งนี้จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณสิ้นเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยสามารถมาเลือกตัดเองที่สวนได้ สนนราคาไม่แพง เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เบอร์โทรศัพท์คุณจ่อย (092) 706-5895 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอไทรโยค (034) 591-022
โดยเจ้าของสวนกระซิบบอกว่า ใครที่มาสวนของตนนอกจากได้ความอิ่มกลับไปแล้ว ยังได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ซึ่งใครที่หลงใหลในธรรมชาติ ตนเองมีที่พักในสวนให้ จำนวน 1 หลัง โดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวคือ ขอให้มีใจรักธรรมชาติ เพราะสวนของตนไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีเพียงผืนป่า ลำน้ำ และขุนเขา ธรรมชาติอันสวยงาม ณ ไทรโยค กาญจนบุรี
………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2562