ที่มา | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ราคายางไทยใกล้แตะ กก.ละ 100 บาท เหตุสต๊อกขาด-จีนกว้านซื้อผลิตยางล้อรถยนต์ส่งสหรัฐ หนี “ทรัมป์” รีดภาษีเพิ่ม 10% ราคาล่าสุดแผ่นรมควันชั้น 3 จ่อทะลุ 86 บาท/กก. หลังน้ำท่วมใต้ ตลาดยางภาคอีสาน-เหนือสุดคึกคัก พ่อค้าแห่ตุนเก็งกำไร ขณะที่ผู้ซื้อรายใหญ่เล่นเกมฉวยโอกาสกดราคาซื้อจากชาวสวน
นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางกระบี่และที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ 12 จังหวัดภาคใต้ว่า น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ครั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางพาราประสบปัญหาหนักมาก เหตุน้ำท่วมครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้นที่จะท่วมนานแค่ 2-3 วันเท่านั้น
สำหรับตัวเลขของทางการที่รายงานว่าชาวสวนยางได้รับความเสียหาย 7 หมื่นครอบครัวนั้น เท่าที่หารือกันในเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนครอบครัวอย่างแน่นอน หากประเมินขั้นต่ำที่ครอบครัวละ 10 ไร่จะเสียหายถึง 1 ล้านไร่ มากกว่าตัวเลขทางการที่รายงานเสียหายประมาณ 5.5 แสนไร่ถึง 1 เท่าตัว ในขณะที่สวนปาล์ม ร้านค้า บ้านเรือนก็ได้รับความเสียหายมากเช่นกัน สวนปาล์มที่ถูกน้ำท่วมอาจอยู่ได้ 3 เดือน แต่สวนยางถ้าเกิดน้ำท่วมระลอกสาม และถ้าท่วมนาน 1 เดือน เพราะท่วมตั้งแต่ปลายปี 2559 ต้นยางอาจทิ้งใบทั้งหมด ถ้าไปกรีดยางจะทำให้ต้นตายได้
ผลผลิตลด ราคาพุ่งโลละ 100
ในส่วนราคายาง มีโอกาสสูงที่จะพุ่งขึ้นถึง กก.ละ 100 บาท จากราคาล่าสุดวันที่ 12 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ประมูลที่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จ.สงขลา กก.ละ 85 บาทเศษ เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกมีสูงมาก แต่เมื่อไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านไทยประสบภัยธรรมชาติ คาดว่าผลผลิตยางของไทยปี 2560 นี้จะลดลงประมาณ 5-7 แสนตัน/ปี เหลือประมาณ 3.5-3.7 ล้านตัน/ปี เพราะไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ประสบปัญหาหนักมาก
รวมทั้งสวนยางพาราขนาดใหญ่ในภาคใต้ 50-70% ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากช่วงราคายางเหลือ กก.ละ 30 บาทเศษ แรงงานกรีดยางที่มีฝีมือมีรายได้ไม่ถึงวันละ 300 บาท จึงย้ายไปทำงานประเภทอื่นแทน
ชี้จีนเร่งผลิตล้อยางส่งสหรัฐ
นอกจากนั้นประเทศผู้ซื้อรายใหญ่คือจีนมีความต้องการยางสูงมากเพราะต้องเร่งผลิตยางล้อรถยนต์ส่งเข้าสหรัฐอเมริกาเพราะกลัวนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะเก็บภาษีนำเข้า 10% ตามที่หาเสียงไว้ และก่อนหน้านั้นจีนชะล่าใจ จะมาซื้อยางไทยในเดือน ธ.ค. 2559-ก.พ. 2560 ที่ผลผลิตยางออกมากไปผลิตและทดแทนสต๊อกที่ลดลงไปมาก แต่เมื่อไทยและประเทศผู้ปลูกยางในอาเซียนประสบภัยน้ำท่วม จึงเกิดปัญหาและไล่ราคาซื้อยางสูงขึ้น
แม้แต่ตลาดโตคอม ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าของญี่ปุ่นราคาซื้อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นถึง 10 เยน/กก.ภายในวันเดียว ซึ่งไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ตาม ราคาที่พุ่งสูงในช่วงนี้ ชาวสวนยางไทยอย่าแห่ปลูกกันอีก เพราะราคาที่ขึ้นแรง เวลาลงอาจลงแรงได้เช่นกัน
ด้านนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ส่งผลให้พื้นที่สวนยางได้รับความเสียหายประมาณ 700,000 ไร่ และเกษตรกรไม่สามารถออกไปกรีดยางได้นั้นทำให้ผลผลิตยางพาราหายจากตลาดประมาณ 8% ในขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ราคายางจึงปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้อยากให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับเกษตรกรเป็นหลักเนื่องจากเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
ดังนั้นหลังน้ำลดนี้ต้องเร่งฟื้นฟูสวนยางกันใหม่หมดส่วนยางในสต๊อก300,000 ตันที่จะเปิดประมูลขายในวันที่ 17-18 มกราคมนี้ถือว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง เนื่องอยู่กันคนละตลาด ราคาจะต่างกันอยู่แล้วระหว่างยางเก่ากับยางใหม่ โดยศาลก็พิจารณาแล้วน่าจะเข้าใจกันร่วมกันดีแล้ว ยางเก่านี้ต้องใช้เทคนิคการปรับสภาพอีกมากก่อนนำไปใช้ ในขณะที่ยาง 300,000 ตันเป็นปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดยางของโลกที่มีปีละ 12-13 ล้านตัน อีกทั้ง กยท.ใช้วิธีระบายครั้งละลอตปริมาณไม่มากเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้นจึงคาดว่าการระบายยางครั้งนี้จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
พ่อค้าอีสานเล่นเกมกดราคาซื้อ
ขณะที่พ่อค้ายางในภาคอีสานเปิดเผยว่าสถานการณ์ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก เนื่องจากผลผลิตยางจะลดลงในช่วงฤดูแล้งนี้ สวนยางพาราในภาคอีสานบางแห่งเริ่มที่จะปิดกรีดเพราะใบร่วงแล้ว แต่หากสภาพอากาศยังคงหนาวเย็นก็ยังสามารถเปิดกรีดได้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่จำหน่ายเป็นยางก้อนถ้วย รวมทั้งปัจจัยปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ทำให้สวนยางเสียหายและกรีดไม่ได้มาหลายเดือนทำให้ยางหายไปจากตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในช่วงนี้แม้ราคาประมูลยางพาราในตลาดกลางหาดใหญ่จะมีราคาดีมากเช่น ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 85 บาทเศษ/กก. แต่ผู้ซื้อรายใหญ่ในภาคอีสานที่มีอยู่ประมาณ 4 รายก็เสนอราคารับซื้อจากเกษตรกรต่ำกว่าราคาในตลาดกลาง 1-2 บาท/กก. หากต้องการได้ราคาที่สูงกว่านี้ก็ต้องขนยางไปขายที่ภาคใต้เอง ซึ่งตอนนี้ยางจากภาคอีสานไม่สามารถขนส่งไปขายที่ภาคใต้ได้หลังเกิดอุทกภัยใหญ่กว่า 10 วันแล้ว
ยางส่งออกทะลุ 92 บาท/กก.
ขณะเดียวกันบรรยากาศการซื้อขายยางในภาคอีสานและภาคเหนือก็มีความคึกคักมาก โดยมีพ่อค้ารายย่อยหน้าใหม่ ๆ ได้ตระเวนแย่งซื้อยางไปตุนเพื่อเก็งกำไรไว้ขายต่อในช่วงยางขาขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาอาจทะลุถึง100บาท/กก.ในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ ส่วนผลผลิตยางในมือเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรก็มีจำนวนไม่มาก เพราะต้องนำออกมาขายหารายได้มาจุนเจือครอบครัว จึงไม่สามารถเก็บสต๊อกยางไว้ได้ สุดท้ายยางก็จะตกไปอยู่ในมือพ่อค้าในช่วงราคาดี แต่ช่วงนี้ก็ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางยิ้มได้ เพราะมีกำลังซื้อที่ดีขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพาราอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 ยางแผ่นดิบ 81.91 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 85.99 บาท/กก. ราคา FOB ทะลุ 92.20 บาท/กก. ส่วนราคาท้องถิ่นยางแผ่นดิบ 78.20 บาท/กก. น้ำยางสด ณ โรงงาน 73.00 บาท/กก.
กยท. ห่วงจมน้ำเจอใบร่วง
ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินเบื้องต้นสวนยางน่าจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 7-8 แสนไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดทั่วประเทศ 11 ล้านไร่ เพราะจะเสียหายเฉพาะที่ราบที่น้ำท่วมถึง ที่น่าห่วงคือสวนยางที่ถูกน้ำท่วมนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไปจะได้รับผลกระทบ เกิดใบร่วงหรือมีการผลัดใบก่อนฤดูกาลตามธรรมชาติ อาจต้องใช้เวลา 2-3 เดือนฟื้นฟู จะส่งผลให้ผลผลิตยางปีนี้มีลดน้อยลง
ด้านสถานการณ์ราคายาง ชี้ไม่ได้ชัดเจนว่าจะขยับขึ้นถึง 100 บาท/กก.เหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์หรือไม่ แต่แนวโน้มราคามีโอกาสขยับขึ้นอีก จากปัจจัยน้ำท่วม ผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกเวลานี้มีเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายางในตลาดกลางยางพาราปรับขึ้นตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เปิดทำการหลังเทศกาลปีใหม่ โดยขยับขึ้นต่อเนื่องวันละ 1-2 บาทหลายวันติดต่อกัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์